ม.44ปลดล็อคประชุมพรรค-เลือกตั้งช้าสุด พ.ค.62 นักการเมืองต้านไพรมารีโหวต
73 พรรคร่วมวงถก ‘บิ๊กป้อม’ ก่อนเลือกตั้ง ‘วิษณุ’ เผยสูตร 3-3-5 ชง คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อคพรรคจัดประชุมใหญ่ เลือก กก.บริหารพรรค เปิดช่องหาสมาชิก-จัดไพรมารีโหวต อธิบาย 5 ปัจจัยเกิดเลือกตั้ง คาดอยู่ระหว่าง ก.พ.-พ.ค. 2562 ด้านพรรคประสานเสียงกังวลปมไพรมารีโหวต บางส่วนขอให้คราวนี้งดใช้ไปก่อน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต สถานที่พบปะหารือ และจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมในเวลาประมาณ 14.00 น. นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนรัฐบาล เข้าร่วมหารือด้วย
@ชง คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อคให้มีประชุมพรรค-จัดไพรมารีโหวต
ภายหลังการประชุมโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา 1.ช่วง 90 วันแรก ที่อยู่ในช่วงทูลเกล้าฯถวายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยในส่วนนี้จะไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น ต้องรอให้พระองค์ท่านลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะประกาศใช้กฏหมายใช้ราชกิจจานุเบกษา 2.ช่วง 90 วันต่อมา ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส.ส. ที่กฎหมายระบุว่าต้องใช้เวลา 90 วันถึงจะมีผลบังคับใช้ ในส่วนนี้จะเสนอที่ประชุม คสช. ให้ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ได้ เลือกกรรมการบริหารพรรค ห้ามหาเสียง เพื่อดำเนินการหาสมาชิกพรรค และจัดทำไพรมารีโหวต นอกจากนี้จะเปิดช่องให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และเชิญพรรคการเมืองมาคุยเพื่อจัดทำไพรมารีโหวตด้วย และ 3.ภายหลัง พ.ร.บ.ส.ส. มีผลบังคับใช้ ตามกฎหมายต้องใช้เวลา 150 วัน เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้ง
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอย่างนี้ การจัดเลือกตั้งในช่วงเดือน ก.พ. 2562 มีความเป็นไปได้มากที่สุด อย่างไรก็ดีได้จัดทำตุ๊กตาเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้ว ตามที่ กกต. เสนอขอให้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ดังนั้นในช่วงเวลา 150 วัน มีอยู่ 4 วัน ได้แก่ วันที่ 24 ก.พ. 2562 วันที่ 31 มี.ค. 2562 วันที่ 28 เม.ย. 2562 และวันที่ 5 พ.ค. 2562 แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้กำหนดวันใดเป็นวันเลือกตั้ง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ คสช. และรัฐบาล
@นักการเมืองประสานเสียงต้านไพรมารีโหวต
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ปฏิกิริยาหนักสุดคือพรรคการเมือง ในประเด็นการจัดทำไพรมารีโหวต เสียงแตกออกเป็นหลายฝ่าย เช่น ขอเปลี่ยนการไพรมารีโหวตเป็ฯระดับภาค ตามที่ กกต. เคยแบ่งไว้ บางพรรคขอให้ยกเลิกไปเลย หรือบางพรรคขอให้มี แต่เลื่อนให้ใช้ในการเลือกตั้งคราวต่อไป โดย พล.อ.ประวิตร รับปากว่า จะไปหารือในที่ประชุม คสช. ว่าควรทำอย่างไร แต่หลายพรรคยืนยันว่า ควรมีไพรมารีโหวต แต่ต้องดูข้อดี-ข้อเสียก่อน
@‘บิ๊กป้อม’ เผยสาเหตุเชิญพรรคหารือเพื่อสร้างความเข้าใจโร้ดแม็พ
ระหว่างประชุม แหล่งข่าวจากที่ประชุมร่วมระหว่างพรรคการเมือง และ คสช. เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้เชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะตัวแทนฝ่าย คสช. ระบุถึงสาเหตุที่เชิญมาพูดคุยว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับโร้ดแม็พ และขั้นตอนของกฎหมายต่าง ๆ ทั้งการทูลเกล้าฯ และการลงนามพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศใช้ ทั้งหมดคือเงื่อนไขต่อการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างไร
@พรรคการเมืองประสานเสียงขอผ่อนคลายคำสั่ง คสช. เปิดช่องทำกิจกรรม-กังวลปมไพรมารีโหวต
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า จากนั้นที่ประชุมได้เชิญให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวทำความเข้าใจถึงว่า การทำกิจกรรมของพรรคการเมืองขณะนี้ทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนของพรรคการเมืองกล่าวทีละคน เริ่มจากแถวหน้าไปยังแถวหลัง ไม่ว่าพรรคเล็กหรือใหญ่ หรือพรรคเก่าพรรคใหม่ ให้เสนอความเห็น โดยพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดต้องการให้ คสช. ผ่อนคลายคำสั่งฉบับที่ 53/2560 โดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำกิจกรรมในพรรคได้ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการทำไพรมารีโหวต คือ 1.ทำได้หรือไม่ 2.ทำทันหรือไม่ และ 3.ถ้าทำ แล้วทำอย่างไร เพราะถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย จะเป็นไปได้หรือไม่
@‘วิษณุ’ อธิบาย 5 ปัจจัยเกิดเลือกตั้ง คาดอยู่ระหว่าง ก.พ.-พ.ค. 2562
แหล่งข่าว กล่าวว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมนายวิษณุ ยังระบุถึงปัจจัยประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธีสำคัญ 2.ทรงลงนามพระปรมาภิไธย และพระราชทานกฏหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อไหร่ 3.การเข้าปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ชุดใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรรหา โดยอยู่ในขั้นสอบประวัติ 4.การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังการเลือกตั้งใหญ่ โดยจะดูองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเมืองพัทยา เป็นหลัก และ 5.ความสงบเรียบร้อยของสถานการณ์ทั่วประเทศในภาพรวม
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า นายวิษณุ ยังคาดคะเนถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง โดยตั้งตุ๊กตาวันเลือกตั้งไว้ก่อน คือ เรื่องการทูลเกล้าฯกฏหมายไม่เท่าไหร่ แต่ต้องรอว่าจะมีการลงนามพระปรมาภิไธย และพระราชทานกฎหมายเมื่อไหร่ ไม่ทราบ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้นถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้ง มีอย่างน้อย 4 วัน ใน 4 เดือน ได้แก่ วันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือวันที่ 31 มี.ค. 2562 หรือวันที่ 28 เม.ย. 2562 หรือวันที่ 5 พ.ค. 2562
@กรธ.เผย พรรคประสานเสียงผ่อนคลายคำสั่ง คสช.-เลิกไพรมารีโหวต
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวสั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า พรรคการเมืองได้ยื่นข้อเสนอขอให้ คสช. ผ่อนคลายคำสั่ง 53/2560 เพื่อเปิดช่องให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ และขอให้มีการงดเว้นการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ต้องทำไพรมารีโหวต อย่างไรก็ดี คสช. และรัฐบาล ยังไม่ได้สรุปว่า จะทำตามข้อเสนอเหล่านี้หรือไม่
@เผย 73 พรรคร่วมหารือ
สำหรับรายชื่อพรรคที่เข้าร่วม มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการแล้วเบื้องต้นมี 74 พรรค แต่มาวันนี้แค่ 73 พรรค โดยไม่มีพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือครั้งนี้แต่อย่างใด ขณะที่มีพรรคขนาดใหญ่ และขนาดกลาง เข้าร่วมเกือบทั้งหมด เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมาตุภูมิ พรรคมหาชน พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
สำหรับรายชื่อทั้ง 73 พรรค เช่น พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคความหวังใหม่ พรรคคนไทย พรรคกสิกรไทย พรรคไทยรวมพลัง พรรคไทยรักธรรม พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาสันติ พรรคปฏิรูปไทย พรรคพลังคนกีฬา พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคเพื่อชีวิตใหม่ พรรคพลังสหกรณ์ พรรคพลังไทย พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคพลังชล พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย พรรคเพื่อสันติ พรรคภรดรภาพ พรรคมหาชน พรรคภูมิใจไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคเมืองไทยของเรา พรรคยางพาราไทย พรรครักษ์ธรรม พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคทางเลือกใหม่ พรรคอนาคตไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเสรีนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคมติประชา พรรครวมใจไทยพรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคไทยก้าวข้าม และพรรคราษฎร์วิถี เป็นต้น (ดูเอกสารประกอบ)
