พลิกความเห็น‘กฤษฎีกา’ น.ส.3 ก. 5,748 แปลงแสนไร่ จ.อุทัยฯ คงสถานะป่าสงวน
เปิดฉบับเต็ม! ความเห็น คกก.กฤษฎีกา กรณี น.ส.3 ก.แสนไร่ ออกในเขต ป่า 5 แห่ง จ.อุทัยธานี หลังยกพื้นที่ให้ ส.ป.ก. แต่ไม่ดำเนินการ กม.ระบุชัดยังคงสภาพเป็นป่าสงวน หลักฐานสำคัญ ชนวนผู้การ ตร.กล่าวโทษ บิ๊ก ขรก.ละเว้นเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
กรณีพล.ต.ต.บัญชา ปั้นประดับ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดอุทัยธานี วันที่ 30 มี.ค.2561 กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการละเว้น ไม่ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก ที่ออกในเขตป่า5 ป่า จำนวน 5,748 แปลง เนื้อที่ 109,009-2-69.6 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอใน จ.อุทัยธานี หลังจากกรมป่าไม้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก. ตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2523 ที่ออกโดยมิชอบ แต่ผู้ว่าฯ ใช้ดุลพินิจเกรงว่าจะเกิดผลกระทบจึงไม่ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าว
ต่อมา 4 พ.ค.2536 คณะรัฐมนตรีมีมติมอบพื้นที่ป่าสงวนทั้ง 5 ป่าให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.) เพื่อนำไปดำเนินารปฏิรูที่ดิน
12 เม.ย.2544 เมื่อมีการแก้กฎหมายประมวกฎหมายที่ดินให้อำนาจอธิบดีกรมที่ดินในการเพิกถอน น.ส.3 ก.ที่ออกโดยมิชอบ กรมป่าไม้ได้ส่งเรื่องให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.อีกครั้ง แต่กรมที่ดินก็ไม่ดำเนินการ ให้เหตุผลว่า สภาพปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน หมู่บ้าน และเกิดความเห็นเป็นสองฝ่าย
เรื่องดังกล่าวเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 38 ปี
ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ พื้นที่ดังกล่าวยังสถานะเป็นป่าตามกฎหมายหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกา เรื่องสถานะของป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณที่มีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน เรื่องเสร็จที่ 307/2549) เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเสนอ
เนื้อหาระบุว่า “เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส.ป.ก. ยังมิได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณใด พื้นที่นั้นยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม สำหรับในส่วนของพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรและยังมิได้มีมติเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่กำหนดให้เป็นป่าไม้ถาวร พื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรอยู่ ดังนั้น พื้นที่ป่าไม้ถาวร และป่าสงวนแห่งชาติ ที่ ส.ป.ก. ยังมิได้เข้าไปดำเนินการ ก็ยังคงมีสถานะเป็นป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม” เรียบเรียงรายละเอียดดังนี้
@เดินสำรวจ น.ส.3 ก. ออก ปี 2519-2520
กรมที่ดินได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท 0516.2/04761 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของป่า สงวนแห่งชาติ สรุปความได้ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2519 ได้มีประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง กําหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์เพื่อ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ กรมที่ดินจึงได้ดําเนินการออก น.ส. 3 ก. โดยการเดินสำรวจ ตามประมวลกฎหมายที่ดินในปี พ.ศ. 2519 – 2520 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะได้ขีดเขตป่าลง ในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ใช้ในการออก น.ส. 3 ก. ซึ่งในขณะนั้นบริเวณดังกล่าวได้กําหนดเป็น เขตป่าสงวนแห่งชาติไว้แล้ว 3 ป่า คือ ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าปลายห้วยกระเสียว” ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าห้วยท่ากวยและป่าห้วยกระเวน” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 157 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และป่าสงวน แห่งชาติ “ป่าเขาตำแยและป่าเขาราวเทียน” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 632 (พ.ศ. 2516) ออกตาม ความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 ให้รักษาป่าปลายห้วยกระเสียว ป่าห้วยท่ากวยและป่าห้วยกระเวน และป่าเขา ตำแยและป่าเขาราวเทียน ให้เป็นป่าไม้ถาวร นอกจากนี้ ยังรวมถึงป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอก ควาย และป่าเขาพุวันดี ป่าห้วยกระเสียวและป่าเขาราวเทียน ให้รักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรด้วย ซึ่งในภายหลังได้มีการออกกฎกระทรวงอีกสองฉบับ คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,122 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2503 กำหนดให้ “ป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย” เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,174 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2503) กำหนดให้ “ป่าเขาพุวันดี ป่าห้วย กระเสียว และป่าเขาราวเทียน” เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
