เปิดข้อเสนอชาวพุทธชายแดนใต้ ขอส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม
กรณีฮิญาบอนุบาลปัตตานีที่สะท้อนภาวะความหวาดระแวงและการปกป้องพื้นที่ทางอัตลักษณ์อย่างเข้มข้นของคนต่างศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในหมู่คนพุทธ ทำให้น่าคิดว่าความรู้สึกและข้อเรียกร้องของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งจัดเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ในดินแดนปลายด้ามขวานที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนั้น พวกเขามีความต้องการอะไรบ้าง
11 พ.ค.61 ก่อนเกิดกรณีฮิญาบอนุบาลปัตตานี มีความเคลื่อนไหวรวบรวมข้อเสนอของคนพุทธชายแดนใต้ ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 101 ปี พระอาจารย์ทิม ณ วัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมี พระสิริจริยาลังการ (เจ้าคุณชรัช) เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย พระมหาบุญมา ผู้แทนเจ้าคณะจังหวัดยะลา และ พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ผู้แทนเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ร่วมเป็นสักขีพยานในกิจกรรมเล็กๆ ของพี่น้องชาวพุทธปลายด้ามขวาน
กิจกรรมที่ว่านี้ก็คือการร่วมรับฟังความคิดเห็นของคนพุทธในพื้นที่ โดยกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) และคณะนักวิชาการ ตลอดจนนักวิจัยจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงชาวพุทธบางส่วนจากกรุงเทพฯ ที่มีความห่วงใยในสถานการณ์ความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อร่วมกันทำงานในพื้นที่ในลักษณะเครือข่ายชาวพุทธ
กิจกรรมที่ผ่านๆ มาคือเยี่ยมเยือน ให้กำลังใจ และร่วมรับฟังความคิดเห็นของชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 4 ปี จนสามารถรวบรวมเป็นเอกสารข้อห่วงใยและข้อเสนอในเชิงนโยบายของกลุ่มชาวพุทธ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปลอดภัยในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้
โอกาสนี้ ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้แทนจาก คปต.ส่วนหน้า (ฝ่ายเลขาฯของผู้แทนพิเศษของรัฐบาล) ได้รับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มคนพุทธ ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้
1.ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ต้องไม่ละเลยมิติความรู้สึกของชาวพุทธ และยอมรับว่าเสียงของชาวพุทธจะมีผลต่อข้อตกลงสันติภาพที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต
2.คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขควรให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพอย่างกว้างขวาง
3.คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขควรแสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มศาสนิก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย
นี่คือข้อเสนอในภาพรวมของคนพุทธชายแดนใต้ ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่ม กทส.ที่มีต่อรัฐบาล ในประเด็นศาสนสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ได้แก่
1.ขอให้ทำการสำรวจข้อมูลประชากรพุทธอย่างเป็นทางการเพื่อให้ได้ทราบจำนวนที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ตรงกัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการอ้างถึงจำนวนชาวพุทธในหลายชุดข้อมูล ทำให้มีบางกลุ่มที่ไม่หวังดีนำไปกล่าวอ้างว่ากลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกำลังประสบความสำเร็จในการขับไล่ชาวพุทธออกจากพื้นที่
2.ขอให้สร้างกิจกรรมส่งเสริมพหุวัฒนธรรมนิยม โดยขอให้นำหลักสูตร "ทักษะวัฒนธรรม" แปรไปสู่การปฏิบัติ โดยหลักสูตรนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นและดำเนินการจัดอบรมให้กับคนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 10 ปีแล้วโดยศูนย์ข่าวสารสันติภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมผ่านศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
3.ขอให้ปรับปรุงหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้ส่งเสริมการสร้างสังคมที่นิยมพหุวัฒนธรรม โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ให้มีเนื้อหาเป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น รวมทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชน และการเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และให้มีการออกแบบจัดการเรียนการสอนรายวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนต่างศาสนาและวัฒนธรรม
4.ขอให้ภาครัฐแสดงจุดยืนและปฏิบัติต่อทุกชุมชนศาสนาและชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบาย แผนงาน และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
5.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งในมิติด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านโอกาสทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ ตลอดจนมิติทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย
ขณะที่เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่นำโดย รักชาติ สุวรรณ ได้นำข้อเสนอบางส่วนจากการรวบรวมเก็บข้อมูลเชิงลึกในชุมชนต่างๆ มานำเสนอด้วย โดยเฉพาะประเด็นพหุวัฒนธรรม มีการเสนอให้ออกแบบระบบการศึกษาในพื้นที่ให้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น โดยใช้หลักการ "บวรม" คือ บ้าน วัด โรงเรียน และมัสยิด