ไขความ ‘จินดามณี’ ตำราประพันธศาสตร์ไทย
“อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ข้าราชการกรมศิลปากร เป็นบุคคลแรกที่ตรวจสอบชำระจินดามณีมาตีพิมพ์เผยแพร่ ในพ.ศ.2485 เรียกฉบับโหราธิบดีว่า เล่ม 1 ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักฉบับนี้ แต่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้มีการตีพิมพ์มาตลอด”
เสียงบทสวดทำนองหลวง ฉบับหนังสือแบบเรียนไทย ‘จินดามณี’นำโดย ‘ครูมืด’ ประสาท ทองอร่าม และคณะ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้ารับฟังเสวนา หัวข้อ เข้าใจจินดามณี ซึ่งจัดโดย กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
โดยการจัดเสวนาครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกระแสละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้จินดามณี โดยเฉพาะ ‘ฉบับโหราธิบดี’ เป็นที่สนใจของประชาชนไปด้วย
ปัจจุบันกลุ่มภาษาและวรรณกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่จินดามณี ฉบับต่าง ๆ มาตั้งแต่พ.ศ.2558 ได้แก่ ฉบับความแปลก ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับจุลศักราช 1144 ฉบับเล่ม 1 หรือ ฉบับโหราธิบดีแต่ง ฉบับใหญ่บริบูรณ์ และฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต
อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร
อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ในฐานะผู้ตรวจสอบชำระจินดามณี เริ่มต้นบอกเล่าว่า หอสมุดแห่งชาติมีสมุดไทยจินดามณี ทั้งหมด 117 เล่ม และเชื่อหรือไม่ว่า ในจำนวนทั้งหมดนี้ไม่มีเล่มไหนเลยที่มีเนื้อหาเหมือนกันทุกตัวอักษร ทุกเล่มมีความลักลั่นแตกต่างกันไป
“อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ข้าราชการกรมศิลปากร เป็นบุคคลแรกที่ตรวจสอบชำระจินดามณีมาตีพิมพ์เผยแพร่ ในพ.ศ.2485 เรียกฉบับโหราธิบดีว่า เล่ม 1 ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักฉบับนี้ แต่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้มีการตีพิมพ์มาตลอด”
ผู้เชี่ยวชาญฯ บอกว่า ปี 2413 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ‘หมอสนิท’ โรงพิมพ์บางคอแหลม ได้นำจินดามณี ฉบับกรมหลวงวงศาธิราช มาพิมพ์ และ ‘หมอบลัดเลย์’ (แดน บีช แบรดลีย์) โรงพิมพ์ปากคลองบางกอกใหญ่ พิมพ์อีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า ฉบับหมอบลัดเลย์ ในปี 2418 และ 2422
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีฉบับอื่นอีกเยอะ ระดับครูบาอาจารย์เรียกว่า ‘ความแปลก’ เพราะมีเนื้อความแปลก พร้อมกับย้ำว่า สมุดไทยทุกเล่ม จะเขียนชื่อว่า จินดามณี เหมือนกันหมด ต้นฉบับจะไม่มีคำห้อยท้าย เช่น ความแปลก พระโหราธิบดี เหมือนปัจจุบัน
“เราไม่เคยพบจินดามณีฉบับใดเลยที่เขียนด้วยตัวอักษรสมัยกรุงศรีอยุธยา
ทุกเล่มที่พบเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งหมด
และฉบับที่ลายมือเก่าแก่ที่สุด คือ ฉบับความแปลก
และฉบับจุลศักราช 1144
ซึ่งฉบับหลัง ตรงกับพุทธศักราช 2325 ปีแรกของรัชกาลที่ 1”
ส่วนความเชื่อที่ว่า จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี เป็นหนังสือแบบเรียนไทยเล่มแรกนั้น ในมุมมองของอาจารย์บุญเตือน เห็นว่า ไม่ใช่
เขาให้เหตุผลว่า จากการศึกษาพบจินดามณีน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิฉะนั้นคนสมัยก่อนจะร่ำเรียนกันมาได้อย่างไร ทั้งนี้ เชื่อว่า พระโหราธิบดีเป็นผู้ตรวจสอบชำระใหม่ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งมากกว่า
ข้อมูลน่าสนใจมากขึ้น เมื่ออาจารย์บุญเตือน กล่าวถึงจินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่ Royal Asiatic Society กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยศ.ขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายสำเนากลับมายังประเทศไทยมอบให้กรมศิลปากร และจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในพ.ศ.2504
สาเหตุที่เรียกว่า ฉบับพระบรมโกศ เนื่องจากมีการระบุปีศักราช เทียบเคียงแล้วตรงกับ พ.ศ.2275 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่มิได้หมายความว่า จินดามณีเล่มนี้แต่งขึ้นในรัชกาลนี้ เพียงอาจมีการคัดลอกขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งฉบับนี้มีการฝังด้วยเส้นมุก ถือว่ามีความพิเศษ
ส่วน จินดามณี ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต เนื้อหาเกือบเหมือนของพระโหราธิบดีทั้งหมด ขณะที่จินดามณี ฉบับหมอบลัดเลย์ ได้คัดบางส่วนมาจากจินดามณี ฉบับ สังฆราชฝรั่งเศส ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน
“ลำดับนี้จะพรรณาด้วยธรรมเนียมบ่าวพูดกับขุนนาง
แลเจ้าพูดกับบ่าว ขุนนางผู้ใหญ่พูดกับบ่าว
แลพระเจ้าแผ่นดินทรงตรัสกับมหาดเลก เปนต้น
ข้อความเหล่านี้ เราได้คัดออกมาแต่หนังสือจินดามุนี
ซึ่งท่านสังฆราชฝรั่งเสดได้แต่งไว้นั้น
ได้เปลี่ยนคำบ้างเล็กน้อยแต่เท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จินดามณีทุกเล่ม มีพยัญชนะไทยทั้งหมด 44 ตัว แต่ในละครบุพเพฯ บอกว่า ฉบับพระโหราธิบดี มี 37 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด ข้อมูลนั้นผู้เขียนนำมาจากจดหมายเหตุลาลูแบร์
“จินดามณีไม่ใช่หนังสือที่จะซื้อไปอ่านเอง หรือไม่ใช่เด็กจะอ่านหรือเรียนเองได้ แต่ต้องมีสำนัก เพราะจินดามณีแต่ละสำนักขึ้นต้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีความลักลั่นแตกต่างกัน” อาจารย์บุญเตือน กล่าวในที่สุด .