พุทธ-มุสลิมต้องสามัคคี สันติวิธีเอาชนะใจคนมุ่งร้าย...ดับไฟใต้ฉบับ"พระไพศาล"
"บ่อยครั้งที่ความน่ากลัวน้อยกว่าความกลัว ความกลัวน่ากลัวน้อยกว่าความกลัวตาย ความโกรธเล่นงานเมื่อเราเผลอไปคิด ความกลัวคือคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิด ฉะนั้นอย่าปล่อยใจให้มโนไป"
เป็นคำเตือนสติคนชายแดนใต้จาก พระไพศาล วิสาโล พระนักเผยแผ่ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ระหว่างบรรยายในเวทีธรรม หัวข้อ "อยู่เย็นไม่เป็นทุกข์ที่แดนใต้ได้อย่างไร" เมื่อไม่นานมานี้ ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
พระไพศาล เน้นให้รับมือสถานการณ์ความรุนแรงด้วย "สติ" และ "การรู้เท่าทัน" พร้อมแนะนำให้ชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่สามัคคีกัน และมุ่งใช้สันติวิธี ซึ่งสามารถเอาชนะใจคนมุ่งร้ายได้ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงค่อยๆ ลดจำนวนลง
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้สร้างความทุกข์ให้แก่คนจำนวนมาก เป็นความตายที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทุกคนที่นี่อยูกับความกดดันของความเสี่ยงอันตราย จึงต้องมีวิธีจัดการ และรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้น" เป็นปฐมบทการบรรยายของพระไพศาล
"การเรียนรู้อยู่ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงอันตราย เป็นทักษะที่คนยุคนี้ควรจะมี เป็นภาวะปกติแบบใหม่ คนต้องเจอกับภัยก่อการร้าย การอยู่กับการก่อการร้าย เราจะอยู่อย่างไร ต้องมีภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือเชื้อโรค สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสคือ อันตรายที่เปิดเผย มุ่งทำร้ายร่างกาย ส่วนอันตรายที่ปกปิด คือ กิเลส ความโกรธ และความกลัว มุ่งทำร้ายจิตใจ ฉะนั้นป่วยกายได้ แต่อย่าให้ใจป่วย ใจป่วยจะหนักต่อร่างกาย กายอาจทุกข์จากภายนอก หากศึกษาใจให้ดี ย่อมสามารถเป็นสุขได้"
พระไพศาล แนะให้รับมือสถานการณ์ร้ายด้วยหลักการแห่งพุทธ
"ศาสนาพุทธย้ำให้เห็นความสำคัญว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่าเรามองอย่างไร เป็นสิ่งที่คนมักจะมองข้าม ในสภาวการณ์รอบตัวที่ยังอันตราย มีสิ่งที่เราทำได้คือ ดูแลใจ อย่าให้อันตรายที่ปกปิดมาทำร้ายใจเรา คนที่เป็นมะเร็งบอกว่า โชคดีที่เป็นมะเร็ง เพราะรู้จักรักษาใจ ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเขาได้ สิ่งที่ทุกข์คือวางใจไม่ถูกต้อง"
"ความโกรธน่ากลัวกว่าความพิการ แผลจากการถูกทำร้ายสามารถเยียวยาได้ แต่ถ้าใจยังมีทุกข์ โกรธแล้วไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นเหยื่อได้ จึงต้องเยียวยาความโกรธไม่ให้ใจมีบาดแผล หากเรารักตัวเอง ต้องให้อภัยเพื่อใจได้รับการเยียวยา ต้องมีสติ รู้ทัน จึงจะหายโกรธ ไม่มีใครตัดขาดความโกรธได้ แต่ต้องรู้ทัน ตระหนักว่าเป็นสิ่งไม่ดี ทำร้ายตัวเอง ทางแก้คือให้อภัย มีสติ รู้เท่าทัน ให้หยุดแค่นั้น อย่าให้ลามไปทุกข์ใจ"
