ชาวบ้านมาบตาพุด-โฉนดชุมชน-โปรแตชร้องกสม. ถูกละเมิดสิทธิชุมชน
คกก.สิทธิฯ รับข้อเสนอชาวบ้านมาบตาพุดชูวิธีแก้ผลเสียจากโรงงานระเบิด เรียกไต่สวนพิพาทโฉนดชุมชน-ขอประทานบัตรแร่โปรแตซ หวังลดขัดแย้งรัฐ-ประชาชน ละเมิดสิทธิชุมชน
วันที่ 15 พ.ค. 55 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและชาวบ้านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จ.ระยอง เข้ายื่นหนังสือถึงนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการระเบิด และเพลิงไหม้ของ บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด และกรณีก๊าซรั่วในโรงงานของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ จำกัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
นายสุทธิ กล่าวว่า ทางเครือข่ายต้องการให้รัฐบาล และโรงงานอุตสาหกรรมนำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปี 53-57 มาบังคับใช้จริงจัง พร้อมฟื้นฟูและบำบัดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม รวมถึงการสร้างระบบการชดเชย เยียวยาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนต่อผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะต้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่กระทำผิด ฐานละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงจัดทำประกาศผังเมืองให้แนวกันชนและแนวป้องกัน และเสนอให้ทำบัญชีถือครองวัตถุอันตราย บัญชีการระบายมลพิษ แจ้งให้สาธารณชนรับทราบ พร้อมเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคีที่จะตรวจสอบโรงงานทั้งหมด และให้มีการทบทวนระงับนโยบายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งในและนอกอุตสาหกรรมภายในประเทศ
วันเดียวกันคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร นำโดยนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน เรียกอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เข้าชี้แจงกรณีพิพาทพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรังโดนเจ้าหน้าที่ภาครัฐนำกำลังตัดโค่นสวนยางพาราและรื้อสะพานในพื้นที่
นายธิติ กนกทวีฐากร ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะผู้แทนอธิบดี ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนต้นยางพาราและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนที่ไม่ได้ยื่นแสดงความจำนงสิทธิในพื้นที่ทำกินก่อนประกาศเขตอุทยานก่อน 30 มิ.ย. 41 จริง แต่เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและกฎหมายของกรมอุทยานฯ ที่ระบุชัดเจนตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนที่ว่าหากมีการยึดถือ บุกรุก หรือตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าให้ดำเนินการย้ายออกทันที หากไม่กระทำถือผิดวินัยขั้นร้ายแรง ฉะนั้นควรเสนอให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ป่าไม้และอุทยานฯ ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งโฉนดชุมชนและรัฐธรรมนูญปี 2550 ม.66-67 หมวดสิทธิชุมชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจกำหนดเขตปักปันชัดเจนและร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารในอัตราส่วนมากขึ้น
ด้านจนท.อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า กล่าวว่า อุทยานฯ ตรวจพบการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อปลูกต้นยางพาราตั้งแต่ 15 ธ.ค. 52 จึงได้แจ้งความร้องทุกข์เป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจภูธรนาโยง จ.ตรัง เนื่องจากในพื้นที่มีการปลูกพืชผลทางการเกษตร ดังนั้นจึงใช้อำนาจตามระเบียบกรมอุทยานฯ เข้ารื้อถอนพื้นที่เมื่อ 30 มี.ค.55 ภายหลังติดประกาศแจ้งเตือนสองครั้ง ซึ่งพื้นที่เข้ารื้อถอนจนท.ตรวจพบป่าใหม่ถูกทำลาย โดยไม่ปรากฎเป็นสวนยางเก่าของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ
นายสมนึก พุฒนวล สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด โต้แย้งว่า พื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมูเป็นชุมชนดั้งเดิมก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ซึ่งจนท.ไม่มีสิทธิเข้ารื้อถอนตามที่เอ่ยอ้างกฎหมาย เพราะเมื่อปี 52 ขณะนั้นนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดเขตพื้นที่พร้อมกับคณะกรรมการชุมชน ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จนท.อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า โดยบันทึกข้อตกลงและแผนที่ร่วมกัน ส่วนการเข้ารื้อถอนเมื่อ 30 มี.ค. 55 ยืนยันว่าไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าอย่างใด และไม่มีชาวบ้านในเครือข่ายฯ บุกรุกป่าไม้ เพราะชาวบ้านทุกคนมีกฏเกณฑ์อยู่ร่วมกับป่าชัดเจน จึงหวั่นว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์จากภาครัฐมากกว่า
ขณะที่นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนในอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จำนวน 5 ชุมชน จาก 9 ชุมชน ที่ร้องเรียนให้สำนักงานตรวจสอบ จึงส่งเรื่องพร้อมหลักฐานให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ส่วนอีก 4 ชุมชนนั้นเนื่องจากเอกสารไม่ครบถ้วนจึงต้องรอดำเนินการใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่โฉนดชุมชน แต่ต้องจัดทำพื้นที่รังวัดแนวเขตป่าไม้ใหม่ทั้งหมด และระงับการนำพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์อื่น นอกเหนือกฎหมายกำหนดตามมติครม. เมื่อ 15 ม.ค. 55 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ
นอกจากนี้ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รองนายกองค์การบริหารตำบล (อบต.) นาม่วงและนายกอบต.ห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าชี้แจงกรณีคัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปรแตช จ.อุดรธานีต่อคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรด้วย ซึ่งนายชาติชาย เชิดชื่น หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมโปสแตซ ในฐานะผู้แทนจากกพร. ยังชี้แจงตามข้อซักถามของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ชัดเจน ทั้งในประเด็นการจัดสำรวจก่อนทำพื้นที่รังวัด ได้แก่ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมถึงระเบียบของกพร.ที่ไม่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับการขั้นตอนการอนุญาตประทานบัตร จนสร้างความแคลงใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมรับฟัง
ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างนายบุญมี ราชพลแสน รองนายกอบต.นาม่วง กล่าวว่า หน่วยงานได้รับหนังสือจากที่ว่าการอำเภอมีคำสั่งให้จัดประชุมเห็นชอบการอนุญาตประทานบัตร จึงมอบหมายผู้ใหญ่บ้าน 5 หมู่บ้านที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบดำเนินการ แต่ผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งกล่าวเหมือนกันว่าไม่สามารถกระทำได้ เพราะชาวบ้านยังมีการคัดค้านรุนแรงอยู่ อาจส่งผลให้เกิดความบาดหมางในพื้นที่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของนายกอบต.ห้วยสามพาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปรแตซ ซึ่งเป็นการทำเหมืองแร่ใต้ดินใหญ่ที่สุดของประเทศยังกินอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาและมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี ซึ่งใต้ดินเป็นพื้นที่เก็บคลังแสงอาวุธทางการทหาร โดยพันเอกสถาพร บุญชู ยืนยันว่าไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากกพร. แต่อย่างใด แต่หากมีการยื่นหนังสือจริงจะต้องเสนอต่อผู้บัญชาการทหารบกพิจารณาตามขั้นตอนระเบียบของกองทัพบก
ช่วงท้ายนพ.นิรันดร์เสนอแนะกรณีข้อพิพาทพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนทุกฝ่ายควรตีความกฎหมายว่าด้วยหมวดสิทธิชุมชนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ให้ข้าราชการเป็นผู้คิดแทนฝ่ายเดียว ขณะที่การขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปรแตซนั้น เห็นว่าเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อพื้นที่มากเช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล ดังนั้นหน่วยงานทุกฝ่ายรู้ต้องจักบูรณาการใช้กฎหมายให้เป็นธรรมทุกฝ่ายและยุติการทำรังวัดเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อไป