- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พฤติการณ์คดี น.ส.3 ก.มิชอบ 5,748 แปลง แสนไร่ จ.อุทัยฯ ขรก.โยนไปมา 38 ปี
พฤติการณ์คดี น.ส.3 ก.มิชอบ 5,748 แปลง แสนไร่ จ.อุทัยฯ ขรก.โยนไปมา 38 ปี
เรียงลำดับพฤติการณ์คดี บิ๊ก จนท.ละเว้นเพิกถอน น.ส.3 ก. 5,748 แปลง เนื้อที่ 109,009 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนฯ จ.อุทัยธานี หลังกรมป่าไม้ชงเกือบ 40 ปี ก่อน ผบก.ตร.อุทัยฯส่งหนังสือกล่าวโทษเอาผิด ม. 157 ต่อ ป.ป.ช.
กรณี เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2561 พล.ต.ต.บัญชา ปั้นประดับ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี ได้หนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดอุทัยธานี กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้น ไม่ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก ที่ออกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5,748 แปลง เนื้อที่ 109,009-2-69.6 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอใน จ.อุทัยธานี หลังจากกรมป่าไม้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก. ตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2523 ที่ออกโดยมิชอบ แต่ผู้ว่าฯ ใช้ดุลพินิจเกรงว่าจะเกิดผลกระทบจึงไม่ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 38 ปี
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นของคดีมาเสนอ
@ น.ส.3 ก.ออกปี 2519-2523 กรมป่าไม้เสนอเพิกถอนปี 23
(1) 22 ก.ย. 2560 คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดอุทัยธานี ครั้งที่ 1 มีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการในที่ประชุมโดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์มีนายสุชาติ พงษ์เศรษฐกุล ผู้แทน และสำนักงานที่ดินจังหวัดอุทัยธานี ได้นำเสนอกรณี มีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวรในจังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5,748 แปลง กินพื้นที่ อ.บ้านไร่ อ.ห้วยคต อ.ลานสัก ตั้งแต่ปี 2519 ถึงในปี 2523
22 ก.ค. 2523 กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก.ดังกล่าว ตามนัย มาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ในขณะนั้นพิจารณาแล้วเกรงว่าจะมีผลกระทบจึงใช้ดุลพินิจไม่สั่งเพิกถอน
ปี พ.ศ. 2543 ได้มีการแก้ไขมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินให้อำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน และรองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายในการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน
12 เม.ย. 2544 กรมป่าไม้มีหนังสือ ถึงอธิบดีกรมที่ดินให้ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.ทั้ง 5,748 แปลง อีกครั้ง
@กฤษฎีกาตีความคงสภาพเป็นป่า
(2) สำนักงานที่ดินจังหวัดอุทัยธานี แจ้งว่ากรมที่ดินได้มีหนังสือ ด่วนมากลงวันที่ 15 ก.พ. 2549 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของป่าดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพื้นที่ป่าไม้ถาวร และป่าสงวนแห่งชาติ ดังกล่าวยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรคงเดิม
(3) กรมป่าไม้มีหนังสือ ลงวันที่ 20 ต.ค. 2552 ขอทราบผลการดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.ที่ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวร ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี กรมที่ดินมีหนังสือ ลงวันที่ 29 ม.ค. 2553 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ว่า กรมป่าไม้ได้เร่งรัดขอทราบผลการเพิกถอน น.ส.3 ก. จำนวน 5,748 แปลง โดยไม่ต้องรอผลดำเนินการของคณธกรรมมการปรับปรุงเขตพื้นทีป่าไม้ (Reshape) หากกรมป่าไม้เห็นว่ายังไม่เพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเสียหาย กรมป่าไม้ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเขตป่าไม้สามารถไปดำเนินคดีทางศาลเพื่อฟ้องเพิกถอน น.ส.3 ก. ได้
@กรมที่ดินโยนจังหวัดเร่งรัด
8 มิ.ย. 2558 กรมที่ดินมีหนังสือ ขอให้จังหวัดอุทัยธานีเร่งรัดดำเนินงานตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
24 มิ.ย. 2558 จังหวัดอุทัยธานี มีหนังสือ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดอุทัยธานี สาขาบ้านไร่ อำเภอห้วยคต และอำเภอลานสัก ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รายงานผลการตรวจสอบให้กรมที่ดินทราบแล้ว ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2559 และ ลงวันที่ 29 ต.ค. 2559 เกี่ยวกับการถือสิทธิครอบครองรวมทั้งสิ้น 7,967 แปลง เนื้อที่ 109,009 ไร่ 2 งาน 69.6 ตารางวา ในท้องที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย
1. อำเภอบ้านไร่ จากเดิมมี น.ส.3 ก.ในเขตป่า จำนวน 4,837 แปลง มีการบางแยกเพิ่มขึ้น จำนวน 1,844 แปลง รวมถึง 6,681 แปลง
2. อำเภอห้วยคต จากเดิมมี น.ส.3 ก.ในเขตป่า จำนวน 470 แปลง มีการบางแยกเพิ่มขึ้น จำนวน 375 แปลง รวมถึง 845 แปลง
3. อำเภอลานสัก จากเดิม น.ส.3 ก จำนวน 441 แปลง
(4) ปี 2520 มีการตราพระราชกฤฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอในท้องที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต กำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ที่แก้ไขแล้ว ให้สามารถนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการปฏิรูปได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว และเมื่อ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติอีก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส.ป.ก.ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวร ดังกล่าว ดังนั้นพื้นที่ป่าดังกล่าวยังคงเหมาะสมยังคงสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวรอยู่เช่นเดิม
ผลสรุปของ คกก.ระดับจว.
ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าป่าสงวนแห่งชาติประกอบด้วย ‘ป่าปลายห้วยกระเสียว’ ‘ป่าห้วยท่ากวยและป่าห้วยกระเวน’ ‘ป่าเขาตำแยและป่าเขาราวเทียน’ และป่าไม้ถาวร ‘ห้วยทับเสลา’ ‘ป่าห้วยคอกควาย’ ‘ป่าเขาพุวันดี’ ‘ป่าห้วยกระเสียวและป่าเขาราวเทียน’ ท้องที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เมื่อปี 2519 ถึง 2520 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต (อำเภอห้วยคตแยกจากอำเภอบ้านไร่) ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 2520 และต่อมาในปี 2536 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ตรวจสอบขีดเขตป่าไม้ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก พบว่าได้มีการออกเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. จำนวน 5,748 แปลง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวร รวมเนื้อที่ 109,009 ไร่ 2 งาน 69.6 ตารางวา ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอดังกล่าว
กรมป่าไม้ ได้มี ลงวันที่ 22 ก.ค. 2523 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก.ตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ใช้ดุลพินิจไม่เพิกถอน
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อนำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดิน
คณะกรรมการกฤษฎีการ (คณะที่7 ) เรื่องเสร็จที่ 307/2549 เรื่อง สถานะของป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณที่มีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ได้มีความเห็นว่า การนำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 26 (4) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม(ที่แก้ไขแล้ว) ซึ่งกำหนดว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้วและ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งพระราชกฤษฎีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจะมีผลให้เป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาตินั้นจะต้องมีองค์ประกอบครบสองประการคือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วย แต่ปรากฏว่า ส.ป.ก.ยังไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวให้ครบตามองค์ประกอบทั้งสองประการ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวรดังกล่าวยังคงมีสถานะอยู่เช่นเดิม
ข้อพิจารณา
เมื่อข้อเท็จจริง เป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น และตามกฎหมายให้อำนาจให้ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวได้ แต่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดังกล่าวมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกรณีที่มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวรดังกล่าว ทั้งที่กรมป่าไม้ได้เร่งรัดให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว การกระทำของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อกฎหมายอาญาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หหนึ่งผู้ใด หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนความผิด จึงเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นมาเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป
อ่านประกอบ:
ผู้การ ตร.อุทัยฯ ชง ป.ป.ช.ฟันบิ๊ก ขรก.ไม่สั่งเพิกถอน น.ส.3 ก.บิ๊กลอตแสนไร่ รุกป่าสงวน
เปิดบันทึก จนท.แฉกรมที่ดิน ออก น.ส.3 ก. จ.อุทัยธานี ในเขตป่าไม้ 5,748 แปลง