จีสด้าเผยภาพ 3 มิติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ระบุอาจช่วยหาช่องทางเข้าเพิ่มได้
แบบจำลองวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จิสด้า เผย “ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงที่ผ่านกระบวนการภาพ 3 มิติ” ระบุ สามารถมองเห็นวัตถุที่มีขนาด 50 x 50 เซนติเมตรได้ ยันเป็นแค่ตัวช่วยภารกิจสำรวจเท่านั้น ต้องพึ่งการสำรวจภาคพื้นอีกทาง
วันที่ 28 มิถุนายน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เปิดเผย “ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงที่ผ่านกระบวนการภาพ 3 มิติ” ซึ่งให้ความละเอียดจนสามารถมองเห็นวัตถุที่มีขนาด 50 x 50 เซนติเมตรได้ โดยภาพถ่ายดาวเทียมนี้ เป็นแบบจำลองของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลของภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง มาประมวลผลรวมกับข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ข้อมูลชั้นความสูงของพื้นที่ และข้อมูลด้านภูมิศาตร์สารสนเทศ จากนั้นนำมาแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติที่สามารถเห็นมุมมองได้รอบ เพื่อช่วยให้ข้อมูลในภาพรวมของพื้นที่นั้นๆ มากขึ้น
นางศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การนำภาพนี้ไปใช้งานจริงจะมีสองลักษณะ หนึ่งคือการพรินต์แผนที่ออกมาในหลายมุมมอง เพื่อนำไปใช้งานในพื้นที่จริงซึ่งอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ยาก สองนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นแบบจำลองที่สามารถหมุนดูได้รอบ เพื่อใช้ในการประเมินหาจุดที่ต้องการสำรวจ
“กองบัญชาการสามารถซูมดูได้ว่า จะหาช่องทางเข้าถ้ำเพิ่มบริเวณจุดไหน” นางศิริลักษณ์ยกตัวอย่างว่า ภาพ 3 มิตินี้จะมีส่วนช่วยในภารกิจค้นหา 13 ชีวิตที่ยังคงติดอยู่ในถ้ำได้อย่างไร และว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งคือทางจิสด้าเองไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ แต่ใช้การวิเคราะห์รวบรวม ดังนั้นแล้วข้อมูลนี้จึงเป็นตัวช่วยในภารกิจสำรวจเท่านั้น ด้วยความที่พื้นที่เป็นป่าทึบ ดังนั้นยังคงต้องพึ่งพาการสำรวจภาคพื้นเป็นหลัก เหมือนมองภาพรวม แล้วประเมินว่าจุดนี้ หรือจุดนี้น่าจะเข้าได้
ทั้งนี้ภาพถ่ายดาวเทียมของงวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่ยังคงนำมาใช้งานได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะนี้อยู่ในฤดูฝน มีเมฆมากจึงไม่สามารถถ่ายภาพของ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จากถ่ายดาวเทียมใหม่ได้