อ่านท่าที "มารา ปาตานี" คลี่ปม "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ?
เป็นที่ทราบกันดีมาระยะหนึ่งแล้วว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐใต้ร่ม "มารา ปาตานี" ต้องหยุดชะงักไปด้วย 2 เหตุผลสำคัญ
หนึ่ง คือ การไม่บรรลุข้อตกลงเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก" ที่ทุกฝ่ายรับรู้ตรงกันแล้วว่าคือ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนทำให้ฝ่ายรัฐบาลไทยเดินหน้าเรื่องนี้ไปก่อนเพียงฝ่ายเดียว
สอง คือ การเปลี่ยนรัฐบาลมาเลเซียหลัง นายนาจิบ ราซัค พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และ นายมหาธีร์ โมฮาหมัด จากพรรคฝ่ายค้าน ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แทน
เหตุผลข้อสอง ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซีย เพราะฝ่ายไทยนั้นยืนยันตรงกันทุกระดับว่า พร้อมเดินหน้ากระบวนการพูดคุยฯ ต่อไป
เริ่มจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกเมื่อวันที่ 15 พ.ค.61 ที่ผ่านมาว่า "การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลของมาเลเซีย เราก็ต้องประสานความร่วมมือต่อไป และเป็นเรื่องที่ทำเพื่อสร้างการรับรู้กับต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ว่าเรามีการแก้ปัญหาอย่างไร และทางมาเลเซียนั้นมีหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ได้มีส่วนเข้าร่วมการพูดคุย และการพูดคุยก็จะเป็นการพูดคุยที่ต่างประเทศ เพราะในประเทศเราทำไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ต้องทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย และคงต้องหารือกันต่อไป ผมคิดว่าคงได้ทำต่ออยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงทางภูมิภาคด้วย เพราะถ้ามีปัญหาในบ้านเรา ก็จะมีปัญหาในบ้านเขา (มาเลเซีย) ด้วย"
ตามด้วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ก็ประสานเสียงในท่วงทำนองเดียวกัน "นโยบายของรัฐบาลยังเหมือนเดิม คือยังพูดคุยกันอยู่ แต่ขณะนี้ต้องรอดูความชัดเจนของรัฐบาลมาเลเซียว่าจะให้ผู้อำนวยความสะดวกเป็นคนเดิม และมีนโยบายเหมือนเดิมหรือไม่"
สรุปเบื้องต้น ณ เวลานี้ว่า ไทยอยากให้กระบวนการพูดคุยฯเดินหน้าต่อ รอเพียงรัฐบาลมาเลเซีย "เคาะ" เท่านั้น
ส่วนเหตุผลข้อหนึ่ง ชัดเจนจากคำแถลงของหัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย พล.อ.อักษรา เกิดผล ว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าสร้าง "พื้นที่ปลอดภัยฝ่ายเดียว" เพราะฝั่ง "มารา ปาตานี" ยังไม่พร้อมร่วมมือ ด้วยเหตุผลหลายประการ
"ปัจจุบันมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง คือ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แต่แม้ว่าวันนี้ผู้เห็นต่างจากรัฐทั้ง 6 กลุ่ม (ในนาม มารา ปาตานี) อาจยังไม่สามารถประกาศความพร้อมให้สังคมได้รับทราบ เพราะยังกังวลในเรื่องความปลอดภัยบุคคล แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งผู้นำศาสนาและประธานสภาประชาชน ได้ยืนยันความพร้อมที่จะกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่สามารถรออะไรได้อีกแล้ว แม้ว่ามาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบร่วมกัน ฉะนั้นขอให้สังคมมั่นใจในกระบวนการสันติวิธีที่กำลังดำเนินการอยู่ ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ปฏิเสธขบวนการก่อการร้าย อาชญากรรม ยาเสพติด ตลอดจนการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่"
ความไม่พร้อมของ "มารา ปาตานี" แฝงด้วย "ความไม่พอใจ" อย่างปิดไม่มิด ผ่านแถลงการณ์ของกลุ่มเมื่อ 23 มี.ค.61 และผ่านการให้สัมภาษณ์ของ นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝั่งมาราฯ
เหตุผลที่อ้างในแถลงการณ์สั้นๆ ก็คือ ความก้าวหน้าและสิ่งที่จะดำเนินการอันสืบเนื่องจากกระบวนการพูดคุย (ตามที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอ้าง) นั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะเป็นเพียงการพูดคุยในระดับ "คณะทำงานเทคนิค" ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะพูดคุยชุดใหญ่ของไทย
แต่เหตุผลที่อธิบายผ่านแกนนำ "มารา ปาตานี" ดูจะมีเงื่อนปมซับซ้อนกว่านั้น ทั้งเรื่องการที่รัฐบาลไทยไม่ยอมยกระดับกระบวนการพูดคุยให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ผ่านการรับรองของรัฐสภา และยังมีเรื่องการเปิดชื่อ "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ก่อนเวลาอันควร ซึ่งผู้ที่เปิดเผยนอกจากสื่อบางแขนงแล้ว ยังออกจากปากนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองด้วย
