ใครว่าถึงหมื่น?ชำแหละเงินเดือน‘ทหารเกณฑ์’ได้เท่าไหร่-ช่องโหว่ระบบใหม่‘จ่ายตรง’
“…ถ้าพิจารณาในข้อเท็จจริง แม้จะให้ทหารเกณฑ์ไปเปิดบัญชีเงินฝาก และทำบัตรเอทีเอ็ม แต่ถ้ายังมี ‘จ่ากองร้อย’ หัวใสบางนาย ‘ยึด’ บัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มทหารเกณฑ์ไว้ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันทหารเกณฑ์หลบหนี หรือขอลากลับบ้านเยี่ยมญาติ หากมีบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มติดตัวไว้ อาจไม่ยอมกลับมาค่ายอีก เพราะยังไงก็ได้รับเงินเดือนผ่านบัญชีดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงหากเจอทหารเกณฑ์หลบหนี สามารถทำเรื่อง ‘จำหน่ายหนี’ ได้ และทหารเกณฑ์รายนั้นจะถูกขึ้นบัญชีดำไว้ เงินเดือนจะไม่ถูกจ่ายเข้าบัญชีแต่อย่างใด ?...”
เข้าสู่เดือนที่สอง สำหรับการฝึกทหารกองประจำการผลัดใหม่ 1/2561 ที่ตามระเบียบกองทัพบกจะต้องทำการฝึกประมาณ 10 สัปดาห์ หรือราว 2 เดือนเศษ (ผลัดที่ 1 เริ่มต้นฝึกวันที่ 1 พ.ค. ผลัดที่ 2 เริ่มต้นฝึกวันที่ 1 พ.ย.)
ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานถึงสภาพความเป็นอยู่ และเบื้องลึกเบื้องหลังบางส่วนของชีวิต ‘ทหารเกณฑ์’ สังกัดกองทัพบก ในค่ายกองพันทหารราบแห่งหนึ่งมาแล้วว่า นอกเหนือจากการปรับสภาพชีวิต การปรับปรุงลักษณะทหาร และการ ‘โดนซ่อม’ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร หนักหนาสาหัสขนาดไหน (อ่านประกอบ : ซื้อของกินร้านP.X.-จับกลุ่มนินทาครูฝึก! 'ความสุข'ทหารใหม่อยู่ตรงไหน?, เปิดละเอียด! กิจวัตรทหารใหม่ 10สัปดาห์แรกทำอะไร-ทำไมกลัวเสียงนกหวีด?, เจาะโครงสร้างฝึกทหารใหม่ 'โดนซ่อม' เกิดขึ้นได้อย่างไร-ทำไม ทบ.กังวลภาพหลุด?)
ที่น่าสนใจกว่าคือ ตกลงแล้วทหารกองประจำการ ได้รับเงินเดือน+เบี้ยเลี้ยง ประมาณ 1 หมื่นบาท ตามที่ ‘บิ๊ก’ ในกองทัพออกมาการันตีจริงหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากอดีตทหารเกณฑ์หลายราย สังกัดกองทัพบก ในค่ายกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง ยืนยันว่า เงินเดือนที่พวกเขาได้รับแต่ละเดือน โดยรวมแล้วเฉลี่ยประมาณ 6,600-7,000 บาท
ไม่ถึง 1 หมื่นบาทตามที่ ‘บิ๊ก’ ในกองทัพกล่าวอ้าง ?
จากการตรวจสอบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากรายละเอียดเกี่ยวกับเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะของทหารเกณฑ์ ‘แบบเป๊ะ ๆ’ เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘ลึกลับดำมืด’ ในค่ายทหาร ไม่มีทหารเกณฑ์นายใดกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถาม
สำหรับเงินเดือนของทหารเกณฑ์ หากเป็น 2 ปีตามกำหนด ช่วง 1 ปีแรก จะได้รับเงินเดือนประมาณ 3,400 บาท ส่วนค่าครองชีพประมาณ 3,600 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท คิดคำนวณเบ็ดเสร็จ ตกเดือนละประมาณ 9,880 บาท ส่วนในปีที่ 2 จะได้รับเงินเดือนประมาณ 3,600 บาท ค่าครองชีพประมาณ 3,400 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท ตกเดือนละ 9,880 บาทเช่นเดิม สลับกันเพิ่ม-ลดแค่เงินเดือน-ค่าครองชีพเท่านั้น
เบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท เมื่อหักค่าข้าวของสูทกรรม หรือโรงเลี้ยง ที่ตกวันละ 60 บาท จะเหลือเบี้ยเลี้ยงวันละ 36 บาท เดือนหนึ่งจะถูกแบ่งจ่ายออกเป็น 3 งวด งวดละ 10 วัน เท่ากับว่าทหารเกณฑ์ ได้เบี้ยเลี้ยง งวดละ 360 บาท รวม 3 งวดเป็นเงินประมาณ 1,080 บาท
นอกจากนี้ในแต่ละเดือนยังมีการหักค่างานศพด้วย อย่างน้อยเดือนละ 10 บาท รวมถึงหักเงินเพื่อนำไปฝากเก็บไว้ และจะได้รับหลังปลดประจำการ ตรงนี้ไม่เหมือนกัน ตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 200-500 บาท แล้วแต่นโยบายของผู้บังคับบัญชา
เมื่อคำนวณแล้วจากเดิมที่ได้เงินเดือน+เบี้ยเลี้ยงรวมประมาณ 7,000 บาท เบี้ยเลี้ยงเหลือเดือนละ 1,080 บาท เป็น 8,080 บาท หักค่างานศพ และค่าหักฝากประจำแล้ว เฉลี่ยเหลือเดือนละประมาณ 7,500 บาท
แต่เงินเดือนที่ได้รับจริงกลับเหลือประมาณเดือนละ 6,600-7,000 บาทเท่านั้น และไม่มีทหารเกณฑ์นายใดทราบว่า เงินส่วนต่างตรงนี้หายไปไหน ?
อย่างไรก็ดียังมีบางกรณี เช่น ทหารเกณฑ์บางรายปฏิบัติตัวไม่อยู่ในระเบียบวินัย หรือถูกลงโทษอยู่ ก็อาจมีการจ่ายเงินไม่ครบตามจำนวน หรือบางครั้งไม่จ่ายเลยก็มี
หรืออาจเป็นไปได้ว่า มีการหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือมีการคิดคำนวณอัตราเงินอื่น ๆ เข้ามาอีก ซึ่งระดับทหารเกณฑ์ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือเข้าไปยุ่มย่ามเรื่องเหล่านี้ได้
หากจำแนกรายละเอียดให้ลึกไปอีก พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของการฝึกทหารใหม่ ผู้ฝึก (นายทหารชั้นสัญญาบัตร ที่เป็นผู้ควบคุมการฝึกทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากการสอบเลื่อนชั้นจากชั้นประทวน ยศร้อยตรี-ร้อยเอก แล้วแต่นโยบายของกองพันนั้น ๆ) จะเป็นผู้คิดคำนวณหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงค่าเสื้อผ้า-อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเบิกให้ทหารใหม่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น ชุดฝึก เสื้อกองทัพบก (อย่างน้อย 7-10 ตัว) กางเกงขาสั้น (ยี่ห้อแบงแบง อย่างน้อย 3-4 ตัว) กางเกงขาสั้นสีเขียว (เรียกกันว่า กางเกงเป็ดน้อย อย่างน้อย 2 ตัว) รองเท้าคอมแบต (อย่างน้อย 2 คู่) และจิปาถะอื่น ๆ เช่น กระเป๋า (แล้วแต่นโยบายผู้ฝึกเป็นคนกำหนดซื้อเพิ่มเติม นอกเหนือระเบียบกองทัพบก และทหารเกณฑ์ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง เพราะผู้ฝึกหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว)
นอกจากนี้จะรวมในส่วนการหักจากค่าใช้จ่ายในร้านค้าสวัสดิการกองทัพ หรือ P.X. ตรงนี้แล้วแต่ทหารเกณฑ์เองว่า กินอะไรไปเยอะแค่ไหน หรือซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวไปเท่าไหร่
เบ็ดเสร็จช่วง 2 เดือนแรก จะได้เงินรวมประมาณ 2,000-6,000 บาท ตรงนี้แล้วแต่นโยบายผู้ฝึกว่า จะซื้อของแบบไหนมาบ้าง ราคาเท่าไหร่ แต่ละผลัดไม่เหมือนกัน
เน้นย้ำว่า 2 เดือนแรกได้เงินรวมประมาณ 2,000-6,000 บาท ไม่ใช่เดือนละ 2,000-6,000 บาท
หลังจากนั้นหากเป็นตาม ‘ระบบเดิม’ เมื่อแยกย้ายขึ้นกองร้อย ‘จ่ากองร้อย’ (เป็นผู้บริหารจัดการเงินภายในกองร้อย และดูแลเรื่องเอกสารทางราชการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยศตั้งแต่ จ่าสิบตรี ถึงชั้นร้อยโท) จะเป็นผู้ควบคุมการเงินของทหารเกณฑ์ทั้งหมด และเพื่อสนับสนุน ‘ระบบใหม่’ ของกองทัพ เบื้องต้นจะให้ทหารเกณฑ์ไปเปิดบัญชีธนาคารกับธนาคารทหารไทย สาขาที่ใกล้ค่ายมากที่สุด 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีเงินเดือน+ค่าครองชีพ และบัญชีฝากประจำที่ถอนได้เมื่อปลดประจำการ พร้อมกับทำบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบผูกกับบัญชีเงินเดือน+ค่าครองชีพ โดยได้รับตามอัตราข้างต้น
แต่ ‘จ่ากองร้อย’ จะเป็นผู้ยึดบัญชีธนาคาร และบัตรเอทีเอ็มไว้ทั้งหมด ?
