ปลดล็อค ‘ห้องกักกัน’ ไม่ใช่ที่อยู่สำหรับ ‘เด็กผู้ลี้ภัย’
เปิดงานวิจัย ‘อนาคตเด็กผู้ลี้ภัย’ พบพักพิงในกรุงเทพฯ สูงถึง 2 พันคน จำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ถูกแยกกักรวมกับผู้ใหญ่ หลายคนถูกละเมิดทางเพศ ขณะที่มาตรการทางเลือกไทยยังชะงัก หลังพบปัญหาการประสานงาน หาครอบครัวอุปถัมภ์ยาก
ประชากรผู้ลี้ภัยยังคงเป็นปัญหาที่หลายประเทศต้องเผชิญ โดยข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees :UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้ลี้ภัยทั่วโลกทั้งสิ้น 22.5 ล้านคน 51% เป็นเด็ก และกว่า 60% พักพิงอยู่ในเขตเมือง ขณะที่ในปี 2559 พบ 81% พักพิงอยู่ในเขตประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีจำนวนสูงมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ที่มีเพียง 16%
อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรผู้ลี้ภัยในเมืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอน เพราะส่วนหนึ่งได้ใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่กล้ารายงานตัวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังต้องผจญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ และถูกคุมขังอย่างไม่มีกำหนด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children) เปิดเผยข้อมูลงานศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ เรื่อง “อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย:บริการทางการศึกษาและการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยในพื้นที่เมืองของอินโดนีเซียและประเทศไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยหากลงรายละเอียดเฉพาะประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 จะพบข้อมูลสถานการณ์ว่า ในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีผู้ลี้ภัยพักพิงอยู่ราว 6,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กสูงถึง 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดย 55% เป็นคนปากีสถาน 10% เวียดนาม 6% ปาเลสไตน์ และที่เหลืออีกกว่า 30% จากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เดินทางมาพักพิงในประเทศไทยเพื่อรอโอกาสไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะที่ผ่านมาข้อมูลระบุว่า มีผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้เพียง 5.5% จากจำนวนผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด
อะไรคือสาเหตุทำให้คนเลือกมาพักพิงในประเทศไทย
เนื่องจากประชากรผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะที่มาจากลุ่มแม่น้ำโขง เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นประเทศใกล้ที่สุด และมีสำนักงานของ UNHCR ตั้งอยู่ ทำให้สามารถขอสิทธิสถานะผู้ลี้ภัยได้ นอกจากนี้คนมักเข้าใจผิดคิดว่า การที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ และไม่มีนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัย น่าจะได้รับโอกาสให้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามโดยอัตโนมัติ ซึ่งล้วนอยากไปประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย
อีกทั้ง ประชากรผู้ลี้ภัยเคยได้รับการบอกเล่าจากคนรู้จักที่เคยอพยพมายังประเทศไทย จนได้รับโอกาสไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งจากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาลี้ภัยเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นสูงขึ้น 75%
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขา ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเผชิญกับการถูกปฎิเสธในการเข้าถึงหลักสิทธิมนุษชนขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การบริการสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายรับรอง นั่นจึงทำให้กลายเป็น ‘คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย’
จากการวิจัยยังระบุว่า โดยทั่วไป การคุ้มครองสิทธิเด็กลี้ภัยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี ทั้งในกลุ่มผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือหรือแม้แต่ตัวประชากรผู้ลี้ภัยเอง
ในกรุงเทพฯ พบเด็กลี้ภัยเดินทางโดยไม่มีพ่อแม่ ประมาณ 30 คน และจะมี 1 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกัน สาเหตุเป็นเช่นนี้เพราะ พ่อแม่ถูกจับกุม ทางออกสุดท้าย พวกเขาจึงต้องถูกส่งตัวไปยังบ้านพักต่าง ๆ
โดยเด็กที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันนั้น แน่นอนว่า มักเข้าไม่ถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น เด็กผู้ชายที่มีรูปร่างค่อนข้างโต จะถูกแยกไปอยู่กับผู้ต้องกักชายอื่นกว่า 100 คน โดยไม่มีพ่อกับแม่ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มักจะถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศบ่อยครั้ง และไม่กล้ารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง รวมถึงการจัดอาหารที่ไม่เพียงพอ มีสภาพห้องคับแคบ เข้าไม่ถึงการศึกษา ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นตามประสาเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กลี้ภัย
แล้วจะมีมาตรการทางเลือกใดใช้แทนการควบคุมเด็กผู้ลี้ภัย
ข้อค้นพบเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยยอมรับว่าเด็กไม่ควรถูกกักขัง แต่จากการศึกษาขององค์การช่วยเหลือเด็กและเครือข่ายผู้ลี้ภัยในเอเชียแปซิฟิก ปี 2560 พบกรณีที่พ่อแม่ถูกคุมขัง จะมีกลไกส่งเด็กเล็กไปยังสถานพักพิงชั่วคราวของรัฐบาลที่ดำเนินการโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือเด็กควรได้รับโอกาสอยู่กับญาติหรือเพื่อนนอกสถานกักกัน แต่สิ่งที่พบ คือ สุดท้ายเด็กลี้ภัยมักถูกกักขังรวมกับพ่อแม่
ด้วยเหตุนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม จึงรวมมือกันพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน เพื่อปล่อยตัวเด็กจากสถานกักกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าในระดับหนึ่ง โดยในปี 2560 มีเด็ก 9 คน ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูในประเทศไทย
สุดท้าย มาตรการดังกล่าวกลับหยุดชะงักด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการประสานงานที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ต่างแสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวมีความซับซ้อน รวมถึงความยากในการการหาครอบครัวอุปถัมถ์ เพราะทางการไทยระบุว่า จะต้องอยู่กับครอบครัวที่มีวีซ่าถูกต้อง เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา
ส่วนการหาครอบครัวไทยทำได้ยาก นั่นจึงทำให้ปัจจุบันครอบครัวอุปถัมถ์ที่มีอยู่ตอนนี้ทั้งหมดจึงเป็นครอบครัวคนต่างชาติที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยจากแถบอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และยุโรป
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับเห็นว่า “การนำเด็กออกมาจากสถานกักกันเพื่อมาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะเด็กทุกคนมีรากเหง้า จะลืมพ่อแม่ได้ ดังนั้นในมุมมองยืนยันว่า เด็กต้องอยู่กับครอบครัวเท่านั้น”
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเร่งหามาตรการทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้พวกเขา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประชากรผู้ลี้ภัยเข้าถึงหลักสิทธิมนุษชนขั้นพื้นฐาน ในยามเข้ามาพักพิงในประเทศไทย เพื่อจะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม แม้จะไม่ได้เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ ก็ตามที ตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ณ นิวยอร์ก สหรัฐฯ ว่าจะจัดตั้งกลไกคัดกรองผู้ลี้ภัยเอง เพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ สนับสนุนหลักการไม่ส่งกลับ (Non Refoulement) และยุติการคุมขังผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาลี้ภัยที่เป็นเด็ก .
อ่านประกอบ:กรรมการสิทธิ์ฯ เผย ‘ผู้ลี้ภัยเด็ก’ ในกทม. ถูกกักกัน 40 คน อายุต่ำสุด 3 เดือน จี้รัฐเร่งปล่อยตัว