ลุ้นมติ สธ. ประกาศ "ไซบูทรามีน" เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1
กพย.ลุ้นมติคณะกก.วัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ บ่ายนี้ ออกประกาศไซบูทรามีน เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 หวังให้มีบทลงโทษทางกฎหมายแรง "แพทย์- เภสัช" รวบรวมข้อมูลพบผสมในอาหารเสริมเกลื่อน ต้นเหตุอาการทางจิตเวช หัวใจวายเฉียบพลัน จี้หน่วยงานกำกับดูแล มิใช่เพียงประกาศ ผลิตภัณฑ์ไหนอันตราย แล้วจบไป
วันที่ 28 มิถุนายน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แถลงข่าว "ไซบูทรามีน: อันตราย สถานะทางกฎหมาย และการลักลอบนำเข้า" ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain ชั้น 1 อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ไซบูทรามีน วันนี้ยังมีสถานะเป็นยา อย.ยังไม่ได้มีการเพิกถอนตำรับยา ขณะที่คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท วันที่ 28 มิถุนายน จะมีมติเกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องจัดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1
"สถานการณ์การปลอมปนไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างสรรพคุณลดความอ้วน ปัจจุบันถึงขั้นพบผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 10 ราย ในรอบ 6 ปี เพีงแต่ครึ่งปี 2561 มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย "
ขณะที่ ภก.วสันต์ มีคุณ โรงพยาบาลวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และผู้แทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนไซบูทรามีนในพื้นที่ว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ป่วยถึง 4 ราย เจอทั้งที่ซื้อมาจากร้านขายของชำ และตลาดออนไลน์
"ผลกระทบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนไซบูทรามีน พบช่วงอายุ 20-29 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงถึง 91% ที่เหลือเป็นเพศชาย โดยอาการที่พบ 59% อาการแสดงทางระบบประสาท เช่น หลอน เหม่อลอย และซึมเศร้า 41% อาการแสดงทางระบบบหัวใจ เช่น เหนื่อย ใจสั่น เป็นต้น"
ด้านนางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงการสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถลดน้ำหนัก 16 ยี่ห้อ ขายห้างออนไลน์ 8 แห่ง ที่ผ่านมามีการแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า ล่าสุดก็ยังพบ ผลิตภัณฑ์ลีน ซันคราล่า Double Maxx 7Days 7D แมงลัก และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบอันตรายยังมีขายอยู่
พร้อมกันนี้ นางสาวสถาพร ยังตั้งข้อสังเกตุ บางผลิตภัณฑ์วันนี้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขายบนออนไลน์ เช่น Lean ลีน ลีแอน ซึ่งมีความคล้ายกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ LYN ที่ถูกตรวจจับไปก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก
"วันนี้หน่วยงานกำกับดูแล มิใช่เพียงประกาศ ผลิตภัณฑ์ไหนอันตราย แล้วจบไป เพราะร้านค้าออนไลน์ยังไม่มีความรับผิดชอบ ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายและอันตรายเกลื่อน"
ส่วนภก.จัตุพล กันทะมูล โรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง กล่าวถึงการเฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ระหว่างปี 2559-2561 พบผู้ป่วย 64 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุต่ำสุด18 ปีทำงานในโรงงาน อายุมากสุดอายุ 60 ปี รวมถึงยังพบพระภิกษุ มารพ.เพราะมีผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักด้วย
ภก.จัตุพล กล่าวอีกว่า บางกรณี แม่ขาย ลูกกิน สุดท้ายมีอาการคลุ้มคลั่ง และยังพบ บางรายคิดว่าตัวเองอ้วนกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน สุดท้ายตั้งครรภ์ และแท้งลูกในที่สุด
สำหรับผลทางเภสัชวิทยาของไซบูทรามีนนั้น อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงสาเหตุที่ทำไมคนชอบใช้กัน เพราะได้ผลดีในช่วง 6 เดือนแรกหลังใช้ยา แต่หลังจากนั้นยาไม่สามารถลดน้ำหนักได้
"ฤทธิ์ของไซบูทรามีน ผ่านไป 6 เดือน ต่อให้ใช้ยาต่อไป อย่างมากน้ำหนักคงที่ ไม่ได้ลดลง แต่กลับมีอาการข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ ปากแห้ง ท้องผูก ที่สำคัญเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีโอกาสเสียชีวิตได้"
อ.ภก.ถนอมพงษ์ กล่าวต่อว่า ไซบูทรามีน ไม่แนะนำให้ใช้ยากับเด็กและวัยรุ่น แต่จากข้อมูลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปนไซบูทรามีนในหลายพื้นที่ที่พบ ส่วนใหญ่คนที่ตกเป็นเหยื่อมากสุด คือคนกลุ่มนี้
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงพิษวิทยาของไซบูทรามีน และรายงานการเกิดปัญหาที่มายังศูนย์พิษวิทยา ระหว่างปี 2558-2560 มีคำขอปรึกษาจากสถานีบริการสุขภาพมายังศูนย์พิษวิทยาถึงอันตรายจากยาลดความอ้วน จำนวน 244 รายได้รับการยืนยัน พบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ถึง 34 ราย เป็นอย่างน้อย และมีบางรายไม่สามารถตรวจหาสารไซบูทรามีนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบมากกว่านี้
"แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตดูไม่สูงนัก แต่กรณีเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตใส่ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่บอกผู้บริโภค"
สุดท้ายภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมาย กับการจัดการไซบูทรามีน ซึ่งในพื้นที่รับรู้กับมาหลายปี วันนี้น่าเป็นห่วง การจัดส่งสินค้าการซื้อขายทำได้ง่าย โดยเฉพาะห่วงการขายยาควบคุมพิเศษ ในร้านขายยา มีโอกาสรั่วไหล
"กฎหมายให้รายงานการผลิต สารเคมี แต่การตรวจพบ กลับไม่พบความผิดปกติ จึงตั้งข้อสังเกตุ ทำไมตรวจไม่เจอ ไซบูทรามีนมาจากไหน หากเรายังแก้ตรงนี้ไม่ได้ เราก็ยังพบไซบูทรามีนผสมในผลิตภัณฑ์ในอาหารเสริม วันนี้จับสูตรนี้ พรุ่งนี้สูตรใหม่โผล่ออกมาเลย"
ภก.จิระ ยังกล่าวทิ้งท้ายแสดงความเป็นห่วงปัญหาข้อกฎหมาย และการเอาผิด การลงโทษ หรือตั้งข้อหา กรณีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นอันตราย ซึ่งมีผู้ขายรายเล็กรายน้อยเต็มไปหมด อีกทั้งขายในรูปแบบขายตรง มีหน้าร้านบ้าง ไม่มีหน้าร้านบ้าง ถามว่า ข้อกฎหมาย การดำเนินคดีกับการขายของออนไลน์จะทำได้อย่างไร
"หากไซบูทรามีน ถูกประกาศให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 บทลงโทษจะแรงกว่า ระบบควบคุมจะเข้มงวด ทั้งเรื่องการผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย ซึ้งต้องรอลุ้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ออกมา"