@ ปี 2520 ตรา พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดิน อ.บ้านไร่เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอ บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นการกําหนดเขตปฏิรูปที่ดินใน ท้องที่อำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วยคต โดยอำเภอห้วยคตได้แยกออกจากอำเภอบ้านไร่ ในปี พ.ศ. 2536
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2523 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ดําเนินการตรวจสอบการขีดเขต ป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีในอำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต และอำเภอลานสัก จึงพบว่า ได้มีการออก น.ส. 3 ก. จำนวน 5,748 แปลง ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวร รวมเนื้อที่ประมาณ109,109 ไร่ 2 งาน 69.6 ตารางวา ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ดังนี้
1) อำเภอบ้านไร่ มี น.ส. 3 ก. ทับเขตป่าไม้ จำนวน 4,437 แปลง
2) อำเภอห้วยคต มี น.ส. 3 ก. ทับเขตป่าไม้ จำนวน 470 แปลง
3) อำเภอลานสัก มี น.ส. 3 ก. ทับเขตป่าไม้ จำนวน 441 แปลง
@ ปี 2523 กรมป่าไม้ชงผู้ว่าฯเพิกถอน 5,748 แปลงแต่เฉย
เมื่อกรมป่าไม้ตรวจสอบแล้วพบว่า ได้มีการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ชอบ กรมป่าไม้ก็ได้มีหนังสือ ที่ กส 0711/13927 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2523 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดําเนินการเพิกถอน น.ส. 3 ก. ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเกิดผลกระทบตามมา จึงใช้ดุลยพินิจไม่สั่งเพิกถอน
@ 4 พ.ค.36 ครม.ยกพื้นที่ให้ ส.ป.ก.- กรมป่าไม้ชงอธิบดีเพิกถอนอีกรอบ 2544
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 มอบพื้นที่ป่าสงวน แห่งชาติทั้ง 5 ป่าดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อนำไปดําเนินการปฏิรูปที่ดิน
เมื่อมีการแก้ไขมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0705.05/4786 ลงวันที่ 12 เมษายน 2544 ถึง อธิบดีกรมที่ดินเพื่อขอให้พิจารณาดําเนินการเพิกถอน น.ส. 3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบอีกครั้งหนึ่ง กรมที่ดินจึงได้ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แล้วพบว่า สภาพที่ดินใน ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นที่ตั้งชุมชน หมู่บ้านต่างๆ และเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีสภาพของป่าไม้แต่อย่างใด หากจะต้องดําเนินการเพิกถอน น.ส. 3 ก. จะทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ได้นำ น.ส. 3 ก. ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินไปลงทุน ต่อมากรมที่ดินได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับสถานะของพื้นที่บริเวณ ดังกล่าวว่าพ้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วหรือไม่ โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็นสองฝ่ายดังนี้
@ที่ประชุมปี 2549 เสียงแตก 2 ฝ่าย
ฝ่ายที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า หากป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 5 ป่า มีผลเป็น การเพิกถอนตามนัยมาตรา 26 (4) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 พื้นที่ที่มีการออก น.ส. 3 ก. ควรอยู่ในความรับผิดชอบของ ส.ป.ก. เมื่อคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากการดําเนินการที่บกพร่องของทางราชการ ประกอบกับสภาพของที่ดินในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัย ทำไร่ และปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นการมั่นคงถาวรแล้ว การเยียวยาอาจดําเนินการได้โดยให้ ส.ป.ก. กันพื้นที่ดังกล่าวออกจาก เขตปฏิรูปที่ดิน และหากที่ดินยังคงเป็นป่าไม้ถาวรอยู่ กรมพัฒนาที่ดินควรดําเนินการเสนอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติจำแนกพื้นที่ออกจากการเป็นป่าไม้ถาวร เพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัยทำมาหากินต่อไป ซึ่งหากการพิจารณาเป็นไปตามแนวทางนี้แล้ว อธิบดีกรมที่ดินอาจใช้อำนาจตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินในทางที่เป็นคุณแก่เจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักฐาน น.ส. 3 ก. โดย อาศัยข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลดังกล่าวตามมาตรา 54 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยไม่จำต้องดําเนินการเพิกถอน น.ส. 3 ก. ดังกล่าวแต่อย่างใด