ส่วนประเด็นการเรียกร้องให้ "พักโทษ" ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนสำคัญ 3 คนที่เชื่อกันว่าเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ "มารา ปาตานี" เรียกร้องและเหมือนจะไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลนั้น ข่าววงในแจ้งว่่า ผู้ต้องหาเป้าหมายทั้ง 3 คนได้รับการ "พักโทษ" และ "ปล่อยตัว" เรียบร้อย
ฉะนั้นเหตุผลสำคัญจึงถูกเทน้ำหนักไปที่เงื่อนไข "วาระแห่งชาติ" และการเปิดเผยชื่อ อ.เจาะไอร้อง เร็วไปหน่อย จนอาจกระทบเรื่อง "ความปลอดภัยบุคคล" หากเดินหน้าสู่ขั้นตอนการส่ง "ตัวแทน" เข้ามาร่วมขับเคลื่อน "พื้นที่ปลอดภัย" โดยทำงานร่วมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยใน "เซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงานพูดคุยสันติสุข" ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
ขณะที่การประชุม "คณะทำงานเทคนิคร่วม" หรือที่เรียกว่า "คณะพูดคุยชุดเล็ก" ระหว่างรัฐบาลไทยกับ "มารา ปาตานี" เมื่อวันพุธที่ 25 เม.ย.61 ปรากฏว่าวงประชุมตกลงกันไม่ได้เรื่องการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" จึงให้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และถือเป็นการยุติบทบาทของ "คณะทำงานเทคนิคร่วม" ในการพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และหากต้องการรื้อฟื้นการพูดคุย ต้องให้เป็นบทบาทของ "คณะพูดคุยชุดใหญ่" เท่านั้น
บางฝ่ายตีความเงื่อนไขของฝ่ายมาราฯว่า สะท้อนภาพความ "ไม่พร้อม" ในกลุ่มของพวกเขากันเอง รวมถึงท่าทีเมินเฉยของ "กลุ่มติดอาวุธตัวจริง" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ด้วย
แต่จากการสำรวจท่าทีล่าสุดของ "มารา ปาตานี" ผ่านแถลงการณ์อวยพรเนื่องในโอกาสวันอิฎิ้ลฟิตริ เมื่อไม่มีวันมานี้ ซึ่งมี นายอาวัง ญาบัต (หรือ อาวัง ยาบะ) ประธานมารา ปาตานี เป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง ฝ่ายความมั่นคงไทยประเมินว่าเป็นท่าทีที่ "อ่อนลง" อย่างเห็นได้ชัด
คำแถลงของประธานมารา ปาตานี ถูกเผยแพร่ผ่านคลิปอวยพรวันอิฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1439 ในวาระสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ทางเว็บไซต์ www.marapatani.com
คลิปดังกล่าว นายอาวัง พูดเป็นภาษามลายู ความยาว 8.15 นาที ตอนหนึ่งได้ชี้แจงถึงความก้าวหน้าในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่ทำร่วมกับรัฐบาลไทยว่า อยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในระดับ "คณะทำงานเทคนิคร่วม" เพื่อจัดทำโครงการพื้นที่ปลอดภัย และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการรอการลงนามของคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group - Peace Dialogue Process (JWG – PDP) ซึ่งก็คือ "คณะพูดคุยชุดใหญ่" เพื่อรับรอง และยังแสดงความคาดหวังว่า โครงการพื้นที่ปลอดภัย จะมีการแถลงร่วมกันของ JWG – PDP ต่อไป
โปรดสังเกตว่าคำแถลงของประธานมารา ปาตานี ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก เหมือนที่ฝ่ายไทยพูดกันอย่างเปิดเผย
อีกตอนหนึ่งของคลิปคำแถลงอวยพรของนายอาวัง ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียว่า ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
ฝ่ายความมั่นคงไทยวิเคราะห์ว่า นี่คือท่าทีที่อ่อนลงพอสมควรของ "มารา ปาตานี" ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอนาคตที่ไม่แน่นอนของ "มารา ปาตานี" เอง ว่าจะคงสถานะ "องค์กรตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐ" ที่เป็น "ผู้นำการพูดคุย" ในระนาบเดียวกับ "รัฐบาลไทย" อยู่หรือไม่ หลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของมาเลเซีย และเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก นายนาจิบ ราซัค เป็น นายมหาธีร์ โมฮาหมัด
เพราะต้องไม่ลืมว่า มหาธีร์ เคยใช้โมเดล "องค์กรร่ม" แบบ "มารา ปาตานี" แต่ใช้ชื่อ "เบอร์ซาตู" เป็น "องค์กรตัวแทนของผู้เห็นต่างฯ" และเป็น "ผู้นำการพูดคุย" กับรัฐบาลไทย โดยองค์ประกอบของ "เบอร์ซาตู" ในอดีต แทบไม่ได้ทับซ้อนกับองค์ประกอบของ "มารา ปาตานี" ในปัจจุบันนี้เลย
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายอาวัง ญาบัต จากคลิปอวยพรวันอิฎิ้ลฟิตริ เผยแพร่ในเว็บไซต์มารา ปาตานี
อ่านประกอบ :
ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ยื้อไม่มีกำหนด
อ่านเกม "มารา ปาตานี" แถลงการณ์นี้เพื่ออะไร?
รู้จัก "สุกรี ฮารี" หัวหน้าคณะพูดคุยฝั่งมาราฯ ก่อนเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อไทย
ใครเป็นใครบนเวทีแถลงของ "มาราฯ" แย้มอนาคตปาตานีขึ้นกับคนพื้นที่เอง
ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ฝันค้าง