ท้องถิ่นโอนงบอาหารกลางวันให้รร.ล่าช้า ปลัดศธ.สั่งเช็คข้อมูล มีกี่แห่ง
ปัญหาพันกัน! ท้องถิ่นโอนงบอาหารกลางวันให้รร.ล่าช้า ปลัดศธ.สั่งเช็คข้อมูล มีกี่แห่ง รวมถึงตัวเลขเงินบริจาคจากภาคเอกชน เชื่อ 20 บ./หัว ไม่เพียงพอ ด้านเลขาสพฐ.จี้ผอ.เขต ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบ ทุกโรงเรียน ทั้งการรับเงิน การบริหารจัดการ ไม่ใช่ดูแค่จัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว
วันที่ 8 มิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมผ่านระบบ Conference หัวข้อการประชุม "การปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบาย สพฐ." ตอนหนึ่ง ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงการตรวจติดตามการดำเนินการอาหารกลางวันของนักเรียน ในส่วนของสถานศึกษาที่สังกัดสพฐ. ว่า อยากให้เขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปติดตามภาวะโภชนาการของเด็ก และทำอย่างเข้มข้น ไม่เพียงแต่จัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว รวมถึงการเข้าไปแนะนำการจัดรายการอาหารตาม Program Thai School Lunch เขตพื้นที่การศึกษาต้องเปลี่ยนบทบาทไม่ใช่ส่งเอกสารให้โรงเรียนอย่างเดียว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า สพฐ.ได้แจ้งแนวปฏิบัติไปแล้ว โดยสรุปขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาได้มอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรลงตรวจติดตามการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ไปให้ครบทุกโรงเรียน ทั้งการรับเงิน การบริหารจัดการ หากพบการทุจริตให้รีบดำเนินการ หรือหากไม่พบทุจริตแต่พบว่า มีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันไม่เป็นระบบ ก็ต้องรีบแก้ไข
"ขอให้ดูผลสัมฤทธิ์ของโครงการอาหารกลางวันเด็ก จากอาหารที่เด็กรับประทาน" เลขาธิการสพฐ. กล่าว และว่า โรงเรียนสังกัดสพฐ. 3 หมื่นกว่าแห่ง ผู้อำนวยการเขต 225 คน ช่วยกันตรวจสอบทุกโรงเรียนที่มีงบอาหารกลางวัน และตรวจให้ถี่ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีข้อร้องเรียน ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ เนื่องจากในอนาคตการตรวจสอบของสังคมจะมากกว่านี้ รวมถึงคุณภาพการศึกษา ก็มีการเรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคและเท่าเทียม
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการมีหนังสือสั่งการไปยังศึกษาธิการจังหวัด หลังมีข่าวเรื่องทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนั้น มาตรการหนึ่งที่ป้องกันได้ คือ ให้ผู้ปกครองมาร่วมเป็นกรรมการตรวจรับ หรือมีส่วนร่วมในโครงการอาหารกลางวัน ในแต่ละสถานศึกษา
ส่วนประเด็นงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน หัวละ 20 บาท ที่ออกล่าช้า และโรงเรียนบางแห่งต้องออกเงินส่วนนี้ไปก่อนนั้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบปัญหาการโอนเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก ที่รับโอนมาจากท้องถิ่นให้โรงเรียนล่าช้าด้วยว่า มีมากหรือน้อยอย่างไร เพราะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พันกัน
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อยากให้เขตพื้นที่การศึกษาสำรวจตัวเลขงบประมาณการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่เป็นเงินบริจาคค่าอาหารกลางวันเด็กว่า มีจำนวนเท่าไหร่ หรือมีกี่โรงเรียนทำแบบนี้ เนื่องจากงบประมาณรายหัวละ 20 บาทที่รัฐให้ไม่เพียงพอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สถ.ล้อมคอกออก 4 มาตรการป้องกันทุจริตงบฯ อาหารกลางวันเด็ก
สถ.กำชับท้องถิ่น จัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวันเด็ก ให้ชุมชน ภาคปชช.มีส่วนร่วม