ควันหลง "โอไอซี" กับปาหี่ดับไฟใต้
การแถลงความสำเร็จจากการเดินทางเยือนไทยของ นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟใต้ทุกหน่วย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลอย่างเลิศหรูอลังการต่อสังคมนั้น กำลังปรากฏรอยด่างขึ้นแล้ว
ล่าสุดมีข่าวว่าองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เตรียมออกแถลงการณ์ว่าถูกหน่วยงานของรัฐบางหน่วยกีดกันและแทรกแซงเพื่อไม่ให้มีโอกาสได้ให้ข้อมูลตรงกับคณะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี ตลอดระยะเวลาการเดินทางเยือนประเทศไทย 7-12 พ.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อตรวจสอบดูกำหนดการพบปะบุคคลต่างๆ ของคณะผู้แทนพิเศษจากโอไอซี ก็พบว่ามีหลายรายการถูกเปลี่ยนแปลงและยกเลิกจริง...
โดยเฉพาะวงหารือกับนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และผู้ที่ทำงานด้านสิทธิฯ ซึ่งบางรายร่วมทำ shadow report หรือ “รายงานเงา” เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำคู่ขนานถ่วงดุลกับรายงานของหน่วยงานของภาครัฐ นำเสนอในเวทีขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วย
กำหนดการบางรายการมีเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์กรต่างๆ จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าร่วมพบปะและแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณะผู้แทนพิเศษจากโอไอซีก็จริง แต่กลับเป็นองค์กรที่ไม่ได้มีบทบาททำงานจริงในพื้นที่
โดยเฉพาะการทำงานในมิติของการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีข้อครหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง...
หากย้อนกลับไปพิจารณาคำแถลงร่วมระหว่าง นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี กับ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่เลขาธิการโอไอซีเดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อเดือน พ.ค.2550 จะพบประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ข้อ 6 จากทั้งหมด 18 ข้อ ซึ่งเป็นข้อกังวลและห่วงใยของเลขาธิการโอไอซี
ข้อความในคำแถลงร่วมกันข้อ 6 ระบุเอาไว้แบบนี้ "คณะผู้แทนโอไอซี แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังคงมีความรุนแรงและกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและไว้ใจของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลดความกังวลเกี่ยวกับการไม่ลงโทษผู้กระทำผิด (impunity) และการได้รับความไม่ยุติธรรม (injustice) ควรมีการเร่งรัดกระบวนการของความรับผิดชอบ พร้อมกับการดำเนินการสอบสวนโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมการใช้กฎหมายในด้านต่างๆ..."
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อกังวลของคณะผู้แทนโอไอซีเมื่อปี 2550 โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเลยการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ข้อร้องเรียนต่างๆ ในปีปัจจุบัน แม้จะไม่มากเท่าปีก่อนๆ แต่เหตุการณ์ที่ล่วงผ่านมาแล้ว รัฐก็ยังไม่ได้ชำระสะสางให้เกิดความเป็นธรรม จนเกิดข้อครหาว่าด้วย "ผู้กระทำผิดลอยนวล" หรือ "ไม่ต้องรับโทษ" จากหลายๆ เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นตากใบ กรือเซะ หรือการวิสามัญฆาตกรรม และการบังคับสูญหาย (อุ้มหาย-อุ้มฆ่า)
ด้วยเหตุนี้หรือไม่จึงต้องมีการกีดกัน แทรกแซงไม่ให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนภาคเอกชนได้สะท้อนข้อมูลด้านมืดของรัฐต่อคณะผู้แทนพิเศษโอไอซีในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอีกครั้งในปี 2555
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่เป็น "ตลกร้าย" ก็คือ มีความพยายามให้ข้อมูลกับโอไอซีว่า รัฐบาลไทยกำลังเร่งปรับโครงสร้างและทิศทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ครั้งใหญ่ โดยบูรณาการทุกหน่วยงานผ่านการทำงานของ "คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ค.แต่งตั้งให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
เป็นมติ ครม.หลังจากที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ครั้งแรกเพียง 2 วัน ทั้งๆ ที่นั่งทำงานเป็นผู้นำฝ่ายบริหารมานานเกือบ 9 เดือน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวมาตลอดว่า การปรับ ครม.เที่ยวหน้า พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นชื่อต้นๆ ที่จะถูกปรับออกจากตำแหน่ง...
หรือทั้งหมดนี้คือ "ปาหี่" ดับไฟใต้ที่รัฐบาลกำลังเล่นละครหลอกทั้งคนไทยและโอไอซี!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะผู้แทนพิเศษเลขาธิการโอไอซี ขณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้