คำชี้แจงการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เผยประกาศคำชี้แจงการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. เว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ http://www.crownproperty.or.th/#banner-modal-192 ได้เผยแพร่คำชี้แจง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระบุว่า
1.โดยที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ขึ้นใหม่ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ได้กำหนดวิธีการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่แตกต่างจากเดิม โดยรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์และยกเลิกบทบัญญัติเดิมที่กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในความดูแลรักษา และจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วบัญญัติใหม่เป็นว่าการจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใด เป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องกลับคืนมาอยู่ในความเป็นเจ้าของและการดูแลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อที่จะทรงจัดการทรัพย์สินนั้นตามพระราชอัธยาศัยต่อไป
จากข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีภาระหน้าที่ต้องถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิมคืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงดูแลด้วยพระองค์เอง หรือทรงมอบหมายให้บุคคลใดดูแลรักษาหรือจัดการต่อไปก็ได้ ดังนั้น สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดที่เดิมเป็นชื่อของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่นการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2.ในการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรขึ้นมาใหม่ เป็นว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับการยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรสำหรับทรัพย์สินนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรทั้งปวง ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้มีการเสียภาษีอากรทุกประเภทเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
ดังนั้น หากทรัพย์สินใดยังใช้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ ทรัพย์สินนั้นก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรเช่นเดิม เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานที่ไม่ต้องมีภาระภาษีอากรตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จึงต้องเปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
3.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ได้ทรงสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทยด้วยการก่อตั้งกิจการต่างๆเพื่อให้ประเทศไทยมีฐานะมั่นคงสามารถดำเนินกิจการด้วยคนไทยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น กิจการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้สยามมีระบบการเงินการธนาคารของตนเองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งขึ้น ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยผลิตปูนซีเมนต์ใช้เองลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่า ซึ่งกิจการเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการเหล่านั้น จึงเป็นการยืนยันพระราชปณิธานดังกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแลกิจการเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจการเหล่านี้จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างยั่งยืนและมีการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยต่อไป
4.การใช้พระราชปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการเดิมที่ใช้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงสามารถมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทดูแลกิจการต่างๆเหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กิจการเหล่านี้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด และมีความยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความถูกต้องดีงาม ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียรและมีวินัย การดำเนินกิจการขององค์กรมีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ป้องกันการทุจริตเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกคนและภาคสังคมมีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆการดำเนินกิจการเป็นไปด้วยความคุ้มค่า และมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการเหล่านี้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นกิจการหลักที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการดำเนินกิจการในประเทศไทย