แม้หนทางจะยาวไกล จงต่อสู้ไปอย่างเบิกบาน!ปอกเปลือก บก.ลายจุด ทำไมต้องพรรคเกรียน?
“ผมเป็นสภาพแวดล้อม กระตุ้นพวกคุณ พวกอนาคตใหม่ โดนผมแหย่หนักแน่ พวกนี้เขาจะไปได้ไกลกว่านี้ถ้ามีพรรคเกรียน เพราะถ้าพรรคเกรียนยังทำได้ อนาคตใหม่ก็ต้องทำได้ หรือสามัญชนก็ต้องทำได้ และผมจะอยู่อีกนาน ผมจะกลายเป็นจุลินทรีย์ในท้องถิ่น หากพรรคเกรียนไม่สำเร็จ ผมจะไปสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมจะวุ่นวายอยู่ในระบบการเมือง หากวันใดวันหนึ่งระบบการเมืองมันเสถียรภาพและเกิดความน่าเบื่อ จะต้องมีคนอยากให้พรรคเกรียนกลับมา”
(สมบัติ บุญงามอนงค์, ภาพจาก : จักรพันธ์ ทองดี)
หากเอ่ยถึงชื่อ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คนที่สนใจด้านการเมืองจริง ๆ มีน้อยนักที่จะไม่รู้จัก เพราะในห้วง 10 ปีแห่งวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ต้องปรากฏชื่อบุคคลนี้ ไม่ว่าจะในนาม ‘บก.ลายจุด’ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า ‘หนูหริ่ง’ เข้าไปเกี่ยวข้องผ่านพาดหัวของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ
‘สมบัติ’ หรือที่ใครหลายคนเรียกขานว่า ‘แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง’ คือนักกิจกรรมทางการเมืองตัวยง มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ช่วงปลายยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว ขณะนั้น บก.ลายจุด เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลนายทักษิณอย่างถึงพริกถึงขิงคนหนึ่ง
อย่างไรก็ดีจุดเปลี่ยนที่เห็นต่างกับนักวิชาการหลายคนตอนนั้นคือ ‘สมบัติ’ เป็นหนึ่งในนักวิชาการส่วนน้อย ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 ของ ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) โดยเห็นว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของปัญหาในทางการเมือง
ส่งผลให้ ‘สมบัติ’ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกมาจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารปี 2549 เรื่อยมา จนถึงช่วงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552 และพีคสุดขีดในปี 2553 ‘สมบัติ’ ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นหนึ่งในบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง และเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ในช่วงเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ‘สมบัติ’ และพรรคพวก ได้จัดตั้งเวทีเฉพาะกิจขึ้นเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือ เข้าไปรวมกับผู้ชุมนุมที่ติดอยู่ใจกลางวงล้อมของทหาร-หน่วยงานความมั่นคง นัยว่าเพื่อลดการสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้น
หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ‘นองเลือด’ ไม่กี่วัน ‘เป้’ วาด รวี นักคิด/นักเขียนชื่อดัง บก.นิตยสารอันเดอร์กราวด์ บูเลนทิน จำกัดใจความไว้ว่า มีแต่ ‘ความเงียบ’ เกิดขึ้น ไม่มีใครพูดถึงเรื่องราวที่มีทหาร-หน่วยงานความมั่นคงเข้าไปล้อมปราบคนเสื้อแดงอย่างโหดเหี้ยม ตายนับร้อยศพ ?