ฝ่ายที่สอง คือผู้แทนกรมป่าไม้เห็นว่า พื้นที่ที่ออก น.ส. 3 ก. แม้ปัจจุบันจะไม่มีสภาพการเป็นป่าไม้หลงเหลืออยู่เพราะประชาชนได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่สถานะทางกฎหมายของที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้แจ้งให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ในขณะที่ยังเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนประชาชนที่ถูกเพิกถอน น.ส. 3 ก. ก็อาจมาดําเนินการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ตามกฎหมายของกรมป่าไม้ได้
@ส่ง คกก.กฤษฎีกาหาข้อยุติ
ที่ประชุมจึงเห็นว่า หากพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีสถานะทางกฎหมายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การดําเนินการเพิกถอน น.ส. 3 ก. ที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีผลกระทบต่อประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก และพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่มีสภาพเป็นป่าไม้ แต่อย่างใดแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาควรดําเนินการโดยออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 5 ป่า ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของพื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่จะดําเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
กรมที่ดินจึงขอหารือว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 5 ป่า ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ส่งมอบให้ ส.ป.ก. รับไปดําเนินการ จะยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรตามมติ คณะรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ เพียงใด
@คณะที่ 7 ตั้งประเด็นพิจารณาผลของการออก น.ส. 3 ก.
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้รับฟัง ข้อเท็จจริงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (สำนักงานปลัดกระทรวง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในบริเวณดังกล่าวมีพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง อำเภออีกหนึ่งฉบับคือ พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดิน ในท้องที่กิ่งอำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2520 ซึ่งในปัจจุบันคือท้องที่อำเภอลานสัก และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 5 ป่าในส่วนที่มี พื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร และมีมติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในเขตป่าเศรษฐกิจเฉพาะส่วนที่มีสภาพเสื่อมโทรมแล้วให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อนำไปดําเนินการปฏิรูปที่ดิน และผู้แทน ส.ป.ก. ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้เข้าไปดําเนินการในบริเวณที่ออก น.ส. 3 ก. ไปแล้ว
กรณีตามที่หารือ คณะกรรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7 ) พิจารณาแล้ว มี ความเห็นว่า การที่จะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับสถานะของป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ไปดําเนินการตามข้อหารือนั้นจะต้อง พิจารณาผลของการออก น.ส. 3 ก. จากการเดินสำรวจในบริเวณดังกล่าวก่อนซึ่งการออกน.ส. 3 ก. เมื่อ พ.ศ. 2519– 2520 เป็นการดำเนินการตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่กำหนดว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นป่าไม้ถาวร และกรณีของจังหวัดอุทัยธานีก็ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2519 กำหนดเป็นจังหวัดที่จะทำการสำรวจพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2520 และกำหนดไว้ด้วยว่าท้องที่ที่จะดำเนินการจะต้องอยู่นอกเขตที่ทางราชการได้จำแนกไว้เป็นเขตป่าไม่ถาวร
@ ครม.16 ธ.ค.13 กำหนด 5 ป่า เป็นเขตป่าไม้ถาวร
ตามข้อหาหรือปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตรวจสอบพบในภายหลังว่าการออก น.ส.3 ก. จำนวน 5,748 แปลง ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้กรมที่ดินเพิกถอนจึงจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงถึงสถานะของพื้นที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 กำหนดให้ป่าไม้จำนวน 5 ป่า เป็นเขตป่าไม้ถาวรแล้ว หากได้มีการออก น.ส. 3 ก. ในบริเวณป่าไม้ถาวรก็จะเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ ที่บัญญัติให้เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร
