ลักลอบนำเข้าขยะ –สำแดงเท็จ เปิดงานวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ดูเครื่องเอ็กซเรย์กรมศุลกากร
ปัจจุบันกรมศุลกากรมีนโยบายเปิดตรวจลดน้อยลง โดยใช้รูปแบบการบริหารความเสี่ยงแทน และในอนาคตจะลดการตรวจลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ตามแนวนโยบายการส่งเสริมการค้าเสรี
"กรมศุลกากรมีระบบเอ็กซเรย์ที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงมาก ประเด็นอยู่ที่ว่าหากมีการตรวจสอบจริงจะไม่รู้เชียวหรือว่ามีการนำเข้าขยะอันตรายเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง”
หนึ่งในข้อสงสัยที่ นางสาวเพ็ญ โฉมแซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งประเด็นไว้ในเวทีแถลงข่าวเปิดปูมกรณีการนำเข้า"ขยะพิษ"ร่วมกับประชาชนผู้เดือดร้อน 7 จังหวัด(ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี) ณ อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆนี้ (อ่านประกอบ:จัดการด่านนี้ไม่ได้ เรื้อรัง! "เพ็ญโฉม" จี้ คสช.สอบขั้นตอนออกใบอนุญาตนำเข้า-ตั้งรง. ขยะ)
ผลจากการลดการตรวจสอบ มีผลทำให้ตู้สินค้าที่เป็นขยะอันตรายกระจายไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว เธอยืนยัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานเรื่องการจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศเผยแพร่ เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยคณะวิจัยได้เข้าไปเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์และการศึกษาดูงาน สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ความน่าสนใจของรายงานชิ้นนี้ มีหลายส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้มีการตั้งโรงานประกอบกิจการการรับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่หน่วยงานภาครัฐเองกลับไม่สามารถ 'กำกับดูแล' ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักข่าวอิศรา เลือกนำเสนอเฉพาะกรณีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับการสำแดงเท็จที่เป็นตกข่าวมานานนับเดือน เพื่อให้เห็นระบบควบคุมทางศุลกากร มีขั้นตอนเป็นอย่างไร
1.ระบบควบคุมทางศุลกากร
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2560 คณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบควบคุมทางศุลกากรและศึกษาดูงานระบบการเอ็กซเรย์สินค้าที่สถานีตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ภายในสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยสามารถสรุปข้อมูลได้ดังต่อไปนี้
1.1 การควบคุมทางศุลกากร 1 ประกอบด้วยการควบคุม 4 ขั้นตอน คือ
(1) การควบคุมก่อนการตรวจปล่อย (Preclearancecontrol) เมื่อสินค้าถูกนำาเข้ามาทางทะเลและผู้แทน(นายเรือ)ได้ยื่นบัญชีสินค้าภายในเรือเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจะตรวจเช็คสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการหนีภาษีหรือเป็นสินค้าอันตรายหรือไม่
(2) การควบคุมขณะตรวจปล่อย(Clearancecontrol) เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจะตรวจสอบสินค้าตามที่ระบบคัดกรองกำาหนดไว้
(3) การควบคุมหลังการตรวจปล่อย(Postclearancecontrol) ในกรณีที่มีการตรวจพบภายหลังว่ามีการกระทำผิดหรือมีการหนีภาษีก็จะมีการตรวจหลังการตรวจปล่อยด้วย
(4) การตรวจค้นโดยใช้หมายศาล (Investigation)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกรมศุลกากรมีนโยบายเปิดตรวจลดน้อยลง โดยใช้รูปแบบการบริหารความเสี่ยงแทน โดยกรมศุลกากรตั้งเป้าการเปิดตรวจสอบสำหรับสินค้าขาเข้าไว้ไม่เกินร้อยละ 5 และขาออกไม่เกินร้อยละ 3
เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ในบางกรณีการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพของสินค้าได้การเปิดตรวจมากจึงไม่สะดวกต่อผู้ประกอบการ
ในอนาคตกรมศุลกากรจะลดการตรวจลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ตามแนวนโยบายการส่งเสริมการค้าเสรี
สำหรับ “รูปแบบการบริหารความเสี่ยง” กรมศุลกากรดำเนินการโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคัดกรอง โดยดูจากประวัติของบริษัทและชนิดของสินค้าว่าควรนำไปตรวจด้วยการเอ็กซเรย์หรือไม่ โดยไม่ได้เอ็กซเรย์ทุกคอนเทนเนอร์
ประกอบกับศักยภาพของเครื่องเอ็กซเรย์ก็ไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการตรวจมีปริมาณสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้เนื่องจากมีสินค้าที่ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมโดยหน่วยงานอื่นและระบบคัดกรองระบุให้ตรวจมากกว่าจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ทั้งนี้หากเอ็กซเรย์แล้วมีข้อสงสัยเจ้าหน้าที่จะต้องเปิดดูทางกายภาพต่อไป
