พึ่งรัฐเเก้ทุจริตฝ่ายเดียวไม่ได้ 'ดร.พนัส' ยกความสำเร็จเอกชนพัฒนา CAC เป็นที่ยอมรับนานาชาติ
CAC มอบใบประกาศ 66 บริษัท ผ่านระบบป้องกันทุจริต 'ดร.พนัส สิมะเสถียร' เผยโครงการก้าวหน้ามาก นานาชาติยอมรับ เชื่อหากภาคเอกชนเห็นความสำคัญสร้างกลไกขจัดคอร์รัปชันมากขึ้น ปัญหาจะหมดไปจากสังคม
วันที่ 7 มิ.ย.2561 แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption:CAC) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านกระบวนการรับรองและเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตอย่างสมบูรณ์ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการ CAC กล่าวว่า สื่อต่าง ๆ ได้รายงานการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่สถาบันที่เป็นเสาหลักสำคัญของประเทศอย่างการศึกษาและศาสนา ขณะที่รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development:IMD) ปี 2561 อยู่อันดับ 30 ของโลก ลดลงจากเดิมอันดับ 27 ในปี 2560 แสดงให้เห็นว่า ไทยยังประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาลหรือประสิทธิภาพในการจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การจัดการปัญหาจะหวังพึ่งกลไกในการทำงานของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นอีกขาหนึ่งของสมการที่ทำให้เกิดปัญหาด้วย
ทั้งนี้ การกำหนดกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทนั้น มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างมาก เพราะเมื่อภาคเอกชนมีระบบควบคุมในการป้องกันจ่ายสินบน จะช่วยให้ปัญหาในประเทศลดลงและหมดไปในที่สุด ซึ่งกลไกที่ว่านั้นคือ CAC ปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก ที่สำคัญ ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีหลายประเทศ เช่น ภูฎาน อินเดีย ตุรกี อินโดนีเซีย เข้ามาขอคำแนะนำในการจัดตั้งและพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตและมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ยังได้สนใจในโครงการนี้ด้วย โดยส่งทีมงานพัฒนาหลักสูตรเข้ามาสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำแนวคิดกลับไปจัดทำเป็นกรณีศึกษาสำหรับใช้ในการศึกษาภาคปริญญาโท
ประธานคณะกรรมการ CAC กล่าวอีกว่า โครงการ CAC เดินหน้ามาไกลเช่นนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการดึงภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน CG Fund พร้อมกันนี้ เชื่อมั่นว่า หากบริษัทเอกชน ได้เห็นถึงความสำคัญของการวางกลไกทุจริตมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้บริษัทอื่นอยากเข้าร่วมโครงการ CAC มากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนพลัง ตลอดจนเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไปจากสังคม
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กรณีเกี่ยวกับพระ และการทุจริตในโรงเรียน นำขนมจีนคลุกน้ำปลาให้เด็กอนุบาลทาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าอนาถมาก หลายคนยังถาม สื่อมวลชนก็ถาม นักธุรกิจก็ถาม ประชาชนทั่วไปก็ถาม แล้วจริง ๆ การคอร์รัปชันของไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลง และ 4 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบ้าง
ทั้งนี้ ไม่ฟันธงว่า สถานการณ์การคอร์รัปชันของไทยดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2556 ที่ภาคธุรกิจได้ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระดมความคิดเห็นแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็น แผนแม่บทเพื่อการปฏิรูปต่อต้านคอร์รัปชัน และยื่นข้อเสนอเหล่านั้นให้แก่รัฐบาล เมื่อปี 2556 พร้อมกับยื่นให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงรัฐบาลชุด คสช.
โดยข้อเสนอ 6 ประเด็น 24 มาตราการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อย่างไรก็ตาม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มาตรการที่ได้นำเสนอประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของรัฐบาล 100% แต่หลายเรื่องเกิดจากการผลักดันของหลายหน่วยงานร่วมกันมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายชื่อ 66 บริษัท ที่ผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริตในไตรมาส 4/60 และ 1/61 มีดังนี้ 1.บ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน), 2. บ.ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), 3.บ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), 4.บ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน), 5.บ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 6.บ.ทีโอเอ เพอฟอร์มมานซ์ โค๊ทติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, 7.บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด, 8.บ.แอร์โรคลาส จำกัด, 9.บ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 10. บ.โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน), 11. บ.ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน), 12.บ. ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน), 13. บ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน), 14.บ.ไทยรุ่ง ออโต้ กรุ๊ป จำกัด, 15. บ.ไทยรุ่ง พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด, 16. บ.บิซ มอเตอร์ส จำกัด, 17.บ.บิซรีซอร์ส จำกัด, 18.บ.อีซูซุชัยเจริญกิจมอเตอร์ส จำกัด, 19.บ.เลกซัส ออโต้ ซิตี้ จำกัด, 20.บ.วีพีเค ออโต้ จำกัด
21.บ.วี.พี.ออโต้ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, 22.บ.ไทย วี.พี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด, 23. บ.สหโคเจน กรีน จำกัด, 24. บ.สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด, 25. บ.สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), 26.บ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), 27.บ.น้ำตาลมิตรผล จำกัด, 28.บ.พาโตเคมีอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน), 29.บ.แสนสิริ จำกัด (มหาชน), 30.บ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), 31.บ.ยูบิส (เอเชีย) จำกัด (มหาชน), 32.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), 33.บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด, 34.บ.กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), 35.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), 36.บ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), 37.บ.เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), 38.บ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน), 39.บ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน), 40.บ.พีแอนด์แอล อินเทอร์นอล ออดิท จำกัด
41.บ.ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด, 42.บ.พรอดดิจิ จำกัด (มหาชน), 43.บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด, 44.บ.น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน), 45.บ.สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน), 46.บ.โกลบอลกรีเคมิคอล จำกัด (มหาชน), 47.บ.มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 48.บ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน), 49. บ.ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 50.บ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 51.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), 52.บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด, 53.บ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), 54.บ.อุตสาหกรรมถังโลหะไทย จำกัด (มหาชน) 55.บ.หลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน), 56.บ. อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), 57.บ.ที่ปรึกษา เอเชีย พลัส จำกัด, 58.บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด, 59.บ.เอเชีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 60.บ.สุรพลฟู๊ด จำกัด (มหาชน)
61.บ.หลักทรัพย์โนมูระ พัฒนาสิน จำกัด (มหาชน), 62. บ.บ้านปู จำกัด (มหาชน), 63.บ.ซาบีน่า จำกัด (มหาชน), 64.บ.หลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด, 65.บ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 66.บ.ปตท.จำกัด (มหาชน) .