‘โภคิน’รอด!ศาล ปค.สูงสุดสั่งถอนคำสั่ง กทม. ไม่ต้องชดใช้1.4พันล.คดีรถดับเพลิง
‘โภคิน พลกุล’ อดีต รมว.มหาดไทย รอด! ศาล ปค.สูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่ง กทม. ไม่ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายจัดซื้อรถ-เรือ-อุปกรณ์ดับเพลิง 1.4 พันล้าน เหตุไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อ หนังสือ A.O.U. ไม่ใช่ข้อสั่งการ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ยอมตรวจสอบทันที แต่กลับทำตาม รมช.มหาดไทย ใช้วิธีเปิด L/C เอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2561 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่นายโภคิน พลกุล ผู้ฟ้องคดี กับ กทม. และผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฏหมาย กรณี กทม. มีคำสั่งให้นายโภคิน ในฐานะ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนกว่า 1.43 พันล้านบาท จากโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย กทม.
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โครงการนี้ กทม. ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย เข้าเสนอโครงการจัดหารถดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในลักษณะรัฐต่อรัฐเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2546
ต่อมาเมื่อนายโภคิน ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ผู้ว่าฯ กทม. ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ต.ค. 2547 แจ้งถึงกระบวนการจัดซื้อดังกล่าวอาจดำเนินการมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งให้ทราบว่า มีผู้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการจัดซื้อดังกล่าว
ดังนั้นด้วยอำนาจหน้าที่ของนายโภคิน ในขณะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ที่ต้องควบคุม ดูแลการปฏิบัติราชการของ กทม. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อพบหรือมีเหตุอันควรสงสัยองค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลว่า อาจมีการบริหารงานที่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริต และอาจทำให้เกิดความเสียหายหรือเสียประโยชน์อย่างใด ๆ แล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินการสั่งการให้มีการตรวจสอบ สอบสวนเรื่องราว ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินการถูกต้อง และชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่ แต่นายโภคินหาได้ทำเช่นนั้นไม่ จึงเป็นการไม่ดำเนินการควบคุมดูแลการบริหารราชการของ กทม. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 อันถือได้ว่าเป็นการละเลยหรืองดเว้นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อความตามหนังสือลงวันที่ 5 พ.ย. 2547 ที่นายโภคิน มีถึง ผู้ว่าฯ กทม. ว่า “ควรดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน Agreement of Understanding (A.O.U.) นั้น มิได้มีลักษณะเป็นการสั่งการให้ดำเนินการ คงเป็นเพียงการแจ้งตอบข้อหารือ และให้ความเห็นประกอบ เนื่องจากนายโภคิน มีอำนาจหน้าที่เพียงควบคุมกำกับดูแลการบริหารราชการ กทม. เท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งยกเลิกเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันเป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าฯ กทม. ได้
ดังนั้นหากผู้ว่าฯ กทม. ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายโภคิน ผู้ว่าฯ กทม. ก็ชอบที่จะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับหนังสือลงวันที่ 5 พ.ย. 2547 แล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายโภคิน โดยการเปิด L/C ให้แก่บริษัท สไตเออร์เดมเลอร์พุค สเปเชียลฟาห์รซอยก์ จำกัด ทันที แต่ผู้ว่าฯ กทม. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาทบทวนรายละเอียดการจัดซื้อรถ-เรือ-อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวอีกครั้ง จึงเห็นได้ว่า กทม. และผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหนังสือของนายโภคิน และสามารถเจรจาต่อรอง หรือขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ หากเห็นว่าไม่ชอบธรรม
ส่วนการที่ผู้ว่าฯ กทม. เปิด L/C ให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2548 และ กทม. ได้ชำระค่าสินค้าในงวดที่ 1-9 ให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯ ตามข้อตกลงการซื้อขาย ก็เนื่องจาก รมช.มหาดไทย (นายประชา มาลีนนท์ ขณะนั้น) มีหนังสือลงวันที่ 16 ธ.ค. 2547 แจ้งให้ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการเปิด L/C ให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯ โดยทันที จึงเห็นได้ว่า การเปิด L/C ของผู้ว่าฯ กทม. มิได้เป็นผลโดยตรงมาจากการตอบหนังสือข้อหารือของนายโภคิน
ดังนั้นความเสียหายที่ กทม. ได้รับจากการดำเนินการเปิด L/C ให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงมาจากการที่นายโภคิน ละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแล กทม. เช่นกัน นายโภคินจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อ กทม. และไม่ต้องรับผิดจากการที่ กทม. ต้องชำระราคารถ-เรือ-อุปกรณ์ดับเพลิง ในงวดที่ 1-9 รวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ เนื่องจาก กทม. ได้รับรู้ รับทราบ และรับที่จะดำเนินการเองตั้งแต่ต้น และนายโภคิน ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในการทำสัญญาหรือตกลงในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของสัญญา และเป็นเรื่องที่ กทม. ต้องรับผิดตามสัญญาเป็นการเฉพาะ
ศาลปกครองสูงสุด จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้นายโภคิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ กทม. จำนวน 1,434,463,937 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในชั้นศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ที่ให้นายโภคินชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว แต่ กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามชั้นต้นดังกล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายโภคิน จาก youtube