ขั้นตอนการเบิกเงินเดือน+ค่าครองชีพ+เบี้ยเลี้ยงนั้น ‘จ่ากองร้อย’ จะเป็นผู้บริหารจัดการ คิดคำนวณ และทำเรื่องเบิกกับผู้บังคับบัญชาเอง ก่อนจะเป็นผู้แจกจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ภายในกองร้อยนั้น ๆ
ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ออกมาระบุว่า ได้ประกาศใช้ ‘ระบบใหม่’ ตามโครงการจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ซึ่งจะจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเงินฝากของทหารเกณฑ์แล้ว ยกเว้นค่าเบี้ยเลี้ยงที่ ‘จ่ากองร้อย’ จะต้องเป็นผู้ทำเรื่องเบิกเหมือนเดิม (อ่านประกอบ : กรมบัญชีกลางจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการ เริ่มเดือน มิ.ย. 61)
หากมองผิวเผิน นับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการโอนเข้าบัญชีทหารเกณฑ์โดยตรง จะทำให้ส่วนต่างที่ ‘ลึกลับดำมืด’ ที่ค้างคาใจทหารเกณฑ์มาหลายผลัดหายไปเสียที
แต่ถ้าพิจารณาในข้อเท็จจริง แม้จะให้ทหารเกณฑ์ไปเปิดบัญชีเงินฝาก และทำบัตรเอทีเอ็ม แต่ถ้ายังมี ‘จ่ากองร้อย’ หัวใสบางนาย ‘ยึด’ บัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มทหารเกณฑ์ไว้ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันทหารเกณฑ์หลบหนี หรือขอลากลับบ้านเยี่ยมญาติ หากมีบัญชีเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มติดตัวไว้ อาจไม่ยอมกลับมาค่ายอีก เพราะยังไงก็ได้รับเงินเดือนผ่านบัญชีดังกล่าวอยู่แล้ว
ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงหากเจอทหารเกณฑ์หลบหนี สามารถทำเรื่อง ‘จำหน่ายหนี’ ได้ และทหารเกณฑ์รายนั้นจะถูกขึ้นบัญชีดำไว้ เงินเดือนจะไม่ถูกจ่ายเข้าบัญชีแต่อย่างใด ?
ตรงนี้เป็น ‘ช่องโหว่’ สำคัญ ที่กองทัพจะต้องเข้าไปสะสาง หากพบ ‘จ่ากองร้อย’ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติการณ์แบบนี้ จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร หากจะให้ทหารเกณฑ์เป็นผู้ร้องเรียน บอกตามตรงว่าคงไม่มีใครกล้าแตกแถว เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ‘สถานะ’ ของทหารเกณฑ์ในค่ายนั้นเป็นเช่นไร ?
อีกหนึ่งโจทย์สำคัญ ที่กองทัพจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็ว !
อ่านประกอบ : โชว์หนังสือห้ามถ่ายคลิปซ่อมทหาร-ทำร้ายร่างกาย ปฏิบัติการกู้ภาพลักษณ์ ทบ.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบสติ๊กเกอร์ไลน์ จาก Sticker Line - สติ๊กเกอร์ทหาร KOREAN ARMY SPECIAL