ดาวเทียม : ประเภทและภารกิจ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ "ดาวเทียม" ในกระแสที่รัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหม มีแนวคิดจัดหา "ดาวเทียม" มาใช้ในกิจการความมั่นคง จนมีข้อสงสัยว่าจะมีการจัดซื้อ "ดาวเทียมทหาร" รวมไปถึง "ดาวเทียมจารกรรม"
"สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริการวบรวมเอกสารและบุคลากรของโครงการวี-2 ในช่วงยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันจรวด" Neil R. Helm "Satellite Technology Applications"
จากความฝันสู่ความจริง
ความพยายามของมนุษย์ในฐานะของ "ลูกหลานของดีดารัส" มีความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะเดินทางไปในอากาศได้เหมือนนก และที่ความฝันไปไกลมากกว่านั้นก็คือ พวกเขายังเดินทางไปสู่อวกาศอีกด้วยในเวลาต่อมา
พื้นที่ที่เคยเป็นความเชื่อว่า เป็นที่อยู่อาศัยของ "เทพเจ้า" องค์ต่างๆ จึงต้องเผชิญกับการย่างกรายของบรรดาลูกหลานของดีดารัส ที่ในอดีตเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงความฝัน หรือไม่ก็ปรากฏอยู่เพียงเรื่องราวในเทวตำนานหรือในนวนิยายมากกว่าจะเป็นความจริง
นิยายสั้นเรื่องแรกที่กล่าวถึงวัตถุที่ถูกส่งขึ้นไปในวงโคจรของโลก เขียนโดย Edward Everett Hale เรื่อง The Brick Moon ตีพิมพ์ในนิตยสาร The Atlantic Monthly ในปี 1869 (พ.ศ. 2412) และอีกสิบปีต่อมานักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศสคือ Jules Verne จึงได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศเรื่อง The Begum’s Fortune ในปี 1879 (พ.ศ. 2422)
จนกระทั่งในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 งานเขียนทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจึงปรากฏขึ้น ในปี 1903 (พ.ศ. 2446) นักวิชาการชาวรัสเซียชื่อ Konstantin Tsiolkovsky (1857-1935) ได้ตีพิมพ์งานทางทฤษฎีเรื่อง The Exploration of Cosmic Space by Means of Reaction Devices (งานต้นฉบับตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซีย) เอกสารชิ้นนี้ถือเป็นงานทางวิชาการชิ้นแรกที่ว่าด้วยเรื่องของการใช้จรวดในการส่งอากาศยานขึ้นสู่อวกาศ และต่อมาในปี 1928 (พ.ศ. 2471) นักวิทยาศาสตร์ชาวสโลเวเนียชื่อ Herman Potocnik (1892-1929) ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Problem of Space Travel – The Rocket Motor และถือได้ว่าเป็นงานวิชาการอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญก่อนที่มนุษย์จะสามารถเดินทางสู่อวกาศได้จริงๆ
งานชิ้นสำคัญที่แม้จะเป็นนวนิยาย แต่ก็มักจะถูกกล่าวถึงเสมอคือ งานของ Arthur C. Clarke (1917-2008) เรื่อง Wireless World ที่ปรากฏสู่สาธารณะในปี 1945 (พ.ศ. 2488) โดยเขาได้กล่าวถึงการใช้ดาวเทียมสื่อสารสำหรับคนทั่วไป แม้จะเป็นเรื่องในนวนิยาย แต่ก็เป็นเสมือนแรงกระตุ้นสำคัญสำหรับความฝันว่า สักวันหนึ่งมนุษย์จะใช้อวกาศเป็นพื้นที่ใหม่ของชีวิตในอนาคต
ความฝันในนวนิยายของคลาร์กค่อนข้างจะใกล้ความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้เราจะไม่มีข้อมูลว่าคลาร์กรับรู้หรือไม่ก็ตามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการทหาร เพราะก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงในยุโรป นักการทหารส่วนหนึ่งมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า โลกยุคหลังสงครามโลกกำลังก้าวไปสู่การต่อสู้ที่สำคัญในอนาคต การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่การก้าวไปสู่อากาศ แต่เป็นการเดินทางไปสู่อวกาศ และความสำเร็จของเยอรมนีในการใช้จรวดในช่วงสงครามคือคำตอบสำเร็จรูปของการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น
การแข่งขันสู่อวกาศ