เกณฑ์ในการตรวจสอบของระบบคอมพิวเตอร์ที่กรมศุลกากรใช้ได้แก่ การตรวจสอบว่า เป็นสินค้าความเสี่ยงต่ำ (Greenline) หรือสินค้าความเสี่ยงสูง (Redline) โดยสินค้าความเสี่ยงต่ำจะได้รับการยกเว้นการตรวจส่วนสินค้าความเสี่ยงสูงจะนำมาตรวจสอบในสัดส่วนคือขาเข้าร้อยละ 10
ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีการตรวจสอบจึงมีน้อยลง
สำหรับสินค้าที่นำเข้าผ่านท่าเรือของเอกชนก็จะได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกัน
ในกรณีที่เป็นสินค้าควบคุมก็ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานผู้อนุญาตหากผู้นำเข้าไม่มีใบอนุญาตนำเข้าก็ถือว่าผิดกฎหมายกรมศุลกากรจะยึดและจับกุมแต่ถ้ามีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม
การสุ่มตรวจสอบก็ขึ้นอยู่กับว่า ระบบคอมพิวเตอร์จะประเมินให้ต้องตรวจหรือไม่ สินค้านำเข้าจะต้องดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนและในอนาคตจะมีกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ต้องจัดการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เนื่องจากหากกรมศุลกากรใช้เวลาตรวจสอบนานก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าและเป็นภาระของกรมศุลกากรในการทำลายสินค้าที่เสื่อมสภาพ
1.2 ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์
กรมศุลกากรได้นำระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยในระยะแรกเป็นระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบเคลื่อนที่จำนวน 7 เครื่องเพื่อให้บริการ ณจุดนำเข้า-ส่งออกผลการดำเนินงานนับว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถตรวจปล่อยตู้สินค้าภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีต่อตู้ และสามารถจับกุมการลักลอบหลีกเลี่ยงศุลกากรได้เป็นจำนวนมาก
กรมศุลกากรได้จัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์แบบติดตั้งถาวรจำนวน 2 เครื่องเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 14 มีนาคม 2550
ต่อมาในปีพ.ศ.2555 ได้จัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์แบบติดตั้งถาวรอีกจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสามารถแสดงผลภาพเอ็กซเรย์แบบสีสามารถจำแนกชนิดของวัตถุและสามารถวิเคราะห์ภาพได้แม่นยำขึ้น
และล่าสุดในปีพ.ศ.2558 กรมศุลกากรได้เปิดใช้งานระบบตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ซึ่งเป็นระบบเอ็กซเรย์ตู้สินค้าที่มาทางราง
กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบันสำนักงานศุลกากรแหลมฉบังมีเครื่องเอ็กซเรย์จำนวน 5 เครื่องประจำอยู่สถานีตรวจสอบสินค้าขาเข้าจำนวน 2 เครื่องและสินค้าขาออกจำนวน 2 เครื่องและระบบตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟจำนวน 1 เครื่อง
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้เข้าเยี่ยมชมสถานีตรวจสอบสินค้าขาเข้าซึ่งประกอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์จำนวน 2 เครื่องแบ่งเป็นระบบอุโมงค์แบบเก่าติดตั้งในปีพ.ศ.2549 สามารถรองรับน้ำหนักได้ 60 ตัน ภาพเอ็กซเรย์ที่ได้จะเป็นภาพขาวดำและระบบอุโมงค์ใหม่ติดตั้งในปี 2556 รองรับน้ำหนักได้ 70 ตัน ภาพที่ได้จะเป็นภาพสีแสดงความหนาแน่นและประเภทของวัตถุได้ด้วยโดยสีน้ำเงิน/สีเขียวแทนวัตถุอนินทรีย์ เช่น โลหะ และสีส้มแทนวัตถุผสม เช่น ยางไม้ เป็นต้น
ในแต่ละตู้คอนเทนเนอร์จะใช้เวลาตรวจสอบ 2 นาที 44 วินาที และสามารถเอ็กซเรย์สินค้าขาเข้าได้ประมาณ 200 ตู้ต่อวัน และหากตรวจสอบด้วยระบบเอ็กซเรย์แล้วพบว่า มีเหตุอันควรสงสัยก็จะดำเนินการเปิดตู้ตรวจสอบต่อไป
ในรายงานฉบับนี้ ยังได้ตัวอย่างการสำแดงเท็จที่เคยตรวจพบ เช่น
เอกสารสำแดงว่าเป็น “เศษพลาสติก” แต่ตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พบว่า มีการนำเศษเหล็กเศษอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เก่าปิดบังสินค้าคือ “จักรยานใช้แล้ว” จำนวน 28 ลัง (69คัน) ถือเป็นการสำแดงชนิดปริมาณพิกัดและอัตราอากรเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดและอากรโดยมีมูลค่าของกลาง 40 ล้านบาท
อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ เอกสารสำแดง “ผงซิลิคอน” แต่ตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พบ “ผงโลหะปนเปื้อนสารประกอบตะกั่ว ”เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ลำาดับที่ 2.2 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นการสำแดงชนิดปริมาณพิกัดและอัตราอากรเป็นเท็จโดยมีมูลค่าของกลาง 34 ล้านบาท
และตัวอย่างอื่นๆ เช่น สำแดงเป็น “แผ่นเหล็ก” (Wastesteel sheet) แต่ตรวจสอบพบเป็นเศษขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น