"บ่อยครั้งที่ความน่ากลัวน้อยกว่าความกลัว ความกลัวน่ากลัวน้อยกว่าความกลัวตาย ความโกรธเล่นงานเมื่อเราเผลอไปคิด ความกลัวคือคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิด ฉะนั้นอย่าปล่อยใจให้มโนไป"
นอกจากเตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการรับมือกับความกลัว
"ต้องดูว่ากลัวอะไร เมื่อใจยอมรับความตายได้ เราจะปล่อยวาง เรายอมรับความตายได้ ใจจะสงบ สาเหตุที่ทุกข์เพราะเราไม่ยอมรับ ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในความเสี่ยง ไม่ตีโพยตีพาย ยอมรับว่าความรุนแรงยังคงอยู่ต่อเนื่องอีกหลายปี คงไม่หมดในเร็ววัน และยอมรับว่าหนีความตายไม่พ้น เจริญมรณสติเสมอ จิตใจจะผ่องใส ระลึกว่าเราตายแน่ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ พร้อมที่จะตาย รักษาใจ เสมอตัว ให้ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทำสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้"
จากการรับมือในระดับปัจเจก พระไพศาล เสนอแนวทางการรับมือของสังคมที่อยู่ผสมกันระหว่างคนพุทธและมุสลิม
"การสร้างสัมพันธภาพระหว่างพุทธและมุสลิม เชื่อบทบาทของประชาสังคม จะบรรเทาความเจ็บปวดและความรุนแรงได้ การทำให้ฐานมวลชนของผู้ก่อการร้ายลดลง คือการเอาชนะใจมวลชนและแนวร่วม เหมือนกรณีชนะสงครามคอมมิวนิสต์โดยการใช้สันติวิธี ชาวพุทธต้องเป็นอันหนึ่ีงอันเดียวกัน ไม่ผูกใจเกลียดชังมุสลิม"
ส่วนแนวทางดับไฟใต้ ต้องย้อนไปดูรากเหง้าของปัญหาที่ปะทุสู่ความรุนแรง
"ต้องจัดการเงื่อนไขความรุนแรงซึ่งมีเยอะมากให้ได้ ไม่ใช่แค่ความอยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ แต่ยังมีขบวนการค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน เป็นเรื่องซับซ้อนของเหตุปัจจัยความรุนแรง สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก การลดความรุนแรงด้วยความพยายามสร้างสัมพันธภาพในชาวพุทธด้วยกัน ชาวพุทธและมุสลิมต้องเชื่อว่าความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความรุนแรงได้"
"สันติวิธีใช้กับคนมุ่งร้ายได้ ไม่เฉพาะใช้กับสุภาพชนเท่านั้น พุทธและมุสลิมจึงต้องเป็นมิตรกัน แล้วใช้สันติวิธีเอาชนะใจคน การจะสามารถดึงมวลชนออกจากการเป็นฐานผู้ก่อการร้ายได้ ต้องชนะใจเขา มั่นใจว่าหากชาวพุทธเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างความมั่นใจ ไม่เกลียดชังกับมุสลิม เชื่อว่าฐานมวลชนของผู้ก่อการร้ายจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เขาไม่สามารถชนะคนด้วยอาวุธ สันติวิธีชนะใจคนที่มุ่งร้ายได้ เอาชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกรธด้วยไม่โกรธ สำคัญคือการใช้ความดีเอาชนะใจ"
บทสรุปของพระไพศาลก็คือ ไฟใต้ยังมีหวังดับได้ แต่ต้องเริ่มที่ใจ และใช้วิธีการที่ถูกต้องในการคลี่คลาย
"บ้านเมืองสงบได้ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความใจกว้าง พุทธ-มุสลิมต้องสามัคคีกัน ไม่เกลียดชังกัน ไม่เชื่อคนที่ปลุกระดม เห็นความเหมือนที่มีอยู่ อย่าเห็นแต่ความต่าง"