‘สมบัติ’ คือคนเสื้อแดงคนแรก ที่เข้าไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์’ ท่ามกลางฝุ่นควัน เขม่าดินปืน และคราบเลือดยังคงมีอยู่โดยทั่วไป ส่งผลให้โดนฝ่ายความมั่นคงเข้าจับกุม และคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารนานถึง 2 สัปดาห์
บิดเข็มนาฬิกามาในช่วงรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘สมบัติ’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูก คสช. ‘หมายหัว’ เป็นคนแรก ๆ แต่ ‘สมบัติ’ ได้เร้นกายหลบหายไปซ่อนตัว พร้อมกับโผล่มาทางโซเชียลมีเดีย ปลุกมวลชนให้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารเป็นระยะ เช่น กิจกรรมชูสามนิ้ว เป็นต้น กระทั่งถูกฝ่ายความมั่นคงบุกจับกุม และถูกกร้อนผม คุมตัวเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร
วันแรกที่ทหารคุมตัว ‘สมบัติ’ ออกมาสู่สาธารณชน เขาได้ชูสัญลักษณ์ ‘นกพิราบ’ โดยการไขว้มือสองข้างหันหลังมือออกที่กลางอก นัยว่าเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่งต่อการรัฐประหารครั้งนี้ รูปดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ และสื่อเกือบทุกแห่ง จนกลายเป็นภาพจดจำของประชาชนโดยทั่วไป
และตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความเกรียน’ จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘พรรคเกรียน’
พรรคเกรียนคืออะไร-ทำไม ‘สมบัติ’ ถึงเปิดหน้าพร้อมกระโจนลงสนามการเมือง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2561 ที่ร้านบุหลันดั๊นเมฆ แถว ถ.นราธิวาส พระราม 3 กทม. จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘ปรัชญาเกรียน’ เขียนโดย ‘ป่าน’ ธิติ มีแต้ม สื่อมวลชนสังกัดสำนักข่าว 101world หนังสือเล่มนี้นับเป็นการสัมภาษณ์ ‘สมบัติ’ แบบหมดเปลือกเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีบทสัมภาษณ์เชิงเจาะลึกมา
ธิติ เล่าว่า เหตุผลที่ทำหนังสือดังกล่าว เกิดจากสเตตัสหนึ่งในเฟซบุ๊กของ ‘สมบัติ’ ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2557 ระบุว่า “แม้หนทางจะยาวไกล จงต่อสู้ไปอย่างเบิกบาน” นับเป็นแรงบันดาลใจที่อยากสัมภาษณ์ว่า เหตุใดชายผู้นี้ ถึงมีแนวคิดแบบนี้ได้ ท่ามกลางคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่รู้สึกผิดหวังทางการเมืองเพราะเหตุการณ์รัฐประหาร
(ซ้าย: วาด วรี-ขวา: ธิติ มีแต้ม, ภาพจาก : จักรพันธ์ ทองดี)
เขาเปรียบ ‘สมบัติ’ ว่า เหมือน ‘หิ่งห้อย’ ที่มีแสงสว่าง
“หลังรัฐประหาร เรากำลังมองหาว่าความหวังทางการเมืองอยู่ตรงไหน เราจะเห็นข้อถกเถียงจำนวนมากที่ค่อนข้างซีเรียส ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเชียร์เผด็จการ ข้อถกเถียงที่รุนแรง แต่การมีอยู่ของพี่หนูหริ่ง ย้อนกลับไปว่า ไม่ใช่ว่าเราเถียงกันเพื่อต้องการสังคมแบบไหน ไม่ใช่คุยกันแบบเอาเป็นเอาตายว่าประเทศควรปกครองอย่างไร แม้ว่าการคุยแบบนั้นจะดี แต่ประโยชน์ของพี่หนูหริ่งคือการฉายแสง เหมือนหิ่งห้อย เพราะไม่ใช่คุยเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า คน ๆ หนึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างไร เช่น การจัดการแก้ไขปัญหาขยะ เป็นต้น”
