ทปอ.ตั้ง ‘ศูนย์พี่ช่วยน้อง’ สอบทีแคส รอบแอดมิชชั่น -บก.เว็บเด็กดี ชี้ระบบบกพร่อง เหตุไม่ทดลองเชิงวิจัยก่อน
เลขาธิการ ทปอ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ตั้งศูนย์พี่ช่วยน้อง 9 เเห่ง ทั่วประเทศ หวังช่วยเหลือ ประสานงาน สมัครสอบเข้ารอบเเอดมิชชั่น รับ 8 หมื่นที่นั่ง ด้านบก.การศึกษา เว็บเด็กดี สะท้อนมุมมองเด็ก ถูกใช้เป็นหนูทดลองทีเเคส ยันกั๊กที่นั่งมากกว่าเดิม
วันที่ 11 มิ.ย. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 13 เรื่อง ทีแคส-ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายมนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา และแอดมิชชั่น เว็บไซต์เด็กดี เปิดเผยว่า ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai University Central Admission System:TCAS )หรือทีแคส ช่วยจัดระเบียบการสอบรับตรง ให้การสอบทุกสนามอยู่หลังจบ ม.6 เพราะระบบเดิมนั้น พบว่า เด็กยังจำตารางสอนไม่ได้เลยก็ต้องไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วฟังดูดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ปรากฎว่า ระบบดังกล่าวไม่ได้นำไปทดลองกับมนุษย์จริง ๆ ในลักษณะเชิงวิจัยก่อน เพราะคิดว่า ทฤษฎีสวยมาก จึงนำมาใช้เลย แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับเป็นคนละเรื่องกัน เด็กหลายคนจึงมองว่า เป็น 'รุ่นหนูทดลอง' ทฤษฎีสวย แต่การจัดการไม่ดี
ส่วนปัญหาการกั๊กที่นั่ง ได้สอบถามกับ ทปอ. ได้รับคำตอบว่า ระบบทีแคสช่วยลดปัญหาการกั๊กที่นั่งได้จริง เพราะสมัยก่อนเด็กสอบติด 10 ที่นั่ง แต่สมัยนี้สอบติดได้มากที่สุด 4 ที่นั่งเท่านั้น แต่ในมุมมองของเด็ก กลับเห็นว่า คำชี้แจงของ ทปอ. ไม่ถูกต้องทั้งหมด ถามว่าจะมีเด็กสอบติด 10 ที่นั่ง มีแค่ 1 ใน 100 คนหรือไม่ แต่ระบบใหม่ถูกออกแบบให้ทุกคนสมัครได้มากที่สุด 4 ที่นั่ง ทำให้ปริมาณการกั๊กที่นั่งมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม อนาคต ทปอ. อาจเปลี่ยนให้สายป่านสั้นที่สุด จาก 4 ที่นั่ง เหลือ 2 ที่นั่ง ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการต่อไป
“ไปทำข่าวทีแคส ครั้งแรก วันที่ 1 มิ.ย. 2560 และมีการประกาศใช้ระบบดังกล่าวในเดือน ต.ค. 2560 หรือในอีก 4 เดือนต่อมา ซึ่งถือว่า ผิดสัญญา เพราะก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่เคยให้สัญญากับเด็กว่า หากจะเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี” บรรณาธิการข่าวการศึกษาฯ เว็บไซต์เด็กดี กล่าว
ด้านผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าระบบทีแคส รอบที่ 4 แอดมิชชั่นว่า ขณะนี้ ทปอ.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเปิด ‘ศูนย์พี่ช่วยน้อง’ เพื่อช่วยเหลือประสานงานเกี่ยวกับการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบดังกล่าว ทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์4.มหาวิทยาลัยศิลปากร 5.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ 7.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.ทปอ.
ทั้งนี้ การสมัครรอบแอดมิชชั่น จะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 12-16 มิ.ย. 2561 ประมวลผลและประกาศผลการคัดเลือก วันที่ 4 ก.ค. 2561 และประกาศผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาวันที่ 19 ก.ค. 2561 ซึ่งล่าช้าจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา 9 วัน (ปี 2560 ประกาศผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา วันที่ 10 ก.ค.)โดยจำนวนรับที่ลงทะเบียนไว้มีประมาณ 8 หมื่นคน
เลขาธิการ ทปอ. ยังได้ชี้แจงถึงประเด็นความเข้าใจผิดเรื่องเปลี่ยนระบบสอบเข้าต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี ซึ่ง ทปอ.สัญญาแค่แอดมิชชั่น ประกาศว่า เมื่อใดก็ตามที่จะเปลี่ยนแปลงต้องบอกล่วงหน้า 3 ปี เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนน G PAX ที่ต้องเก็บมาตั้งแต่ม.4 ฉะนั้นจึงไม่สามารถประกาศเปลี่ยนแปลงแบบพลิกลำภายในปีเดียวได้ ส่วนหลักเกณฑ์อย่างอื่น ๆ นั้น ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา .