วัดใจรัฐบาล : พวกพ้อง หรือ ประเทศชาติ
ข้อหาที่ ป.ป.ช. จะเอาผิดพล.อ. ประวิตรในกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรูได้คือ 1) แสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ 2) รับทรัพย์สินมูลค่าเกินกว่า 3 พันบาทจากบุคคลอื่น และ 3) ร่ำรวยผิดปรกติ
แต่ผ่านไปกว่าครึ่งปีแล้วก็ยังไม่มีคำชี้แจงจาก ป.ป.ช. เสียทีว่าได้ ‘ตั้งประเด็นในการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือไต่สวนเรื่องเหล่านี้อย่างไร’ พูดง่ายๆ ก็คือ จะกล่าวหาเอาผิดด้วยข้อหาอะไร ‘ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปมีอะไรอีกบ้าง และมีกรอบเวลาตามกฎหมายอย่างไร’
ที่ต้องพูดให้ชัดก็เพราะขั้นตอนวิธีการทำงานและหน่วยงานใน ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบคดีจะต่างกัน ความหนักแน่นของพยานหลักฐานที่จำเป็นต้องมีก็ต่างกัน และหากมีความผิดจริง โทษที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับก็หนักเบาไม่เท่ากัน ขณะที่ประชาชนก็ได้รู้ว่า ป.ป.ช. กำลังทำอะไรอยู่ จะได้ติดตามและช่วยกันหาข้อมูลมาสนับสนุนหรือขยายผลต่อไป
เพื่อความเข้าใจจึงขอยกตัวอย่างดังนี้
หากตั้งประเด็นว่ามีความผิดฐานแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จซึ่งมีโทษเบาสุดในบรรดาข้อหาทั้งหมด จะเป็นหน้าที่ของสำนักสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง ป.ป.ช. ในการรวบรวมหลักฐาน เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่มีการแสดงรายการทรัพย์สินจริงก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาลงมติชี้มูลความผิดได้เลย โดยไม่ต้องตั้งอนุกรรมการฯ มาพิจารณาเหมือนข้อหาร่ำรวยผิดปรกติซึ่งมีขั้นตอนเยิ่นเย้อ
ในข้อหาเดียวกัน หากยืดเวลาพิจารณาออกไปจนกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ (ประมาณปลาย ก.ค.) การจะชี้ว่าใครมีความผิด ป.ป.ช. จะต้องเพิ่มภาระพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ‘มีเจตนา’ ปกปิดรายการทรัพย์สินนั้นๆ อีกด้วย เท่ากับเปิดช่องให้เขาต่อสู้ได้ว่าหลงลืม เข้าใจผิด งานยุ่ง หรือตนอายุมากแล้ว จนทำให้เอาผิดได้ยากและใช้ระยะเวลานาน
ในทางกฎหมาย หาก ป.ป.ช. เชื่อว่านาฬิกาทุกเรือนเป็นของยืมมาและไม่ถือเป็นประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายระบุ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ไม่ถือเป็นการรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3 พันบาทจากคนอื่นและไม่ต้องพิจารณาเรื่องร่ำรวยผิดปรกติแต่อย่างใด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงแน่นอน
กรณีพล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืมเงิน 300 ล้านบาทจากนักธุรกิจผู้ต้องหาคดีฟอกเงินก็เช่นกัน
ความจริงแล้วความผิดจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จและรับทรัพย์สินมูลค่าเกิน 3 พันบาท หากจำเลยรับสารภาพที่ผ่านมาศาลมักให้รอลงอาญา จึงถือว่าโทษไม่ได้รุนแรงอะไร แต่การปกป้องศักดิ์ศรีของพี่น้อง และการต้องพ้นจากตำแหน่งรวมถึงถูกตัดสิทธิทางการเมืองคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เสถียรภาพทางการเมืองสั่นคลอน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึง ป.ป.ช. ขอให้ตอบคำถาม 5 ข้อให้สังคมได้รับรู้ความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีทั้งสอง เพื่อขจัดข้อกังขาที่นำไปสู่การคาดเดาหรือข่าวลือที่มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลและ ป.ป.ช. แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากผู้จัดการออนไลน์