เขา ระบุว่า คนอย่าง ‘สมบัติ’ คือคนที่ ‘อยู่เป็น’ ในความหมายที่ว่า ‘อยู่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม’ เพราะหากมองเรื่องการจัดตั้งพรรค หรือมองหาพรรคการเมืองที่เป็นความหวัง ไม่ใช่แค่การแก้โจทย์ใหญ่ของประเทศ อย่างเช่น คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ (อดีต รมว.คมนาคม ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่พูดถึงเรื่องระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่คนอย่าง ‘สมบัติ’ พูดเรื่องปัญหาใกล้ตัว เช่น การแก้ไขปัญหาขยะ การทำเรื่องข้าว เพื่อช่วยให้คนอื่นเข้าใจในระบบเศรษฐกิจที่อยู่กับปากท้อง และมีผลกับชีวิตทุกคน เป็นต้น
ธิติ ยืนยันว่า สิ่งที่ ‘สมบัติ’ สร้างประโยชน์ไว้ในทางการเมืองรัฐประหารปี 2557 มีอย่างน้อย 2+1 ได้แก่
หนึ่ง คำพูดว่า “แม้หนทางจะยาวไกล จงต่อสู้ไปอย่างเบิกบาน” ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 มั่นใจว่าไม่มีใครที่เรารู้สึกเป็นความหวังทางการเมือง หลุดกับดักความมืด ความสิ้นหวัง หรือต้านเผด็จการ จะมีใครพูดประโยคแบบนี้บ้าง เพราะประโยคนี้หากตัดเรื่องการเมืองออกไป มันคือประโยคที่เป็นโจทย์ว่า ควรจะใช้ชีวิตอย่างไรด้วย ดังนั้นการ ‘อยู่เป็น’ แบบ ‘สมบัติ’ จึงถูกพิสูจน์ว่า แม้จะถูกอายัดบัญชีเงินฝาก โดนฟ้องสารพัดคดี หรือติดคุก แต่ ‘สมบัติ’ เป็นมนุษย์ที่เรียกได้ว่า ‘สุภาพบุรุษ’ คนหนึ่ง
สอง วินาทีที่ถูกจับ อะไรทำให้ ‘สมบัติ’ แสดงสัญลักษณ์รูปนกมาแนบหน้าอกได้ เนี่ยแหละที่ผมคิดว่าคือโคตรของคำว่า ‘อยู่เป็น’
สาม เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวหน่อย ลูกสาวของผมชื่อ ‘เวลา’ ของขวัญที่ได้จากญาติชิ้นหนึ่งภายหลังการแต่งงานคือนาฬิการูป ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่ของจริงไม่มีอีกแล้ว ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ผมรู้สึกดีมาก เมื่อพบว่า คนต้นคิดเรื่องทำนาฬิการูปแบบนี้คือ ‘สมบัติ’ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ได้คุยกับเขาเป็นเรื่องเป็นราว จนหลังแต่งงาน จึงตั้งชื่อลูกว่า ‘เวลา’ พอโตขึ้นเลยไม่ลังเลว่า นี่อาจเป็นมรดกชิ้นเดียวที่จะทิ้งไว้ให้ลูก เพื่อให้รู้ว่าชื่อของลูกมีที่มาที่ไปอย่างไร
สำหรับ ‘ปรัชญาเกรียน’ ในความหมายของ ‘ธิติ มีแต้ม’ คืออะไร ?
“กลับไปสเตตัสแรกภายหลังการรัฐประหาร “แม้หนทางจะยาวไกล จงต่อสู้ไปอย่างเบิกบาน” ตัดเรื่องทัศนะทางการเมือง ถ้าประเทศไม่มีรัฐประหาร หนทางจะยาวไกลนั้น พบว่า เขาทำหน้าที่สะกิดจิตใต้สำนึกของคุณ แม้คุณไม่สนใจการเมืองว่า ทหารทำไปเพื่ออะไร ระบบสังคมเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่การต่อสู้อย่างเบิกบาน คือคุณต้องมีชีวิต นี่คือคำว่า ‘เกรียน’ มันไม่ใช่แค่เรื่องว่า คุณอยากอยู่ในระบบการเมืองแบบไหน แต่อยู่ว่าคุณมีชีวิตแบบไหน และทำประโยชน์ให้กับสังคมยังไง มันชัดเจนตามความหมายนั้น”
(ซ้าย: วาด วรี-ขวา: ธิติ มีแต้ม, ภาพจาก : จักรพันธ์ ทองดี)
ส่วนการจัดตั้ง ‘พรรคเกรียน’ มีเหตุผลอะไรในทางการเมือง ?
