กอ.รมน.-ศอ.บต.ขานรับ "สันติธานี" แนะเสริมความรู้ จนท.เข้าใจวิถีวัฒนธรรม
สถานการณ์ 8 ปีไฟใต้ยังคงมีหลายฝ่ายศึกษาและนำเสนอแนวทางการคลี่คลายปัญหาเพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
เมื่อวันอังคารที่ 14 พ.ค.2555 นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 2 (4 ส.2) ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ "สันติธานี: วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้?" เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการหยุดยั้งความขัดแย้งและความรุนแรงดับไฟใต้มิอาจละเลยมิติวัฒนธรรม
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า พื้นที่ภาคใต้มีลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งลักษณะทางวัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้พื้นที่นี้พิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1.ความเข้มข้นทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ 2.ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันประกอบไปด้วยวัฒนธรรมมลายู ไทย และจีน ดังนั้นการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจึงไม่อาจละเลยมิติทางวัฒนธรรมได้
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่ารูปธรรมในการนำวิถีวัฒนธรรมมาเป็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมคืออะไร และคำตอบส่วนหนึ่งที่นักศึกษา 4 ส.2 นำเสนอก็คือ "สันติธานี" ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภาครัฐที่คำนึงถึงวัฒนธรรมเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะให้สนองตอบต่อความต้องการและลักษณะพื้นฐานทางวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่
ห่วงกระบวนการยุติธรรมต้นทางมีปัญหา
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวว่า นอกจากนำเสนอในประเด็นวิถีวัฒนธรรมแล้ว ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้ายังได้ศึกษาปัญหาภาคใต้ใน 7-8 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากเหตุร้าย
2.การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมและการเชื่อมโยงกับภาครัฐ
3.การสื่อสารกับสังคมในภาพใหญ่
4.การส่งเสริมการศึกษาและจัดการปกครองตามบริบทพื้นที่
5.การใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับพื้นที่ อาทิ กฎหมายอิสลาม หรือภาษามลายู
6.การใช้กฎหมายพิเศษและยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร
7.การสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยมี "สันติธานี" รวมอยู่ด้วย รวมทั้งการมีคณะกรรมการค้นหาความจริง (fact finding)
ทั้งนี้ การศึกษาจะนำมิติทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียวไมได้ แต่จะต้องนำเรื่องทางสังคมมาผสมผสานและเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งก็ต้องย้อนถามรัฐบาลว่าเปิดโอกาสให้ประเด็นเหล่านี้หรือยัง
"การนำเสนอแนวทางสันติธานีในครั้งนี้ อาจไม่สามารถลดปัญหาความรุนแรงได้ทันที แต่ผลการศึกษาจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้นั้น ที่ผ่านมามีจำนวนมาก คือประมาณ 584 เรื่อง แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลนำไปปฏิบัติจริงบ้างหรือไม่"
"นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาระบุว่าจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบนั้นมีอัตราที่ศาลยกฟ้องมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมต้นทางคือการปฏิบัติงานของตำรวจ" พล.อ.เอกชัย ระบุ
"วิเชียร"บอกใช้นโยบายรัฐบาลควบคู่ สมช.