ในยุคหลังสงคราม นักการทหารของประเทศมหาอำนาจมองเห็นถึงความสำคัญของอวกาศ และเชื่อว่าอวกาศเป็น "มัชฌิมใหม่ทางทหาร" เพราะถ้าการวิจัยและพัฒนาจรวดประสบความสำเร็จได้จริง และมีขีดความสามารถมากกว่าจรวดแบบวี-2 ของกองทัพเยอรมันแล้ว จรวดจะมีขีดความสามารถในการบรรทุก (หัวรบ) และขณะเดียวกันก็สามารถเดินทางสู่เป้าหมาย (พิสัย) ที่อยู่ห่างไกลได้หลายพันไมล์ นอกจากนี้การพัฒนาจรวดยังมีผลโดยตรงต่อการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ขณะเดียวกันจรวดเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเอามนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ และในท้ายที่สุดจรวดเป็นพาหนะโดยตรงที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และนำเอาดาวเทียมเดินทางสู่อวกาศไปยังดาวดวงอื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป
ความสำเร็จของการแข่งขันสู่อวกาศเกิดขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม 1957 (พ.ศ. 2500) เมื่อสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม "สปุตนิก 1" ขึ้นสู่วงโคจร และถือได้ว่าการแข่งขันนี้เป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ในช่วงสงครามเย็น และในวันที่ 3 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน โซเวียตก็ส่ง "สปุตนิก 2" ขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับสิ่งที่มีชีวิตเป็นครั้งแรก สุนัขชื่อ "ไลก้า" จึงเป็น "หมาอวกาศ" ตัวแรกของโลก หรือเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่เดินทางสู่อวกาศ จนกระทั่งในวันที่ 12 เมษายน 1961 (พ.ศ. 2504) ยูริ กาการิน จึงเป็น "มนุษย์อวกาศ" คนแรกที่เดินทางขึ้นสู่วงโคจรโดยจรวดวอสต๊อก 1 ของโซเวียต
ความสำเร็จเหล่านี้ตอกย้ำถึงความฝันในการเดินทางสู่อวกาศที่กลายเป็นความจริง และขณะเดียวกันก็ยืนยันถึงการแข่งขันสู่อวกาศ ซึ่งพื้นที่ใหม่นี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของกิจการด้านการทหารเท่านั้น หากแต่นวนิยายของคลาร์กได้นำเสนอถึงความฝันที่ใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องมือของการสื่อสารจากอวกาศ และความสำเร็จนี้ปรากฏเป็นความจริงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1962 (พ.ศ. 2505) เมื่อประธานาธิบดีจอห์นสันได้ชมรายการโทรทัศน์ด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่ง "ภาพจากอวกาศ" นี้ได้กลายเป็นระบบสื่อสารหลักของโลกในปัจจุบันในการรับชมโทรทัศน์ของผู้คนทั่วโลก
ความสำเร็จของระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเทลสตาร์ 1 ได้ยืนยันให้เห็นว่า อวกาศจะไม่เป็นเพียงพื้นที่การแข่งขันทางทหารเท่านั้น หากแต่จะเป็นพื้นที่ใหม่ของการต่อสู้เชิงพาณิชย์อีกด้วย
ประเภทของดาวเทียม
คำว่า "ดาวเทียม" แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า "artificial satellites" ซึ่งหมายถึงวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและนำขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งคำนี้ตรงข้ามกับคำว่า "ดาวธรรมชาติ" หรือ "natural satellites" เช่น ดวงจันทร์ซึ่งเป็นดาวบริวารของโลก
ดาวเทียมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ดาวเทียมทหาร และดาวเทียมที่ไม่ใช้ในภารกิจทางทหาร
- ดาวเทียมทหาร ในทางทหารนั้น เราอาจจำแนกดาวเทียมออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1.ดาวเทียมนำร่อง (Navigational Satellites) ดาวเทียมชนิดนี้มีหน้าที่ในการส่งสัญญาณวิทยุไปยังยานพาหนะที่อยู่บนพื้นโลก เพื่อให้สามารถกำหนดพิกัดที่ชัดเจนว่า ยานพาหนะดังกล่าวอยู่ที่จุดใดบนพื้นผิวโลก ซึ่งความสำเร็จเช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากในยุคสงครามเย็น เพราะทำให้เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ใต้ผิวน้ำ สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าเรือดังกล่าวอยู่ที่ใด โดยไม่จำเป็นต้องลอยลำขึ้นสู่ผิวน้ำ และใช้การวัดหาพิกัดของเรือจากมุมของดาวเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ ตัวอย่างของดาวเทียมนี้ได้แก่ ดาวเทียมแบบ NAVSTAR ซึ่งดาวเทียมนี้ปัจจุบันได้นำเอาเทคโนโลยีของการกำหนดพิกัดของโลก (Global Positioning System หรือ GPS) มาใช้ในการเดินทางของมนุษย์
2.ดาวเทียมอุตุนิยม (Meteorological Satellites) งานอุตุนิยมวิทยาทางทหารในโลกปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องพึ่งพาการตรวจสภาพอากาศจากดาวเทียม ประมาณว่าร้อยละ 30 ของดาวเทียมตรวจอากาศในปัจจุบันเป็นดาวเทียมที่ใช้ในทางทหาร โดยดาวเทียมนี้จะแจ้งเตือนถึงสภาพอากาศสำหรับอากาศยานทหารและแก่บรรดาเรือรบ
3.ดาวเทียมเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning Satellites) ดาวเทียมชนิดนี้มีภารกิจโดยตรงสำหรับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าต่อการโจมตีที่จะเกิดขึ้นจากขีปนาวุธ ในปัจจุบันดาวเทียมที่ใช้ในภารกิจนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก เช่น ดาวเทียม "Teal Ruby" ของสหรัฐฯ สามารถตรวจจับเรือ อาวุธปล่อย หรืออากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการดาวเทียมในส่วนนี้มักจะถือว่าเป็นความลับสุดยอด
4.ดาวเทียมข่าวกรอง (Intelligence-gathering Satellites) ดาวเทียมนี้เป็นดาวเทียมทางทหารที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ยุคแรกๆ มีภารกิจในการเก็บข้อมูลข่าวกรองการสื่อสาร (COMINT) ข่าวกรองอิเลคโทรนิก (ELINT) ข่าวกรองสัญญาณ (SIGINT) ข่าวกรองคลื่นวิทยุ (TELINT) และข่าวกรองสัญญาณเรดาร์ (RADINT) ดาวเทียมที่ใช้ในภารกิจนี้เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างมาก และเป็นดาวเทียมที่ไม่ปรากฏข้อมูลในที่สาธารณะเท่าใดนัก
5.ดาวเทียมลาดตระเวน (Reconnaissance Satellites) ดาวเทียมชนิดนี้มีภารกิจในการเก็บข้อมูลข่าวกรองภาพถ่าย (PHOTINT) เช่น ดาวเทียม "Discoverer" เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ประสบความสำเร็จในการส่งแคปซูลของภาพถ่ายจากอวกาศกลับสู่สถานีรับบนพื้นโลกในปี 1959
6.ดาวเทียมล่าสังหาร (Anti-satellite Weapons) ดาวเทียมแบบนี้มีภารกิจโดยตรงในการทำลายดาวเทียมและหัวรบของฝ่ายตรงข้าม หรืออาจจะเรียกว่าเป็น "ดาวเทียมนักฆ่า" (Killer Satellites) ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อการทำสงครามในอวกาศโดยตรง
7.ดาวเทียมสื่อสารทหาร (Military Communication Satellites) ดาวเทียมนี้มีภารกิจโดยตรงที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ของการส่งสัญญาณสื่อสารที่ใช้ในภารกิจทางทหาร เช่น ดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จตั้งแต่ในยุคต้น โดยในเดือนธันวาคม 1958 ดาวเทียม "SCORE" ถูกส่งขึ้นวงโคจร และประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์ได้กล่าวอวยพรในเทศกาลคริสต์มาสถึงประชาชนทั่วโลกผ่านระบบสื่อสารของดาวเทียม ซึ่ง "เสียงจากอวกาศ" เช่นนี้ ได้กลายเป็นพื้นฐานของการสื่อสารในโลกปัจจุบัน
- ดาวเทียมพลเรือน หรือดาวเทียมที่ไม่ใช้ในภารกิจทางทหารมีแบบต่างๆ เช่น ดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพาณิชย์ ดาวเทียมสำรวจอวกาศ ดาวเทียมสำรวจโลก ดาวเทียมเพื่อใช้ในการทดลองทางชีววิทยา ดาวเทียมอุตุนิยมหรือดาวเทียมตรวจอากาศ และดาวเทียมต่อเชื่อม (ทำหน้าที่เป็น "ตัวต่อ" เชื่อมกับดาวเทียมดวงอื่น) หรือทำหน้าที่เป็นสถานีดาวเทียม
นอกจากนี้ยังจะต้องถือว่า "สถานีอวกาศ" (space stations) ก็เป็นดาวเทียมอีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน ในส่วนของดาวเทียมพลเรือนนั้นมีความชัดเจนว่า ดาวเทียมเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง และมักจะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ใช้ในกิจการด้านการพาณิชย์ ใช้เพื่อการสำรวจ หรือใช้สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ปัญหา
เราควรจะต้องทำความเข้าใจว่า ดาวเทียมมีลักษณะของการใช้งานหรือภารกิจเฉพาะ เช่น ดาวเทียมที่ใช้ในงานข่าวกรองก็ใช้ในภารกิจนั้น และไม่สามารถนำเอาดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพาณิชย์มาใช้ในงานข่าวกรองได้ เช่น เป็นไปได้ยากที่ดาวเทียมสื่อสารพลเรือนจะถูกใช้ในการดักสัญญาณทางการสื่อสาร (COMINT) หรือใช้เพื่อการดักสัญญาณอิเลคโทรนิก (ELINT) เป็นต้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา: สุรชาติ บำรุงสุข, รัฐศาสตร์ & ยุทธศาสตร์ (กรุงเทพฯ: โครงการความมั่นคงศึกษา, 2558)
ขอบคุณ : กราฟฟิกประกอบจากรายการ "ล่าความจริง" สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี 22