ส่วนพื้นที่ที่เป็นป่าไม้ถาวรที่ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมีแผนที่ท้ายกฎกระทรวงแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วไม่ว่าในขณะที่ออกกฎกระทรวงจะมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดเขตป่าไม้ถาวรแล้วหรือไม่ พื้นที่นั้นย่อมเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ด้วย ซึ่งผู้ใดจะมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินมิได้ และที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ไม่อาจออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ออก น.ส. 3 ก. จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อ น.ส. 3 ก. ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดี หรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก. ได้ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2543 และเมื่อเป็นกรณีที่มีการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ชอบเนื่องจากเป็นการออกทับพื้นที่ที่เป็นเขตป่าไม้ถาวร หรือป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงมีสถานะเป็นป่าไม้ถาวร หรือป่าสงวนแห่งชาติแล้วแต่กรณี
@ปี 36 ครม. ยก 5 ป่าให้ ส.ป.ก. แต่ไม่เข้าดำเนินการ
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอในท้องที่อำเภอบ้านไร่ และกิ่งอำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ในปัจจุบันคือท้องที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต และอำเภอลานสัก ซึ่งเป็นการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 และต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 โดยแก้ไข (3) ของมาตรา 26 และเพิ่ม (4) ในมาตราดังกล่าว ให้สามารถนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการปฏิรูปได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติอีก ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 และวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 ให้นำป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 5 ป่า ในส่วนที่มีพื้นที่เหมาะสมมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน แต่ ส.ป.ก.ยืนยันว่า ส.ป.ก. มิได้เข้าไปดำเนินการในส่วนพื้นที่แปลงที่ได้มีการออก น.ส. 3 ก. แล้วดังกล่าว ประเด็นจึงต้องพิจารณาว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในส่วนนี้ถูกเพิกถอนไปโดยพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้วหรือไม่
@กฤษฎีกาชี้คงสถานะป่าเช่นเดิม
คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 7) เห็นว่า
การนำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 26 (4) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) ซึ่งกำหนดว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาตินั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบสองประการคือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงนั้นไปดำเนินการปฏรูปที่ดินด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส.ป.ก. ยังมิได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณใด พื้นที่นั้นยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม สำหรับในส่วนของพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรและยังมิได้มีมติเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่กำหนดให้เป็นป่าไม้ถาวร พื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรอยู่ ดังนั้น พื้นที่ป่าไม้ถาวร และป่าสงวนแห่งชาติ ที่ ส.ป.ก. ยังมิได้เข้าไปดำเนินการ ก็ยังคงมีสถานะเป็นป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม
(ลงชื่อ) คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา /สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มิถุนายน 2549
ฉะนั้น เมื่อสถานะตามกฎหมาย พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นป่า และที่ผ่านมาไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย จึงนำไปสู่การกล่าวโทษต่อผู้เกี่ยวข้อง
อ่านประกอบ:
พฤติการณ์คดี น.ส.3 ก.มิชอบ 5,748 แปลง แสนไร่ จ.อุทัยฯ ขรก.โยนไปมา 38 ปี
ผู้การ ตร.อุทัยฯ ชง ป.ป.ช.ฟันบิ๊ก ขรก.ไม่สั่งเพิกถอน น.ส.3 ก.บิ๊กลอตแสนไร่ รุกป่าสงวน
เปิดบันทึก จนท.แฉกรมที่ดิน ออก น.ส.3 ก. จ.อุทัยธานี ในเขตป่าไม้ 5,748 แปลง