หวั่นบอลโลกจบพนันไม่จบ! นักวิชาการ จี้รัฐขานรับข้อเสนอเยาวชน ตั้งกก.ควบคุมตามหลักสากล
หวั่นบอลโลกจบพนันไม่จบ!!! นักวิชาการ จี้รัฐขานรับข้อเสนอเยาวชนคุมปัญหาพนัน ตั้งกก.ควบคุมตามหลักสากล เน้นสร้างกลไกการทำงานถาวร บูรณาการลดผลกระทบ ฟื้นฟูเยียวยา
วันที่ 24มิถุนายน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ผู้อำนวยการหลักสูตรผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยารังสิต กล่าวถึงกรณีเครือข่ายเด็กและเยาวชน 3 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันตามหลักสากล เพื่อให้เป็นหน่วยควบคุม รวมถึงฟื้นฟูเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ติดพนัน ว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการพนันในเด็กและเยาวชน 3 กรณีศึกษา คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า พบว่า บทเรียนสำคัญ คือ 1.ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมการพนัน 2.การป้องกันปัญหาการพนันให้สำเร็จ ต้องมีองค์กรตามกฎหมาย เป็นหน่วยงานหลักประสานความร่วมมือกับภาคราชการ และภาคประชาสังคมในรูปแบบเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงทั้งประเทศ 3. รัฐมีหน้าที่โดยตรงจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แก่ทุกภาคส่วน และ4.ต้องมีแนวทางป้องกันและเยียวยาผู้มีปัญหาและได้รับผลกระทบจากการพนัน ทั้งในรูปแบบการศึกษาตามหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรสำหรับทุกช่วงวัย และทุกกลุ่มอาชีพ
“บทบาทของรัฐต่อการกำกับดูแลการพนัน เรียกได้ว่า รัฐเป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง หรือผู้อนุญาตให้เล่นการพนันในสังคมได้ โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ดังนั้น รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการพนันที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งตามหลักสากลของประเทศต่าง ๆ ชัดเจนว่า รัฐจะตรากฎหมายจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานและจัดสรรเงินกองทุนเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ป้องกัน และลดผลกระทบจากการพนันโดยตรง เช่น กรณีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และแอฟริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งไทยก็ควรมีแนวทางการบริหารกองทุนเช่นเดียวกับประเทศเหล่านั้น และต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ”
ด้านนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อฟุตบอลโลกจบลง แต่ปัญหาการพนันจะไม่จบตาม ซึ่งไม่ได้มีแค่ฟุตบอลโลก คนไทยยังเล่นทั้งหวย แทงบอล แทงมวย เกมพนันออนไลน์ เล่นพนันตามบ่อนขนาดเล็กขนาดใหญ่ เนื่องจากยังเชื่อว่า การพนันเป็นช่องทางหารายได้ เล่นแบบหวังร่ำรวย ขณะที่กลุ่มผู้เล่นที่มีปัญหาจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มเด็กเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ สาเหตุนี้จึงจำเป็นต้องควบคุมปราบปราม รณรงค์สร้างกระแสความตื่นตัว เกิดคณะกรรมการควบคุม ลดปัญหาและผลกระทบจากการพนัน เกิดกระบวนการทำงานอย่างตลอดสาย ตั้งแต่สร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชน ให้รู้เท่าทัน โดยพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัย สนับสนุน มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนร่วมรณรงค์และเฝ้าระวังปัญหา และพัฒนาบริการให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน ทั้งของรัฐและเอกชน
“รูปแบบการทำงานแก้ปัญหาการพนัน ไม่ต่างจากการรับมือกับปัญหาสังคมในด้านอื่น ๆ คือต้องยืดหยุ่นและคล่องตัว ไม่อาจอาศัยเพียงการทำงานของภาครัฐฝ่ายเดียว ทุกประเทศจึงมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนกระบวนการทำงานนี้ โดยหักจากรายได้ของกิจการพนัน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล สนามแข่งม้า มวย รวมถึงพนันอื่น ๆ จำพวกวัวชน ตีไก่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ได้กำหนดให้มีกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เรื่องลดปัญหาการพนันไว้ชัดเจน ดังนั้นหากรัฐบาลต่อยอดจากกองทุนดังกล่าว เสริมด้วยกลไกกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติ ก็จะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลนี้ที่ให้ไว้กับสังคมไทย” นายธนากร กล่าว