สมบัติ เล่าว่า พรรคการเมืองอื่นอาจจริงจัง แต่ว่าพรรคเกรียนเอาแน่เอานอนไม่ได้ แม้จะมีความจริงจังแต่ว่าไม่สามารถอยู่ในสถานะจริงจังเหมือนคนอื่นที่อยากเป็นนักการเมือง ไปเข้าสภา เช่น พรรคอนาคตใหม่ เขาจริงจังมาก ส่วนพรรคเกรียน เราฝันถึงการมีพรรค และลองทำพรรคแบบมวลชน
“เหมือนขึ้นเขา ทางขึ้นมีหลายแบบ แต่ผมเสนอวิธีขึ้นในทางที่ผมเดิน ไม่แน่ว่าจะทำพรรคสำเร็จหรือไม่ หรือหากสำเร็จก็ไม่แน่ว่าจะหาสมาชิกพรรคได้ครบหรือไม่ หรือหากครบ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ที่นั่งในสภาหรือไม่ ถ้าจะเลือกพรรคนี้ เลือกเสร็จ อาจปั้นไม่สำเร็จ อาจอกหัก ตรงนี้คนที่เลือกยอมรับความพ่ายแพ้ได้หรือไม่”
เขา ยืนยันว่า สาเหตุหลักที่จัดตั้งพรรคเกรียน เกิดขึ้นเพราะข้ออ้างการในการทำ ‘รัฐประหาร’ ครั้งสำคัญอย่างน้อย 3 ครั้งในชีวิตเขา ได้แก่ รัฐประหารปี 2534 รัฐประหารปี 2549 และล่าสุดรัฐประหารปี 2557
“ข้ออ้างตอนนั้นคือบอกว่า นักการเมืองมันกินประเทศจนฉิบหาย จนถึงวันนี้คนไทยจำนวนหนึ่งยอมรับว่า ทหารต้องเข้ามา เพราะพรรคการเมือง นักการเมืองมันห่วย ดังนั้นถ้าอยากได้พรรคดี เราจะทำให้ดูว่าทำยังไง เราจะทำพรรคโดยไม่ต้องใช้เงิน คนสงสัยว่า ไม่มีเงินจะทำพรรคยังไง ผมคิดว่า ผมยังเอาตัวเองรอดได้ และเราจะใช้ความจำกัด ภายใต้ความจำกัดอันมหาศาล จะบริหารจัดการ ทำสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดปรากฏการณ์ได้”
แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งหนังสือให้พรรคเกรียนเปลี่ยนชื่อก็ตาม เนื่องจากชื่อเดิมไม่สามารถจดแจ้งได้ สมบัติ ยืนยันว่า ไม่ว่าท้ายสุดพรรคเกรียนจะได้รับการจดแจ้งในระบบของ กกต. หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ พรรคเกรียน ได้ปรากฏในสังคมแล้ว นี่คือคุณค่าของเราว่า จะทำอย่างนี้แหละ
“หลายคนคิดว่าทำเล่น แต่ผมทำจริง ทำการเมืองแบบนี้ ต่อให้บอกว่าเล่น ๆ แต่ไม่ใช่เล่น ๆ ในความหมายผม เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ กินชีวิตไปครึ่งหนึ่งแล้ว ไม่มีเวลาว่างทำธุระอื่นเลย และผมยังเอากับมันอยู่ คำว่าเล่น ๆ ไม่ได้แปลว่าไม่เอาจริง แต่จะทำแบบดูเหมือนไม่เป็นทางการ ไม่ตามระเบียบเดิม เหมือนที่พรรคการเมืองเดิม ๆ ทำอยู่ จะตีความหมายว่า ไม่อยู่ในรูปแบบของพรรคการเมืองเดิม”
(สมบัติ บุญงามอนงค์, ภาพจาก : จักรพันธ์ ทองดี)
สมบัติ อธิบายว่า การตั้งใจทำพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าอยากได้ที่นั่งในสภา หรือเป็นรัฐบาล มันเป็นกับดักทางการเมืองที่สำคัญ
“เมื่อเข้าสภา คุณไม่ได้อยากเป็นแค่ ส.ส. แต่คุณอยากเป็นรัฐบาล เมื่อเป็นรัฐบาลก็อยากเป็นรัฐมนตรี เมื่อเป็นรัฐมนตรี ก็อยากเป็นนายกรัฐมนตรี มันเป็นกับดักทั้งหมดเลย”
คำถามสำคัญคือ ถ้าทำพรรคแล้วไม่ต้องการที่นั่งในสภา จะทำไปทำไม ?
