จัดการอย่างไรเมื่อลูกต้องแบกรับความเครียดจาก 'ระบบทีแคส'
“ก่อนที่เราจะช่วยคิดให้ลูก ว่าลูกควรจะทำอะไร เลือกอะไร จงฟังลูกก่อน ให้เขาได้พูดและระบายออกมา แล้วพ่อแม่อาจจะงงว่า ความเครียดของลูกไม่ได้เกิดจากการกลัวว่าจะสอบเข้าไม่ได้ แต่กลัวจะทำให้พ่อแม่เสียใจมากกว่า”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai University Central Admission System:TCAS ) หรือทีแคส ในรอบ 3 ได้ส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดภาวะเครียด เพราะหวั่นว่า ท้ายที่สุดแล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จนเกิดความอับอาย สร้างความผิดหวังให้แก่พ่อแม่ และลดทอนคุณค่าของตัวเองลง
ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในเวทีเสวนา เรื่อง ทีแคส-ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย จัดโดยจุฬาฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในแง่จิตวิทยาว่า อะไรก็ตามที่ควบคุมไม่ได้ ล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นวิธีจะกำจัดปัญหาดังกล่าวออกไป คือ ห้ามคิดว่า ต้องสอบติด แต่ให้คิดเผื่อ หากไม่ติดจะทำอย่างไร
“ถ้าไม่ติดจะทำอย่างไร
เพื่อได้มีประตูให้เลือกอีกหลายทาง
จงอย่าปล่อยให้ชีวิตพ่อแม่และลูกเหลือเพียงประตูเดียว
และยังเป็นประตูที่คนอื่นกำหนดขึ้นมาอีก
ดังนั้นต้องเตรียมคิดไว้
ต่อให้ไม่เกิดขึ้นจริงก็ไม่เป็นไร
เชื่อหรือไม่ว่า แค่เตรียมไว้ ความเครียดจะลดลงไปเยอะเลย”
นอกจากนี้จะต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้ได้ โดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะว่าไปแล้ว สังคมไทยโชคดีมีพ่อแม่ที่ดี แต่บางครั้งอาจเป็นดาบสองคม เพราะสิ่งที่เห็นคือ พ่อแม่กระโดดไปเล่มเกมเสียเอง ทั้งที่เป็นเกมของเด็กที่เขาต้องสู้และผ่านไปให้ได้
คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ยกตัวอย่าง จำวันที่พ่อแม่จูงลูกไปส่งโรงเรียนครั้งแรกได้หรือไม่ อย่างไรลูกต้องเดินเข้าไปในโรงเรียน ถึงแม้จะร้องไห้ แต่สุดท้ายลูกต้องเงียบ ครั้งนี้เช่นเดียวกัน ที่พ่อแม่จะต้องจูงลูกไปส่งเข้าระบบมหาวิทยาลัย แต่ลูกต้องเดินเข้าไปเอง จะต้องสมหวังผิดหวังด้วยตัวเอง และต้องจัดการกับตัวเองให้ได้
จึงฝากเด็ก ๆ ไว้เลยว่า ความสำเร็จในชีวิตคน ส่วนหนึ่งอาจมาจากความรู้ความสามารถ แต่ต้องบวกความไม่ท้อถอยเข้าไปด้วย และที่สำคัญ ไม่มีตรงไหนบอกว่า การได้ความรู้ความสามารถเข้ามาในชีวิต จะต้องมาจากระบบทีแคสเท่านั้น เพราะความจริงสามารถหาได้จากอีกมากมายในโลกนี้
ผศ.ดร.พรรณระพี จึงแนะว่าอย่าเปิดประตูเดียวให้ตัวเองสิ แต่ควรเปิดให้กว้าง ๆ และหลายประตู พ่อแม่ที่รักลูกเหลือเกิน ตอนนี้ต้องขอเลยว่า ลูก ๆ กำลังจะเข้าไปสู่ระบบมหาวิทยาลัยเพื่อไปค้นหาความฉลาด คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยอยู่เบื้องหลังอย่างมีสติและใช้สติมาก ๆ ดังนั้น อาจเป็นเวลาที่ดีในการใช้โอกาสนี้วางโทรศัพท์มือถือแล้วหันมาคุยกับลูก เพราะลูกต้องการเรา
“ที่สำคัญ คือ ลูกไม่ได้ต่อสู้กับความคาดหวังของตนเองเท่านั้น
แต่ยังแบกความคาดหวังของพ่อแม่ ของป้าข้างบ้าน
และโซเซียลต่าง ๆ อยู่ตลอด
บอกลูกเลยว่าไม่ว่าจะสอบได้หรือไม่ได้
เป็นปัญหาที่ระบบ
แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ความเก่งและความสามารถของลูก”
คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวย้ำว่า พ่อแม่ต้องให้ความมั่นใจลูกไปเลยว่า ลูกจะสอบได้สอบตกไม่ได้นั้น ไม่ได้ทำให้พ่อแม่รักลูกน้อยลง และไม่ได้ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวลูก จงเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ฉะนั้นช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พ่อแม่จะได้คุย กอด และให้กำลังใจลูก
ขอเลยนะ อย่าตั้งคำถามอะไรกับลูกที่ไม่มีคำตอบ คำถามประเภทที่ว่า ทำไมไม่ดูหนังสือ ทำไมเราถึงโชคร้าย ทำไมระบบทีแคสถึงแย่ คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบ และจะเป็นการเพิ่มความกดดันให้แก่เด็ก ทำให้การคุยกันกลายเป็นการทะเลาะกัน เกิดความเครียด และผลักลูกไปหาคนอื่น
“ก่อนที่เราจะช่วยคิดให้ลูก ว่าลูกควรจะทำอะไร เลือกอะไร จงฟังลูกก่อน ให้เขาได้พูดและระบายออกมา แล้วพ่อแม่อาจจะงงว่า ความเครียดของลูกไม่ได้เกิดจากการกลัวว่าจะสอบเข้าไม่ได้ แต่กลัวจะทำให้พ่อแม่เสียใจมากกว่า”
ผศ.ดร.พรรณระพี กล่าวด้วยว่า เคยเห็นหรือไม่ เด็กอายุ 4-5 ขวบ สอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย แล้วนั่งเช็ดน้ำตาให้แม่ ปลอบแม่ว่า “ไม่เป็นไรนะคุณแม่ เดี๋ยวจะพยายามต่อไป” บอกเลยว่า ลูกคุณตอนนี้ก็เป็นแบบนั้น โดยไม่ได้ตั้งใจ เรากำลังเอาความคาดหวังไปใส่ให้ลูก และบางทีเรากำลังนำความฝันของตนเองไปฝากลูกไว้ด้วย
“แม่อยากเรียนหมอ แต่ตอนนั้นเรียนไม่ได้ ช่วยเป็นหมอให้แม่ชื่นใจหน่อย ไม่มีลูกคนไหนปฏิเสธ แต่พยายามทำให้พ่อแม่”
พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญคอยประคับประคองลูกไม่ให้เกิดความเครียดจากระบบทีแคส .