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ดำเนินการ 2 กรอบ คือ
1.นโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในปีแรก โดยมีการจัดทำแผนงานและงบประมาณรองรับ เน้นไปที่การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับคืนมา ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจน ยาเสพติด อำนวยความยุติธรรมให้ทั่วถึง พร้อมๆ กับสร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมความเสมอภาคที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
2.การกำหนดนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลและรัฐสภาแล้ว โดยจะใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปจัดทำยุทธศาสตร์ โดยใช้แนวทางสันติวิธี เน้นศึกษารากเหง้าของความรุนแรง ทั้งความรุนแรงระดับบุคคลและโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
ชูปฏิรูปบริการภาครัฐ "โรงเรียน-โรงพยาบาล-โรงพัก"
ในช่วงการนำเสนอโมเดล "สันติธานี" มีนักศึกษา 4 ส.2 ร่วมกันบรรยายสรุป เริ่มจากการจัดบริการของรัฐใน 3 รูปแบบ ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน และสถานีตำรวจ (โรงพัก) โดย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอการจัดการในสถานพยาบาล ระบุว่า โรงพยาบาลต้องปรับการสื่อสารให้ผู้ใช้บริการเข้าใจได้ง่าย เริ่มจากป้ายชื่อ ป้ายบอกทาง สถานที่ทำบัตร ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษามลายู ขณะที่ตัวบุคลากรก็ต้องสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ได้ หากไม่ได้ก็ต้องมีล่ามแปล
นอกจากนั้นก็ต้องมีการบริการที่เอื้อต่อคนทุกศาสนา เช่น ห้องละหมาด การจัดพื้นที่ตักบาตร รวมไปถึงการจัดบริการอาหารที่ถูกต้องตามความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธและอิสลาม กระทั่งการเตรียมความพร้อมในกรณีละศีลอดในแต่ละวัน (ช่วงเดือนรอมฎอน)
ส่วนด้านการศึกษา นายไพศาล อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทย์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ นำเสนอว่า ต้องมีระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีของชาวมุสลิม มีการสอนภาษามลายูควบคู่กไปกับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ให้เป็นโรงเรียนพหุภาษา มีการสอนหลักศีลธรรมที่ควบคุมจิตวิญญาณของเยาวชน สำหรับโรงเรียนบางแห่งที่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพ โดยเฉพาะด้านกายภาพ ก็ต้องได้รับการพัฒนาจากรัฐ
ขณะที่ น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ ประธานคณะทำงานสันติอาสาสักขีพยาน กล่าวถึงระบบสถานีตำรวจว่า โรงพักเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสวน จับกุม แต่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กลับพบว่าคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้น 8,247คดี มีคดีที่หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้และนำไปสู่การยุติการสอบสวนถึง 6,301 คดี หรือคิดเป็น 76.4%
ฉะนั้นการจัดการในสถานีตำรวจต้องยึดหลัก 7 ประการ คือ
1.การใช้หลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
2.หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้
3.การมีส่วนร่วมจากประชาชน อาทิ กรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย ควรเปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณา
4.หลักความรับผิดชอบ หากผิดต้องยอมรับผิด ป้องกันเหตุบานปลายขยายวง
5.หลักคุณธรรมจริยธรรม
6.หลักความคุ้มค่า โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
7.หลักการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ วิถีทางสันติจะเกิดได้ย่อมอยู่ในสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายแบบปกติด้วย
แนะเสริมความรู้ จนท.สานฝัน "สันติธาน" สู่ปฏิบัติจริง
สำหรับในช่วงเวทีวิพากษ์ผลการศึกษา พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน.กล่าวว่า รูปแบบสันติธานีที่นำเสนอมาเชื่อว่าน่าจะใช้ขับเคลื่อนได้ โดยภาคประชาชนเองก็ต้องช่วยด้วย ซึ่งหากภาคประชาชนแข็งแรง เจ้าหน้าที่ก็พร้อมถอนกำลังออกไป โดยถอยออกมาเป็นเพียงผู้สนับสนุนและดูเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น
ขณะที่ นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้สันติธานีไปสู่การปฏิบัติจริงได้ คือ 1.ต้องให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ในสิ่งที่จะลงมือทำ ซึ่งต้องมีการเสริมความรู้ในภาคปฏิบัติเพิ่มเติม 2.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.การสร้างสัดส่วนของการบริการตามข้อเสนอให้เกิดการยอมรับในพื้นที่
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปกรายงานผลการศึกษาเรื่อง "สันติธานี วิถีวัฒนธรรมสู่สันติสุขชายแดนใต้"
หมายเหตุ : อรรถภูมิ อองกุลนะ และ เกศินี แตงเขียว เป็นผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเนชั่น