สมบัติ ยืนยันว่า ทำเพราะอยากทำ ไม่ใช่อยากมีอำนาจ เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีคนด่านักการเมืองเป็นหมู เป็นหมา พอทำแล้วมีวิธีบริหารจัดการต่างกับนักการเมืองที่ถูกด่า เพื่อเป็นทางเลือกอื่น ๆ ให้ จะเลือกหรือไม่ ผมเชื่อว่าก็ไม่มีใครเลือกอยู่ดี อาจเป็นเพราะผมถูกผูกติดกับความเป็นคนเสื้อแดง หรืออาจเป็นแนวคิดของคนส่วนใหญ่ เหมือนเชียร์ฟุตบอล คนส่วนใหญ่จะเชียร์ทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์ และอยากเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับแชมป์
นโยบาย ‘ไม่เน้นหาเสียง เน้นหาเรื่อง’ สมบัติ บอกว่า นี่เป็นเรื่องซีเรียส ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่อยู่ระหว่างการตั้งสมมติฐาน และเริ่มทดลองสูตรทางการเมืองต่าง ๆ ถ้าหลักการใช่ แม้ไม่มีอะไรเลย แต่มีอะไรบางอย่างที่มีพลัง สามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ สามารชนะได้ เพราะการส่ง Message (ข้อความ) บางอย่างมันสามารถดีลกับคนในสังคมได้
สมบัติ เชื่อว่า หลักการหนึ่งของพรรคเกรียนคือ การใช้ ‘แรงศัตรูล้มศัตรู’ เปรียบเสมือนการเล่น ‘ยูโด’ ถ้าเอาแรงเหวี่ยงของศัตรูมาจัดการในมุมกลับก็ทำให้ชนะได้ ตรงนี้คือสิ่งที่จะพิสูจน์ให้ได้ว่า ทำให้พรรคเกรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิด ‘แรงกระเพื่อม’ ทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องวัดจากที่นั่งในสภา
“เป้าหมายหลักของพรรคเกรียนคือนำสังคมไทยก้าวสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ที่นั่งในสภา”
(สมบัติ บุญงามอนงค์, ภาพจาก : จักรพันธ์ ทองดี)
เขา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาแม้พรรคเกรียนไม่ประสบความสำเร็จ และจะได้เลิกกังขา หรือค้างคากับตัวเอง เพราะตัวเองเป็นคนเปิดรับความล้มเหลวนี้ตั้งแต่ต้น
สมบัติ ทิ้งท้ายคำถามของ วาด รวี ที่ว่า ถ้าไม่แคร์จำนวนเสียง หรือที่นั่งในสภา แล้วจะตั้งพรรคเกรียนทำไม ?
“ผมเป็นสภาพแวดล้อม กระตุ้นพวกคุณ พวกอนาคตใหม่ โดนผมแหย่หนักแน่ พวกนี้เขาจะไปได้ไกลกว่านี้ถ้ามีพรรคเกรียน เพราะถ้าพรรคเกรียนยังทำได้ อนาคตใหม่ก็ต้องทำได้ หรือสามัญชนก็ต้องทำได้ และผมจะอยู่อีกนาน ผมจะกลายเป็นจุลินทรีย์ในท้องถิ่น หากพรรคเกรียนไม่สำเร็จ ผมจะไปสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมจะวุ่นวายอยู่ในระบบการเมือง หากวันใดวันหนึ่งระบบการเมืองมันเสถียรภาพและเกิดความน่าเบื่อ จะต้องมีคนอยากให้พรรคเกรียนกลับมา”
นี่คือความในใจของ ‘สมบัติ’ บุรุษผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมาหลายสิบปี ผู้ตั้งความหวังเข้าไป ‘เขย่า’ เสถียรภาพอะไรบางอย่างทางการเมือง เพื่อหวังให้สังคมตั้งคำถามถึงประชาธิปไตย มากกว่าจำนวนเก้าอี้ของ ส.ส. ในสภาของพรรคที่ตัวเองเชียร์-ชอบ
ส่วนเบื้องลึก-ฉากหลังในการจัดตั้งพรรคนี้คืออะไร มีนายทุน-ท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างกระจ่างแจ้งชัด ?
อย่างน้อยที่สุด ‘สมบัติ’ เสมือนความหวังของคนบางกลุ่มที่รักประชาธิปไตย ราว ‘หิ่งห้อย’ ที่แม้เปล่งแสงได้น้อยนิด ท่ามกลางความมืดมิดของการเมืองไทย
แต่อย่างไร ‘แสงสว่าง’ ย่อมเป็น ‘แสงสว่าง’ มิเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณภาพจาก : นายจักรพันธ์ ทองดี