เรียนรู้แผนชุมชน ความสุขชีวิตสร้างได้
สินค้าราคาแพง น้ำมันขึ้นราคา อีกสารพัดปัญหานำมาซึ่งวิตกจริตของคนกรุง แต่สำหรับบางชุมชนคิดและมองต่าง ความสุขสร้างได้ ความเข้มแข็งไม่ได้อยู่ที่เงิน ทำไม เพราะอะไรติดตามจากรายงาน
ปลายปี39ซึ่งถือเป็นปีแรกของการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ขณะนั้นแม้ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันอย่างเต็มที่แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นรุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนัก ลุกลามต่อเนื่องยาวนาน สิบหกปีผ่านไปแผนสิบเอ็ดถูกประกาศใช้ปีนี้ ปัญหาค่าครองชีพเหมือนวัวพันหลักยังคงเป็นฝันร้ายสำหรับคนหาเช้ากินค่ำอยู่เช่นนั้น
ท่ามกลางปัญหาไร้ทางออก ชุมชนหลายแห่งกลับดำรงอยู่ได้ไม่เดือดร้อนเกินไปนัก เพราะอะไรจึงสวนกระแสแบบสุดขั้วเช่นนี้? "ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา" พาไปฟังแนวคิดจากเวทีเสวนาสืบทอดอุดมการณ์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมครั้งที่ 2 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ขณะที่คนเมืองกรุงคร่ำเคร่งกับปัญหาสินค้าราคาแพง ชุมชนมีแนวทางอย่างไรที่ทำให้ความสุขเกิดขึ้นยั่งยืน
โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบายส.ส.ท. กล่าวว่า องค์ความรู้ในชุมชนเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง รวมทั้งการแผนชุมชนที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ น่าเสียดายที่องค์กรท้องถิ่นบางแห่งไม่เข้าใจ ซึ่งองค์กรชุมชน ต้องเอาชนะใจองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกัน หากมีองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมเยอะๆการพัฒนาจะพลิกผันทันที แต่ทั้งนี้ต้องมีความมุ่งมั่น ทำงานให้เชี่ยวชาญ วางแผนระยะยาว สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นมาทำงานในอนาคต
เลิกตามก้นฝรั่งใช้แผนชุมชนส่งแม่แบบสภาพัฒน์ฯ4ปีหน้า
ส่วน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไม่เห็นต่างแต่ฟันธงเลยทีเดียวว่า ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองได้ จะใช้รูปแบบอะไรก็ตาม แต่ต้องนำไปสู่ความยั่งยืน คนที่เรียนจบอะไรมาไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าคิดอะไรและนำความคิดนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง การทำแผนแม่บทเกิดขึ้นตลอดเวลาปัญหาเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาในยุโรปกำลังย่ำแย่ เพราะทิศทางการพัฒนาใช้เงินเป็นตัวตั้ง ประเทศไทยที่เคยวิกฤติมาไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ แต่ทุกรัฐบาลใช้นโยบายบริหารประเทศตามหลังตะวันตก
“ชุมชนไทยมีทุนมากมายมหาศาล การจะอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ชุมชนต้องขยายผลการจัดการและสร้างชุดความรู้ของตนเองขึ้นมา ไม่ใช่ไปลอกวิธีการฝรั่ง การส่งมอบข้อมูลแผนชุมชนให้สภาพัฒน์ฯนำไปเป็นฐานในการเขียนแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 12 เป็นเรื่องท้าทาย”
เชื่อแผนชุมชนเปลี่ยนโครงสร้างประเทศได้
ขณะที่คณะประสานงานเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนภาคใต้ “แก้ว สังข์ชู” เห็นสอดคล้องอย่างยิ่งกับการสร้างความสุขโดยการทำแผนพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นและมีความศรัทธา ถ้าใช้เครื่องมือที่อาจารย์ไพบูลย์(วัฒนศิริธรรม)ปูแนวทางไว้ ผลักดันอย่างจริงจังจะเป็นทางรอดของสังคมไทย
