คุยกับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ มองขยะ E-Waste “มหันตภัยร้าย หรือเหมืองแร่บนดิน”
เมื่อจีนสั่งปิดประเทศไม่ให้นำเข้าขยะ กระดาษ พลาสติก ทั่วโลกก็ทะลักมาไทย ไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บ้าง แต่อย่าลืมว่า วัตถุดิบจากขยะทั่วโลก 50% ไปใช้ที่จีน พอจีนสั่งปิด เรียกว่า หัวทิ่มเลย แต่อีกไม่นานเชื่อว่า รัฐบาลกวาดล้างภายในโรงงานจนสะอาด และเป็นระบบ ไทยไม่ได้กินหรอก
กรณีมีข่าวการลุยจับบริษัทและโรงงานที่มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics-Waste) หรือ E-Waste จากต่างประเทศจำนวนมากนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปพูดคุยกับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ ในฐานะผู้ประกอบการ และมีความเชี่ยวชาญเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในประเด็นความเป็นอันตรายของขยะ E-Waste
เริ่มต้น ดร.สมไทย ชี้ให้เห็นว่า ในอดีต E-Waste มีสารโลหะหนักต้องห้ามตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) สมัยก่อนมีเรื่องของเชื่อมวงจรต่างๆ ที่ใช้สารตะกั่ว ฉะนั้นขยะประเภทกองไว้ตากแดด หรือนำไปเผาไม่ได้เลย แต่นี่คือเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีผ่านมาแล้ว
ในปัจจุบัน ดร.สมไทย บอกว่า โลกของ 3R (Reduce Reuse Recycle) มีทฤษฎีเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีเรื่อของการออกแบบที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ (EcologicalDesign) การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้มีการปรับปรุงเรื่องพวกนี้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน ทีวี มีการเปลี่ยนแปลง มีการยกเลิกใช้สารตระกั่วบัดกรี โดยยกเลิกไปตั้ง 12 ปีแล้ว
เขาเชื่อว่า ก็ยังมีที่ตกค้างเก่าๆ แต่ของใหม่ หรือสินค้าใหม่ใช้ ลีดฟรี (Lead Free หรือ Pb Free ไม่มีสารตะกั่ว) ในการบัดกรี
"ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นอันตรายอีกส่วน ก็คือจอแก้ว จอทีวีใหญ่ๆ รุ่นโบราณ จะมีรังสีแคโทด (cathode ray) คือ กัมมันตภาพรังสีอ่อนๆ มีสารโลหะหนักต่างๆ ในอดีตมีอยู่เยอะ แต่ปัจจุบัน จอคอมพิวเตอร์และจอทีวี เป็น LED แล้ว ซึ่ง LED สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100%”
ถึงทุกวันนี้ เจ้าของโรงงานคัดแยกขยะวงษ์พาณิชย์ ชี้ว่า เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ ซีพียู พาวเวอร์ซัพพลาย มอนิเตอร์ต่างๆที่เราใช้ สารพิษอันตรายสิ้นสุดไป 10 กว่าปีแล้ว
“แผงวงจรเก่าๆ รุ่นโบราณ รุ่น 386 อันนี้มี แต่แผงวงจรรุ่นใหม่ไม่มีสารพิษอันตราย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงอุตสาหกรรม ทราบดี”
สำหรับข้อระมัดระวังของขยะ E-Waste ดร.สมไทย บอกว่า ต้องไม่ให้มีการมากองอยู่กลางแจ้ง หรือเอาไปย่างไฟ กระบวนการกำจัดแบบนี้ไม่สมควร ผู้ประกอบการอาจทำไปโดยไม่เจตนา หรือไม่ทราบ
“หากผมเป็นภาครัฐจะเข้าไปส่งเสริมให้เขาทำให้ถูกวิธี มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ปลอดภัย ต้องไปให้ข้อมูล หรือสอนเขา หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องไปให้คำแนะนำ ให้หยุดกิจการก่อน ให้เวลาปรับปรุง หากปรับปรุงไม่ได้ต้องปิดโรงงาน ก็ว่ากันไปให้ถูกต้อง แต่หากเขาปรับปรุงได้ ผมมองว่า โรงงาน electronic waste เป็นสิ่งจำเป็นในสังคมไทย”
หากวันนี้สังคมไทยปราบปรามโรงงาน electronic waste หมดสิ้นไป หรือไม่มีเลย ลองมาดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นในเมื่อยอดขายคอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ยอดขายเป็นล้านตันในท้องตลาด
“บ้านหลังหนึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์เกิน 3 เครื่อง ในมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประโยชน์ได้เกิน 4 พันเครื่อง ในหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลัก 5 พันเครื่องขึ้นไปทั้งนั้น แล้วประเทศไทยจะจัดการขยะเหล่านี้อย่างไร” ดร.สมไทย ตั้งเป็นคำถาม
เมื่อถามถึงขยะ E-Waste ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เขามองว่า เป็นเพราะภาคธุรกิจมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการนำเข้ามาเพื่อการจัดการทางอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดผลผลิต มีรายได้ ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องมาไล่ดูกัน ทำอย่างไรไม่ให้สำแดงเท็จ นำเข้าแบบตรงไปตรงมาได้หรือไม่ เพราะแง่ดีการนำขยะมารีไซเคิล ต้องยอมรับว่า มันสร้างงานให้กับคนไทยที่เป็นคนจนจำนวนมาก ส่วนแง่ไม่ดีก็ว่ากันไป
จีนกวาดบ้าน ขยะทะลักเกลื่อน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจีนห้ามนำเข้าขยะพิษ จากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป การรีไซเคิลซากขยะด้วยวิธีการล้าสมัยโดยทำธุรกิจในครัวเรือนและโกดังของเก่านั้นจะถูกสั่งปิดทั้งหมด รวมถึงการปราบปรามการลักลอบนำเข้าขยะรีไซเคิลจากฮ่องกง และบังคับให้ขยะซากอิเล็คโทรนิกส์จากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมต้องนำไปรีไซเคิลที่โรงงานที่ได้รับอนุญาตจากทางการ ในเรื่องนี้ ดร.สมไทย ชี้ว่า เหตุการณ์นี้เริ่มที่จีนก่อน ก่อนลามไปไต้หวัน ออสเตรเลีย สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ รัฐบาลจีนโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศตั้งแต่ 1 มกราคม 2561
1.เดือนมกราคม บังคับให้ผู้ว่าราชการมณฑลต่างๆ ไปออกนโยบายการจัดการขยะ คัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน
2.กุมภาพันธ์ให้ผู้ว่าราชการมณฑลต่างๆ นำนโยบายไปวางเป็นแผนปฏิบัติ ประชาชนจีนต้องรู้จักรีไซเคิลขยะได้ 35% ขยะที่ทิ้งแล้วเป็นปัญหาของชาติ ห้ามเผา ห้ามฝังกลบ ให้นำมาใช้ประโยชน์ หรือทำเป็นเชื้อเพลิง ภายในปี2561 และภายในปี 2563 ต้องรีไซเคิลขยะให้ได้ 70% ภายในปี 2570 ขยะต้องสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ปัญหาขยะต้องหมดไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดประเทศ ห้ามนำเข้าขยะทุกชนิด โลกจึงเกิดโกลาหลครั้งใหญ่ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้ามาอยู่ฝั่งฮ่องกง วันละ 4 พันตู้ หยุดชะงัก ถูกตีคืนกลับไป จากนั้นก็กระจัดกระจายไปอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไม่ใช่เข้ามาประเทศไทยประเทศเดียว
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนสั่งให้โรงงาน electronic waste ไปจัดการให้ถูกต้อง ไม่ให้มีเรื่องการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำคลอง หรือเอาไปเผาแบบไม่ถูกต้อง จะถูกจับ สั่งปิด และสั่งให้ปรับปรุงใหม่ หากยังแก้ไขไม่ได้ก็จะสั่งปิดถาวร
มาตรการเข้มของรัฐบาลจีน ผ่านมาเกือบ 6 เดือน ดร.สมไทย ให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีนเริ่มอนุญาตให้ 20 บริษัทซึ่งได้ใบรับรอง นำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาได้แล้ว แต่มีกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง ยันปลายทาง จากนี้ไปเชื่อว่า รัฐบาลจีนจะทยอยเปิดเพิ่ม โรงงานที่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้อง
“การปล่อยข่าวว่า มหันตภัยจากขยะ E-Waste อยากให้มองแบบนี้ ความจริงของสังคมโลก ขยะเป็นเหมืองแร่บนดิน ที่ใหญ่ที่สุดที่โลกต้องการ โลกกำลังมุ่งเน้นหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การขุดแร่ในดิน หันมาใช้ทรัพยากรหมุนเวียน จริงแล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปที่ญี่ปุ่นมากที่สุด ส่วนขยะที่ทะลักมาไทย มาจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สวีเดน และแถวยุโรป เยอะสุด ผมอยากให้ไปดูโรงงานรีไซเคิลที่ญี่ปุ่น เขาลงทุนยิ่งใหญ่ขนาดไหน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลขนาดไหน มีระบบที่ทันสมัย”
ดร.สมไทย ยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อจีนสั่งปิดประเทศไม่ให้นำเข้าขยะ กระดาษ พลาสติก ทั่วโลกก็ทะลักมาไทย ไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บ้าง แต่อย่าลืมว่า วัตถุดิบจากขยะทั่วโลก 50% ไปใช้ที่จีน พอจีนสั่งปิด เรียกว่า หัวทิ่มเลย แต่อีกไม่นานเชื่อว่า รัฐบาลกวาดล้างภายในโรงงานจนสะอาด และเป็นระบบ ไทยไม่ได้กินหรอก
“เขากำลังจัดบ้าน เรียบเรียงระเบียบรัฐ ให้เข้าที่เข้าทาง ไทยไม่ทันกินหรอกเรื่องนี้ ขยะกลับเมืองจีนหมด ฉะนั้นเราควรเร่งพัฒนาประเทศของเรา และเท่าทันระบบของโลก”
ดร.สมไทย ให้มุมมองต่อข่าวการบุกตรวจจับโรงงานรีไซเคิลที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนเล็กน้อยที่ทำไม่ดีแค่ 10% พอข่าวออกไป โรงงานที่เคยทำดีๆ ที่มีมากกว่า ก็ถูกสังคมจับตามอง มองว่า E-Waste เป็นฆาตกรทางสังคม ออกข่าวจนกลายเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
“วันนี้วงษ์พาณิชย์ จึงประกาศหยุดรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เครื่องใช้สำนักงานทั่วประเทศไทย ผมยังมานั่งนึกอีก 6 เดือนข้างหน้า E-Waste จะไปอยู่ที่ไหน ใครจะรับผิดชอบ อยากให้ผู้เกี่ยวข้อง มองเรื่องนี้เป็น 2 ด้าน ผมพยายามดูเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงตามภาพที่ออกแบบนั้น เราควรคุยแนะนำให้ปฏิบัติที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือสำแดงเท็จก็ให้ทำให้ถูกต้อง”
อย่างไรก็ตาม เขายังให้มุมมองต่อโควตาการนำเข้าขยะที่พุ่งเกินกำลังการผลิตของแต่ละแห่งด้วยว่า เมื่อคนเห็นโอกาสการทำมาหากิน มือใหญ่มือยาวสาวได้สาวเอา นี่คือการทำธุรกิจและวัฒนธรรมของคนจีน เราสามารถอธิบายให้เขาทำให้ถูกต้องได้ ไม่ให้เกินกำลังการผลิต ไปตรวจว่า มีวิศวกรควบคุมการกำจัดของเสียอันตรายหรือไม่ และให้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งหากเราคุยกันเรื่องนี้สังคมไทยได้ความชัดเจนมากกว่า
ไทยไม่มีกฎหมายรีไซเคิล
นอกจากนี้ ในต่างประเทศจะมีกฎหมายรีไซเคิล ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียประกาศใช้ไป 3 ปีแล้ว แต่ไทยยังไม่มีกฎหมาย ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวนานาชาติ (International Green Purchasing ) คือการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อสีเขียวในภาคการจัดซื้อพัสดุต่างๆ ตามกรม กระทรวง ดร.สมไทย มองว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยต้องพิจารณาก่อนว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า มีวงจรที่ใช้สารตะกั่วหรือไม่ ต้องพิสูจน์ มิเช่นนั้น จัดซื้อไม่ได้หากบ้านเรามีกฎหมายรีไซเคิล
ที่น่าคิดว่า E-Waste ที่เป็นอันตราย พวกเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นเก่าๆ เขาเชื่อว่า ส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ในหน่วยงานราชการ
สุดท้าย ดร.สมไทย เสนอแนะอยากให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลการจัดการ ขยะ E-Waste ของไทยด้วยกันด้วย ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และภาคต่างๆ ภาครัฐต้องไปส่งเสริม หรือแนะนำให้เขาทำให้ถูกต้อง แล้ว OTOP electronic waste ของไทยจะเป็นประเด็นของโลกเลย
“ในประเทศไทยมีวิชาหนึ่งที่วิเศษที่สุดในโลก นั่นก็คือ วิชาการนวัตกรรมซาเล้งวิทยา ที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนมาก มีกระบวนการจัดการขยะได้สำเร็จ เราจะต้องมาคิด ขยายผลอย่างไรต่อไป นี่คือประเด็นต่างหาก”
ที่มาภาพ:http://prmju.mju.ac.th