@ปชป.-ชาติไทยฯ-ชพน. ประสานเสียง ชง คสช. ปลดล็อคประชุมพรรค แก้ปัญหา กม.พรรคการเมือง
ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตั้งใจมาฟังเป็นหลักว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคลี่คลายปัญหาที่จะทำให้พรรคการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ครบถ้วนอย่างไร เพราะว่ากฎหมายพรรคการเมือง มีข้อบังคับไว้ให้พรรคต้องจัดตั้งสาขา และแก้ไขข้อบังคับ ต้องดำเนินการในเรื่องการจัดทำอุดมการณ์ของพรรค นโยบายของพรรค ต้องให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองดังกล่าว บังคับว่า ต้องเสร็จสิ้นใน 180 วันนับจากประกาศใช้ โดยกฎหมายพรรคการเมือง ประกาศใช้เมื่อ 30 ก.ย. 2560 โดยต้องให้เสร็จช่วงปลายเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เลยมากว่า 3 เดือนแล้ว พรรคไม่สามารถปฏิบัติได้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาติดอยู่ 2 ล็อค ล็อคแรกคือ คำสั่ง คสช. ตามที่ทราบกันดี จึงประสงค์ทราบว่า คสช. ประสงค์ดำเนินการคลี่คลายล็อคตรงนี้ให้พรรคทำตามกฎหมายได้ครบถ้วนอย่างไร ส่วนล็อคที่สอง เป็นภารกิจที่เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น การประกาศเขตเลือกตั้ง เงื่อนเวลาการตั้งสาขาพรรค ถ้าพรรคการเมืองยื่นขอจัดตั้งสาขา จะพิจารณานานมากน้อยแค่ไหน มีผลกระทบเงื่อนเวลาที่บังคับ รวมถึงการรับรองสมาชิก ก็เช่นเดียวกัน มีข้อบังคับตามมาอีกหลายเรื่อง สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับความกระจ่างจาก กกต. เพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดราบรื่น ทำให้พรรคปฏิบัติตามกฎหมายได้
"สุดท้ายขึ้นอยู่กับ คสช. เพราะ คสช. เป็นผู้มีอำนาจ หากประสงค์รับทราบปัญหา ยินดีเรียนให้ทราบ โดยประมาณว่า เรามี 2 ล็อค คสช. กับ กกต. ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะ ดำเนินการอย่างไรต่อไป ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวพรรค แต่เพื่อให้พรรคดำเนินการกฎหมายได้" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวคล้ายคลึงกับนายจุรินทร์ สรุปได้ว่า เตรียมเสนอให้ คสช. ปลดล็อคการประชุมพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามกฎหมายพรรคการเมือง รวมถึงการสร้างความเข้าใจ และจัดหาสมาชิกพรรคเพื่อทำไพรมารีโหวต เป็นต้น
ขณะที่นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า ขอให้ คสช. ปลดล็อคให้มีการประชุมพรรคการเมือง เพื่อให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมีการทำไพรมารีโหวต แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้ จึงเกรงว่าอาจทำไพรมารีโหวตไม่ทัน
@กกต. ชงแก้อุปสรรคการเลือกตั้ง ทั้งแบ่งเขต-ประชุมพรรค-หาสมาชิก-ทำไพรมารีโหวต
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า กกต.ถูกเชิญให้มาร่วมรับฟัง โดยอาจมีการนำเสนอประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับอุปสรรคและปัญหาในการก้าวสู่การเลือกตั้ง ที่ กกต. เคยนำเสนอในการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล และ กกต. ไปแล้ว โดยครั้งนั้นมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะใช้ช่วงเวลาชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 น่าจะใช้ประโยชน์ในการแบ่งเขต การประชุมพรรค การหาสมาชิกพรรคให้ครบ และการทำไพรมารีโหวต แต่คงต้องรอผลการหารือครั้งนี้ก่อน