“เชื่อว่าถ้าผลักดันแผนชุมชนให้สภาพัฒน์ฯนำไปเป็นแนวทางเขียนแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้าจะทำให้โครงสร้างประเทศไทยเปลี่ยนไป นั่นคือเป้าหมายนำไปสู่ความสุขยั่งยืน”
ไม้เรียงต้นแบบแผนแม่บทชุมชนตัวชี้วัดความสุข
อย่างไรก็ดี ประยงค์ รณรงค์ ปราญช์บ้านไม้เรียง นครศรีธรรมราช ขยายความจากประสบการณ์ การทำแผนชุมชนว่า ไม้เรียงเริ่มทำประมาณปี 38-39 มีการลองผิดลองถูกคำว่าแผนไม้เรียงเรียกว่าแผนแม่บทหรือแผนชีวิตที่มีความแตกต่างจากแผนชุมชน เพราะเป็นแผนแต่ละคนในครอบครัวที่ไม่มีเรื่องโครงการหรืองบประมาณมาเกี่ยวข้อง เป็นแต่เพียงแผนที่ครอบคลุมวิถีชีวิต แผนชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นใช้แนวทาง กำหนดแบบแปลน นำไปสู่การปฏิบัติ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีวิกฤติอย่างไรก็อยู่รอดได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีความพอประมาณ ความพอเพียง รู้รอบคอบ ระมัดระวัง ขยันอดทน มีสติปัญญาแบ่งปัน
“ย้อนมองกลับไปก่อนจะมาถึงวันนี้ ชุมชนไม้เรียงมีการพูดคุยกับทางจังหวัดให้มีการทำแผนชุมชนขึ้นมาใช้โดยมีเป้าหมายใน 1,551 หมู่บ้านใช้เวลา 3 ปีจึงเห็นผล ปีแรกทำได้ 400 กว่าหมู่บ้าน ปีที่สองทำได้ 600 กว่าหมู่บ้านมาปีที่สามได้ 551 หมู่บ้าน จากนั้นจึงนำไปสู่การต่อยอด มั่นใจว่าถ้าใช้แนวคิดและแนวทางนี้มาปฏิบัติยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางสามารถทำให้เราอยู่รอดได้อย่างมีความสุข”
ตำบลนาทรายเมืองคอนต่อยอดความเข้มแข็งจากไม้เรียง
บุญโชค สุขบำเพ็ญ องค์กรชุมชนตำบลนาทราย นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ใกล้ชิดปราชญ์ไม้เรียง ถ่อมตัวเสมือนหนึ่งนักเรียนน้อยเล่าว่า ไม่ง่ายเลยที่จะทำแผนชุมชน ตำบลนาทรายใช้เวลาประมาณ14 ปี หลายคนมองว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านไม่ต้องทำ แต่หลังจากเรียนรู้กระบวนการจากไม้เรียง นำมาใช้เกิดดอกผลที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งใช้ประวัติศาสตร์ชุมชนที่หายไปเป็นเครื่องมือ คุณงามความดีที่บรรพบุรุษทำไว้คืออะไร มีการเก็บข้อมูลแล้ววิเคราะห์ จากนั้นนำมาปรับใช้ ทำให้มีคนรุ่นใหม่ที่ออกไปทำงานข้างนอกกลับมาช่วยงานมากมายเลยทีเดียว
“นอกจากนี้กระบวนการวิเคราะห์พบว่าทรัพยากรหลายอย่างถูกนำออกไปจากชุมชน จึงมีการเปิดตลาดชุมชนขึ้น ต่อมากลายเป็นแหล่งค้าชุมชน มีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นๆเข้ามาร่วมใหญ่สุดในละแวกนั้น ชุมชนรอบนอกเห็นผลนำกลับไปทำ เกิดกระบวนการพึ่งตนเอง มีเครือข่ายขยายวงกว้าง ทุกวันที่ 9 ของเดือนมีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเอาปัญหา เอาความต้องการของคนในชุมชนใส่เข้าไปในแผน มีเป้าหมายความสุขเป็นตัวตั้ง”
บ้าน-วัดขุมพลังความรู้ทำชุมชนเมืองย่าโมเข้มแข็ง
ด้านพระครูอมรชัยคุณ หรือหลวงตาแช พระนักพัฒนาแห่งวัดอาศรมธรรมทายาท ต.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา สำทับในประเดียวกันนี้ว่าการจะทำอะไรต้องใช้ศิลปะการจัดการเข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา พระสงฆ์ก็สามารถเข้ามามีบทบาทได้ เพราะถ้าชาวบ้านเดือดร้อนพระก็ย่อมต้องเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“อาตมาเข้ามาช่วยชาวบ้านทำแผนชุมชน เรียนรู้ศึกษาดูงานจากไม้เรียง มีการรวบรวมเครือข่ายในการทำงาน เชื่อมโยงเครือข่ายตำบล แต่ละหมู่บ้านมีความเข้มแข็งที่หลากหลายถ้าเข้มแข็งก็สามารถแก้ปัญหาความยากจน ด้านหนึ่งเรามีทำงานวิจัยในหมู่บ้าน โดยให้มีการจัดการความรู้ จากนั้นก็นำไปสู่การถ่ายทอดความรู้ งานทุกอย่างสำเร็จได้ต้องร่วมมือร่วมใจกัน”
หลักสูตรวัฒนธรรมลาวเวียงไม้เด็ดความเข้มแข็งบ้านเลือกราชบุรี
นอกจากนี้ที่ตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ก็มีกระบวนการทำแผนชุมชนในยุทธศาสตร์คล้ายคลึงกัน แตกต่างกันก็เพียงยุทธวิธีและอัตลักษณ์ชุมชนโดย วิฑูร ศรีเกษม รองประธานสภาองค์กรองค์กรชุมชน เล่าว่า บ้านเลือกยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สร้างกระบวนการเรียนการสอนโดยหลักสูตรท้องถิ่น โดยมีอาจารย์ไพบูลย์(วัฒนศิริธรรม)เป็นผู้จุดประกาย ที่ผ่านมาน่าเสียดายที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำแผนชุมชนมากนัก การเก็บข้อมูลทำให้รู้ว่าในตำบลมีอะไรบ้าง สร้างเป้าหมายร่วมกันจากคนทั้งตำบล ตอนแรกลองผิดลองถูก ทำเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำตัวชี้วัดทำให้ตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆได้ เช่น คนป่วยมีจำนวนเท่าไหร่ ไปโรงพยาบาลเท่าไหร่ ทำให้ทุกหน่วยงานทุกองค์กรในตำบลรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น เรื่องยาและสุขภาพให้อสม.ทำ ยาเสพติดให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดูแล แบบนี้จึงเกิดการเชื่อมโยงขึ้นโดยอัตโนมัติ
“เหมือนปฏิวัติความคิดคนให้เกิดกระบวนการทำงาน บ้านเลือกมีจุดแข็งคือวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง 7 หมู่บ้าน ทุกคนให้คุณค่าตัวเอง การยอมรับความคิดเห็น ยอมรับความแตกต่างคือสิ่งสำคัญจึงมีการบรรจุหลักสูตรภาษาลาวเข้าในสถานศึกษา ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเยาวชนติดเกมส์ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและปัญหาอื่นๆ ทำให้คนในชุมชนมีความสุข”
ประธานสตรีคลองวัวชี้ความสุขสร้างได้จากการกระทำ
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะวิกฤติอย่างไร ข้าวของเมืองไทยจะแพงขึ้น ทุกคนเป็นห่วงแต่ก็เห็นตรงกันว่าการทำแผนชุมชน ใช้ทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดำเนินชีวิตในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นำมาซึ่งความสุขยั่งยืน เช่นเดียวกับ ปราณี จันทวร ประธานกลุ่มสตรีตำบลคลองวัว จ.อ่างทอง ที่บอกว่าคนในชุมชนของเธอทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพราะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ไพบูลย์(วัฒนศิริธรรม) จากนั้นนำมาต่อยอดแนวคิดทำแผนชุมชนขึ้น แม้ตอนแรกไม่คิดว่าทำแล้วจะเป็นผลดีกับหมู่บ้านได้อย่างไร แต่ก็ทำมาเรื่อยๆในที่สุดก็เห็นผล
“คนมีแนวความคิดที่ดีขึ้น ทำแล้วได้เพื่อนได้เครือข่ายมากขึ้น ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้าน การจักสานที่เป็นอาชีพของพี่น้องในชุมชนมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอด สังคมกลับมาดูแลซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรแบ่งปัน วัฒนธรรมดั้งเดิมดีงามกลับคืนมา ความสุขที่ได้วัดจากการกระทำ” ประธานกลุ่มสตรีตำบลคลองวัว กล่าว
ท่ามกลางแรงลมพายุเศรษฐกิจกำลังผันผวนโหมกระหน่ำรุนแรง ยากนักจะมีใครฟันธง สารพันปัญหาเหมือนวัวพันหลักนี้จะถูกปลดแก้เมื่อใด แต่ผู้รู้หลายท่านบอกว่าระยะทางความสุขสามารถวัดได้ด้วยหน่วยมาตราวัดเรียกภูมิปัญญา เข็มไมล์ทิศทางแม่นยำเสมอ ง่ายๆไม่ซับซ้อน ทุนก้อนโตไม่แน่เสมอไปจะสร้างได้.