7 วันถึงมือ อธิบดีสถ.ยันไม่ล่าช้า ส่งเงินอาหารกลางวันเด็กให้รร.สังกัดสพฐ.
สั่ง อปท. ภายใน 7 วัน ส่งเงินให้โรงเรียนหมดอย่าเก็บไว้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยันไม่ล่าช้า โอนเงินอาหารกลางวันเด็กให้รร.สังกัดสพฐ. ระบุมีขั้นตอนการปฏิบัติต้องทำโครงการมาขอรับเงินอุดหนุน ระบุจำนวนเด็ก ยอดรวม และแนบรายการอาหารมาด้วยยิ่งดี พร้อมรับปากภาคีเครือข่ายผลักดันให้มีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นเกิดขึ้น ตั้งเป้าอย่างน้อยอำเภอละ 1 คน
วันที่ 17 มิถุนายน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "การบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียนให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ" ณ โรงแรมอเล็กซานเดอร์ กรุงเทพ โดยมีบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 400 คนร่วมฟัง
ภายหลังการเสวนา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก ในแต่ละปี รัฐบาลปรารถนาดีอยากให้เด็กได้สารอาหารครบถ้วน งบประมาณปีละมากกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกลับมีข่าวไม่สู้ดีในหลายๆจุดของประเทศที่จัดหาอาหารไม่มีคุณภาพได้กับเด็ก
"จากการหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สสส.และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับคิดระบบ Thai School Lunch กระจายทุกโรงเรียนในสังกัดอปท.และโรงเรียนสังกัดสพฐ.ในอนาคต"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงข้อเสนอที่ได้จากการพูดคุย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรับมา คือ การจะผลักดันให้มีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นเกิดขึ้น ขั้นต้น ตั้งเป้าอย่างน้อยอำเภอละ 1 คน และเป้าหมายสูงสุดอยากให้อปท.มีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นละ 1 คน เพื่อช่วยเหลือและแนะนำเรื่องโภชนาการให้แก่ครู ผู้บริหาร และชุมชน
นอกจากนี้ อธิบดีสถ. กล่าวถึงโปรแกรม Thai School Lunch ที่เปรียบเหมือนเมนูอาหาร 4.0 นั้น ได้กำชับให้อปท.ถือปฏิบัติ รวมถึงการปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน
"ขณะนี้กรมส่งเสริมฯ ตระหนักดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เด็กถูกผู้ใหญ่โกงอาหาร เป็นเรื่องรอช้าไม่ได้ ฉะนั้นได้ขอร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแล ตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส"
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กอัตราคนละ 20 บาทต่อหัวต่อวันนั้น หลังจากที่กรมฯ ได้รับอนุมัติงวดเงินแล้ว จะดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณให้อปท.นำไปบริหารจัดการ โดยสถานศึกษาในสังกัดอปท.จะต้องส่งเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวัน
ส่วนสถานศึกษาในสังกัดส่วนราชการอื่นนั้น นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ก็ให้อปท.อุดหนุนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กให้แก่สถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของอปท. และเพื่อเป็นหลักประกันว่า งบประมาณค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนสังกัดสพฐ.กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับจัดสรรอย่างรวดเร็ว โดยกรมฯ จะกำหนดให้อปท.จัดสรรงบประมาณไปให้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับโอนเงินงบประมาณจากรมฯ ไป
"ยืนยันว่า การโอนเงินให้โรงเรียนในสังกัดสพฐ.ไม่ได้ล่าช้า ระดับรัฐบาลกลาง ถึงอปท.ไม่มีล่าช้า เรื่องนมไม่ล้าช้า ไปตามเวลาอยู่แล้ว เรารู้ดีว่าเด็กต้องกินข้าว ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติต้องทำโครงการมาขอรับเงินอุดหนุน ต้องระบุจำนวนเด็ก ยอดรวม แนบรายการอาหารมาด้วย เชื่อว่าไม่มีปัญหา" นายสุทธิพงษ์ กล่าว และว่า ได้สั่งให้อปท. ภายใน 7 วัน ส่งให้โรงเรียนให้หมดอย่าเก็บไว้ แต่เมื่อโรงเรียนไม่ทำโครงการมาขอ ก็ต้องมีการพูดคุยกันให้เข้าใจกันด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ทรงวุฒิ มลิวัลย์' เคลียร์ปม สนง.กองทุนอาหารกลางวัน ถูกครหาไม่ก้าวหน้า
ผู้บริหารกองทุนฯ ยันไม่ปรับ ‘ค่าหัวอาหารกลางวัน’ -ถัวเฉลี่ย 20 บ./คน เพียงพอแล้ว
ถอดบทเรียนจากถาดอาหารกลางวันเด็ก ที่ให้มากกว่าขนมจีนคลุกน้ำปลา
รัฐอุดหนุนงบฯ ค่าอาหารกลางวัน พุ่งอับดับ 2 รองจากเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สถ.ล้อมคอกออก 4 มาตรการป้องกันทุจริตงบฯ อาหารกลางวันเด็ก
สถ.กำชับท้องถิ่น จัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวันเด็ก ให้ชุมชน ภาคปชช.มีส่วนร่วม