รู้ผลสิ้น มิ.ย.นี้!กรมโรงงานฯลุยตรวจ148 รง.รีไซเคิลขยะอิเล็กฯ-ทบทวน กม.นำเข้า
กรอ.เดินหน้าตรวจ 148 โรงงานรีไซเคิลขยะฯ เดือน มิ.ย. – ก.ค. พร้อมเร่งทบทวนกฎหมายนำเข้าของเสียข้ามแดน คาดรู้ผลภายในมิ.ย. 61
วันที่ 19 มิถุนายน 2561 นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ราย ได้แก่
1.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด 2.บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัด 3.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4.บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และ5.บริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยไม่ให้มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 1 ปี ฐานกระทำผิดเงื่อนไขส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตคัดแยกแทน
ส่วนโรงงานที่รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 5 โรงงานดังกล่าว มาคัดแยกหรือครอบครองโดยที่ไม่มีใบอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ทำการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไว้ในครอบครองคืนบริษัทต้นทางจำนวนกว่า 14,000 ตัน
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรอ.ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ออกคำสั่งให้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ส่งซากอิเล็กทรอนิกส์กลับคืนบริษัทต้นทาง หลังพบข้อเท็จจริงว่า บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ ไม่ได้มีใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่มีสิทธิ์คัดแยกหรือครอบครองชิ้นส่วนดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
อย่างไรก็ตาม กรอ.พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 3 บริษัทผู้นำเข้า รวมทั้งสิ้น 1,590 ตัน ได้แก่
- บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 1,120 ตัน
- บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัดจำนวน 350 ตัน
- และบริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 120 ตัน
นอกจากนี้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ ยังต้องดำเนินการส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปยังบริษัทผู้นำเข้าภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับคำสั่ง โดย กรอ.จะกำชับเรื่องกระบวนการขนส่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของกรมโดยการใช้ระบบ GPS พร้อมทั้งให้ทางบริษัทจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด
พร้อมกันนี้ กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมศุลกากรประจำการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมตรวจสอบตู้สินค้า ที่อาจเข้าข่ายต้องควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พร้อมกับลงพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทั้ง 148 โรงงานที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์
นายมงคล กล่าวด้วยว่า จะมีการทบทวนกฎระเบียบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดนร่วมกับคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นทิศทางในการกำหนดนโยบายการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตราย เช่นเดียวกับกรณีแบตเตอรี่ตะกั่ว – กรด โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมิถุนายน 61