เปิดฟังความเห็นแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ เลิกโครงสร้างมหาเถรฯ ถวายเป็นพระราชอำนาจ
คณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดให้พระภิกษุและประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบในหลักการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยให้เลิกโครงสร้างมหาเถรสมาคม (มส.) ในปัจจุบัน ถวายเป็นพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งแทน เพื่อแก้ไขปัญหากรรมการ มส.โดยตำแหน่งที่ชราภาพ มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถเข้าประชุมได้ และกรรมการบางรูปต้องคดีอาญา จนพุทธศาสนิกชนเสื่อมศรัทธา
การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกาศในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 ที่รับหลักการให้มีการจัดทำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ระบุถึงสภาพปัญหาของมหาเถรสมาคมตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า โครงสร้างมหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการ และมีวาระ 2 ปี
แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า สมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง มักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจำเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง
นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญาหรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสงฆมณฑล จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลำดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนำให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ
สำหรับหลักการใหม่ของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจำนวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดำริเห็นสมควร
นอกจากนั้น ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้
จากแนวทางและหลักการที่จะแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นที่กล่าวมา ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มิ.ย.61 รวมเวลา 7 วัน โดยการรับฟังความคิดเห็น เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.วันที่ 4 เม.ย.60 ประกอบกับมติ ครม.วันที่ 19 มิ.ย.61
อนึ่ง ตั้งแต่ช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป จาก 3 วัดดังในกรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของวัดและฟอกเงิน โดยพระเถระ 3 ใน 5 รูปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม คือ อดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร อดีตพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ต่อมามีการจับกุมและสึกพระเถระผู้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงพระผู้ใหญ่รูปอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นอดีตพระพรหมเมธี ที่หลบหนีไปขอลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ขณะเดียวกันก็มีพระบรมราชโองการถอดถอนสมณศักดิ์พระผู้ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด