ทำไม?ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz-ใครได้ใครเสีย?
กสทช. กำหนดจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 4 ส.ค. 2561 โดยเปิดให้ค่ายมือถือยื่นเอกสารในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 แต่ปรากฏว่า ไม่มีค่ายใดเดินทางมายื่นเอกสารเลย ทั้งที่สำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า แต่ละค่ายจำเป็นต้องมีคลื่นมากกว่าที่ถือครองในปัจจุบัน และ GSMA ก็คาดการณ์ว่าหากไม่มีการจัดสรรคลื่นเพิ่ม คุณภาพบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือของไทยจะประสบปัญหาในไม่เกิน 2 ปี
ทำไม? ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz
เมื่อมีการวางจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในความต้องการของผู้ซื้อในตลาด แต่กลับไม่มีการซื้อขาย เหตุผลหลักก็น่าจะมาจากการตั้งราคาขายที่ไม่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ยิ่งมีการบังคับขายพ่วงว่าต้องซื้อเหมา ไม่ขายแยกชิ้น ผู้ซื้อที่ฉลาดก็จะไม่ผลีผลาม และถ้ายังไม่จวนตัวว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้ ก็ยิ่งจะรอดูไปก่อน
แล้วราคาคลื่น 1800 MHz นำออกมาประมูลครั้งนี้แพงไปไหม การขายคลื่นชุดละ 15 MHz ขนาดใหญ่ไปหรือไม่?
หากอ้างอิงจากผลการศึกษาของ กสทช. แล้วก็พอจะอธิบายได้ไม่ยาก กล่าวคือ ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน กสทช. ตั้งราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่าราคาประเมิน แต่ปรากฏว่ามีการสู้ราคากันอย่างดุเดือด จนราคาสูงกว่าราคาประเมินสูงสุดที่เอกชนสามารถทำกำไรได้ตามทฤษฎี และการศึกษาในครั้งนั้นมีสมมติฐานที่สำคัญ 2 ข้อ ข้อหนึ่ง-ในช่วงนี้จะยังไม่มีการจัดสรรคลื่นใหม่อื่นๆ เช่น คลื่น 700 MHz, 2300 MHz หรือ 2600 MHz ถ้ามีการจัดสรรแปลว่ามีสินค้าที่ทดแทนคลื่น 1800 MHz ได้ ราคาคลื่น 1800 MHz จะต่ำลงไปอีก และข้อสอง-ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วยังอาจจะต้องการคลื่น 1800 MHz เพิ่มในอนาคตอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 5 – 10 MHz เพื่อให้มีจำนวนคลื่นที่เหมาะสม
ภายหลังการประมูลครั้งก่อน กทค. เดิมตกลงใจตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอว่าจะใช้ราคาชนะประมูลที่สูงผิดปกติครั้งนั้นเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลในอนาคต ไม่แน่ว่าเป็นเพราะต้องการเอาใจผู้ชนะการประมูล เพื่อไม่ให้เสียใจหรือรู้สึกเสียเปรียบที่ชนะประมูลในราคาสูงผิดปกติ หรือเพราะต้องการสยบบางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลการประมูลที่ทักท้วงว่า การแข่งขันจนราคาสุดท้ายออกมาสูงลิบนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลเบื้องหน้านั้นสรุปได้ง่ายๆ คือ ในอนาคต เมื่อค่ายอื่นมาซื้อคลื่นนี้ก็จะต้องซื้อแพงไม่น้อยไปกว่านี้
แล้วต่อมา กสทช. ก็มีมติกำหนดขนาดบล็อกคลื่นที่ 15 MHz ไม่ใช่ 5 MHz ดังที่หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นไว้ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทำให้ค่ายที่ต้องการเพียง 5 หรือ 10 MHz ถ้าจะเข้าร่วมการประมูลก็ต้องซื้อคลื่นมากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ สองค่ายมือถือที่ชนะการประมูลครั้งที่แล้วต่างต้องแบกภาระค่าคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz และที่ผ่านมามีการขอผ่อนผันให้ คสช. ขยายงวดชำระเงิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหากำลังซื้อ และต่อให้มองข้ามเรื่องกำลังซื้อ ก็ยังมีประเด็นว่าจำเป็นจะต้องเข้ามาซื้อในขณะนี้ไหม หรือจะรอสินค้าชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า ซึ่งก็คือคลื่น 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช. และรองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะจัดประมูลในปี 2563 เพราะเป็นคลื่นที่ตอบโจทย์เรื่องความครอบคลุม ทำให้ประหยัดต้นทุนในการตั้งสถานีฐาน
ยิ่งมีคลื่น 1800 MHz ในมือแล้ว ควรเลือกประมูล 1800 MHz ที่มีราคาแพง หรือประมูล 700 MHz ที่ไม่เคยมีราคาชนะประมูลเดิมค้ำคออยู่และมีรัศมีทำการที่กว้างกว่า วิญญูชนก็คงตอบได้ไม่ยากกว่าควรจะเลือกคลื่นไหน
ในส่วนค่ายที่จะหมดสัมปทาน ซึ่งเดิมใช้งานคลื่น 1800 MHz อยู่ 45 MHz หากมาประมูลจะต้องจ่ายแพง และจะได้คลื่นไม่เกิน 15 MHz แต่ถ้าไม่มีใครประมูล ค่ายนี้ก็จะเข้าสู่มาตรการเยียวยา สามารถใช้คลื่นทั้ง 45 MHz ได้ต่อไปอีก 1 ปี โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แล้วค่อยรอการประมูลที่จะจัดใหม่ในปีหน้า ซึ่งราคาคลื่นอย่างไรก็ต้องต่ำลง เพราะระยะเวลาอนุญาตจะลดลงไปตามเวลาที่ประมูลสำเร็จช้า เวลายิ่งลดลง ราคาคลื่นก็ยิ่งต่ำลง แม้หากเกิดอุบัติเหตุว่าวันที่ 15 มิ.ย. 2561 คู่แข่งมายื่นเอกสารการประมูล ก็ยังมีทางเลือกว่าจะมายื่นแข่งหลังจากนี้หรือไม่ เพราะเมื่อมีผู้ยื่นเอกสารรายเดียว กสทช. จะขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน และต่อให้ไม่เข้าแข่งแล้วปล่อยให้รายอื่นได้คลื่นเพิ่มอีก 15 MHz รวมเป็น 30 MHz แล้วค่อยไปเจรจาขอโรมมิ่งคลื่น 1800 MHz จากค่ายนั้นก็อาจประหยัดกว่ามาสู้ราคากัน
ยิ่งไปกว่านั้น ค่ายที่จะหมดสัมปทาน 1800 MHz ก็สามารถต่อลมหายใจด้วยการใช้คลื่น 2300 MHz ของทีโอที ความจำเป็นที่จะต้องชิงคลื่นให้ได้จึงลดลงจากเดิม ดังนั้นการเดินหมากเข้าสู่มาตรการเยียวยาน่าจะได้ประโยชน์กับตัวเองมากกว่าการเข้าร่วมเล่นเกมซื้อของแพงให้เสมอหน้าเพื่อน...ตามที่ กสทช. กำหนดขึ้นมา
ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz ใครได้ใครเสีย?
เมื่อไม่มีเอกชนรายใดมาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สภาพการแข่งขันในตลาดก็จะอยู่ในสภาพเดิม โดยที่ไม่มีใครต้องแบกต้นทุนเพิ่ม เพราะการเข้ามาประมูลเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง ก็ตามมาด้วยต้นทุนค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้น และถ้าคู่แข่งสามารถหาทางออกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูล แถมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้ชนะการประมูลก็อาจจะเจ็บตัวฟรี ยิ่งมีภาระค่าคลื่นเดิมที่ค้างจ่ายอีกหลายหมื่นล้าน ยิ่งต้องรอบคอบรัดกุม
การที่ผู้ชนะประมูลรายเดิมไม่เข้าประมูล ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระเพิ่ม แต่ก็เสียโอกาสที่จะทิ้งห่างคู่แข่ง แต่ในเมื่อทุกรายไม่เข้าร่วมประมูล การแข่งขันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกอะไรใหม่ ยังต้องวนเวียนใช้บริการแบบเดิมๆ ไปก่อน
แต่หากผู้ชนะรายเดิมเข้าประมูลเพื่อบีบหรือทิ้งห่างคู่แข่ง ก็เท่ากับว่าเดินตามเส้นทางที่ กสทช. กำหนด คือการพยายามขายคลื่นในราคาแพงที่สุด และเอกชนก็คงต้องทนกับสภาพเส้นทางแบบนี้ในคลื่นอื่นๆ ที่จะประมูลในอนาคตอย่างเช่น คลื่น 700 MHz หรือ 2600 MHz รวมถึงคลื่นความถี่สูงมากๆ ที่จะนำมาใช้กับ 5G ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการพุ่งสูงมาก จนอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน จึงมีการส่งสัญญาณจากภาคเอกชนให้ กสทช. รู้ว่า ต้นทุนค่าคลื่นเริ่มเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ?
จริงๆ แล้ว หลักการพื้นฐานของการประมูลคลื่น คือการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคลื่นได้สูงสุด ไม่ใช่ต้องการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าใครใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีที่สุด ก็คือตัวเลขเงินที่เขาพร้อมจะจ่ายเป็นค่าคลื่น แล้วเอาคลื่นไปทำกำไร ถ้าทำกำไรไม่ได้ก็จะเจ๊ง จึงไม่ควรมีใครเสนอตัวเลขสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะอยู่รอดได้ ส่วนใครที่ทำกำไรได้เก่งกว่าก็จะเสนอตัวเลขได้สูงกว่า กสทช. จึงใช้การประมูลเพื่อหาว่า รายใดสมควรได้คลื่นไปให้บริการ ซึ่งก็คือรายที่เสนอราคาคลื่นได้สูงสุด แต่ไม่ใช่ว่า กสทช. มีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดจากการประมูล
แต่เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลหลงทางไปมุ่งเน้นการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด ผลเสียก็จะเกิดกับอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกต้นทุนได้ และผู้บริโภคก็จะไม่สามารถรับบริการใหม่ๆ ได้ แต่ที่สำคัญ รัฐที่ต้องการได้เงินค่าคลื่นเป็นจำนวนมากก็เสี่ยงจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ได้เลย
ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ กระทรวงการคลังมีหนังสือถึง กสทช. ว่า ขอให้จัดประมูลและนำส่งรายได้จากการประมูลภายในปี 2561 ด้วย โดยกระทรวงการคลังประมาณการรายได้จากสมมติฐานว่าคลื่นทั้ง 45 MHz จะขายหมดและผู้ชนะการประมูลชำระเงินงวดแรกร้อยละ 50 ภายในเดือนกันยายนนี้
เมื่อไม่มีผู้เข้าประมูล ประมาณการรายได้ก้อนนี้จึงพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้านบาท แผนการใช้งบประมาณของรัฐก็อาจสะดุดหรือต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชย
และเมื่อหมดสัมปทานแล้วเข้าสู่มาตรการเยียวยา ก็ยังพบปัญหาในส่วนเงินนำส่งรัฐ เพราะการให้บริการตามมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา ยังมีปัญหาการฟ้องคดี และมีการแจ้งในที่ประชุม กสทช. ว่ารัฐยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว
มาตรการเยียวยาครั้งใหม่นี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากเดิม คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไม่มีรายใดมาประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในทันทีคือรัฐ ไม่ใช่เอกชน หรือผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบในระยะยาว
การใช้ ม.44 เพื่อขยายงวดชำระเงินก็ไม่ใช่ทางออก เพราะถ้าไม่จัดการราคาคลื่นให้เข้าสู่ราคาดุลยภาพ เอกชนก็ต้องเรียกร้องขอขยายงวดชำระเงินอยู่ร่ำไป การแก้ปัญหาการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวจากการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวของประเทศด้วย หากประเทศเรายังตกอยู่ในวังวนการเล่นเกมราคาคลื่นแบบเด็กเล่นขายของ สุดท้ายทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์ ค่าเสียโอกาสในการตกขบวนความเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 อาจจะไม่ใช่มีแค่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะกระทบถึงด้านสังคมและความมั่นคงด้วย
การกำหนดราคาคลื่นและการออกแบบการประมูลจึงต้องใช้หลักการและการศึกษาที่มีวิชาการและเป็นมืออาชีพ และต้องไม่มุ่งเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก 362 DEGREE