ไขมาตรการแก้ปัญหา 'นักโทษล้น' อันดับ 6 โลก เพิ่มโทษมากกว่า 'จำคุก-ปรับ'
สร้างมาตรการทางเลือกแทนจำคุก ลดจำนวนผู้ต้องหาในเรือนจำ หลังสถิติพบมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน แก้กม.เพิ่มอำนาจศาล ใช้ดุลยพินิจกำหนดบทลงโทษมากกว่า “จำคุก-ปรับ” เชื่อผลักคนออกนอกระบบได้
“ผู้ต้องขัง” ล้นเรือนจำ กลายเป็นปัญหาที่กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามหามาตรการทางเลือกแก้ไข เพื่อให้การควบคุมและเปลี่ยนพฤตินิสัยเป็นไปโดยเรียบร้อย
โดยจากข้อมูลสถิติ (วันที่ 2 มิ.ย. 2561) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ทั้งสิ้น 351,986 คน แบ่งเป็นชาย 305,494 คน และหญิง 46,492 คน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.ผู้ต้องขังกว่า 80 % (282,892 คน) เป็นนักโทษเด็ดขาด, 19% (66,899 คน) เป็นผู้ต้องขังระหว่าง และ 0.020% (71 คน) เป็นคนฝาก (เยาวชน)
2.ผู้ต้องกักขัง 0.598% (2,106 คน)
3.ผู้ต้องกักกัน 0.005% (19 คน)
เมื่อแยกตามคดี พบว่า 65% (228,833 คน) เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และ 34% (123,164) เป็นคดีทั่วไป ส่วนผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ตามพ.ร.บ.ฟื้นฟู มีเพียง 6,286 คน หรือแค่ 1.84% เท่านั้น
(อ่านประกอบ:กรมราชทัณฑ์ เปิดตัวเลขล่าสุด คนล้นคุก ผู้ต้องขัง 2.2 แสน ต้องคดียาเสพติด)
ขณะที่พื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 122,047 คนเท่านั้น เท่ากับว่า มีจำนวนผู้ต้องขังเกินมาเกือบ 2 เท่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการใช้ “กำไลอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Monitoring:EM) ในการปล่อยตัวชั่วคราว และลดการลงโทษจำคุกในชั้นคุมประพฤติเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคนล้นคุกแล้ว และอนาคตหากพบว่า มีประสิทธิภาพก็จะมีการนำมาใช้เพิ่มขึ้นและถาวร
อย่างไรก็ตาม คำถามเกิดขึ้นว่า ทางเลือกใช้ EM เป็นมาตรการที่เพียงพอหรือไม่สำหรับนำมาใช้แทนการจำคุก?
ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวผิดคิดพลาด...ให้โอกาสแก้ตัวใหม่” จัดขึ้นโดยกรมราชทัณฑ์ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ศ.ณรงค์ ใจหาญ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่า ต้องกำหนดมาตรการการลงโทษหรือปรับทางปกครองแทนโทษอาญาในความผิดบางฐาน ดังนั้นกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้หลังจากนี้ จึงต้องมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการออกกฎหมาย
“อาจจะต้องถือกฎเข้มว่า ความผิดอาญาร้ายแรง มีโทษจำคุก หรือสูงกว่านั้น คืออะไร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครตอบได้ ส่วนที่ไม่ได้เป็นความผิดอาญา ควรมีโทษเป็นอะไร และโทษนั้นควรเหมาะสมกับการกระทำความผิด”
ส่วนเรื่องจำนวนโทษ เขามองว่า ในปัจจุบันมีทางเลือกน้อยมาก โดยมีเฉพาะ “โทษจำคุก” กับ “โทษปรับ” ขณะที่โทษประหารชีวิตที่มีทั้งหมดกว่า 80 มาตรา ปัจจุบันกำลังปรับปรุงอยู่
ฉะนั้นโทษจำคุกที่มีอยู่จึงเปรียบเป็น “โทษยาสามัญประจำบ้าน” ที่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่มีมากในการกำหนดโทษ แต่ข้อเท็จจริงพบว่า กลับไม่สามารถใช้ดุลยพินิจได้เลย เพราะกฎหมายถูก “ล็อก” ไว้ตามแนวทางของกฎหมายเยอรมันและญี่ปุ่น นั่นคือว่า นิติบัญญัติกำหนดไว้แม้กระทั่งโทษขั้นต่ำ
ดังนั้น ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ โดยเสนอให้แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจของศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษที่มากกว่าโทษจำคุกหรือโทษปรับเช่นเดียวกับอังกฤษ
ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ยังกล่าวว่า ด้านกลไกการบังคับใช้กฎหมาย กรณีถูกลงโทษจำคุก จะต้องเป็นบุคคลอันตรายที่ได้กระทำความผิดอันตราย และไม่สามารถอยู่นอกเรือนจำได้ มิฉะนั้นจะกระทำความผิดซ้ำ แก้แค้นผู้เสียหาย มีมาตรการกระทำความผิด หรือยุ่งกับสังคมตลอด คนแบบนี้จึงควรอยู่ในคุก และไม่ควรอยู่เพื่อรอวันลดโทษ
“คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในคุกจนกว่าสังคมจะแน่ใจว่า ออกมาแล้วจะกลายเป็นคนดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม”
ทั้งนี้ หากใช้กฎหมายที่กำหนดโทษขั้นต่ำและขั้นสูง จะถือเป็นการใช้ดุลยพินิจที่แคบมาก แล้วศาลจะไม่มีทางทราบเลยว่า แต่ละคนมีเบื้องหลังการกระทำความผิดอย่างไร และเมื่อออกไปแล้วจะกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ ดังนั้นมาตรการที่มีอยู่จึงไม่สามารถใช้ได้ดี
แตกต่างจากในต่างประเทศ ซึ่งก่อนการกำหนดโทษในแต่ละคดีนั้น จะมีกระบวนการ “สืบเสาะ” เกี่ยวกับเบื้องหลังและสภาพของผู้กระทำความผิด ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ทำไมถึงทำ และสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร แต่ของไทยยังไม่มี ยกเว้น “คดีเด็ก”
โดยหากสืบเสาะแล้ว อาจใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุก เช่น บริการสังคม ปลูกต้นไม้ ทั้งนี้ ในกรณีที่รอการลงโทษ แล้วคนนั้นไม่เป็นภัยต่อสังคม
ศ.ณรงค์ ยังเห็นว่า นอกจากนี้ควรมีมาตรการ “ชะลอฟ้อง” เพื่อเป็นตัวตัด แทนที่จะให้คดีขึ้นสู่ศาลเลย โดยพนักงานอัยการสามารถใช้วิธีคุมประพฤติ แทนการสอบฟ้องคดี แต่จะสร้างความไว้วางใจในการลงโทษนอกเรือนจำได้ จำเป็นต้องมี “ชุมชน” ที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์คุมประพฤติ เพื่อปรับพฤติกรรม ซึ่งหากมีกลไกลเสริมจุดนี้มากเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามคุมประพฤติ การป้องกันสังคม จะทำให้ระบบผลักคนออกนอกเรือนจำได้มากขึ้น
เพื่อเรือนจำจะได้เป็นพื้นที่เฉพาะ “คนอันตราย” ที่ไม่ควรออกมาได้แทน แม้ท้ายที่สุด ไทยอาจจะก้าวไปไม่ถึงเนเธอร์แลนด์ที่ไม่มีนักโทษในเรือนจำเลยก็ตาม .
อ่านประกอบ:อธิบดีกรมราชทัณฑ์เล็งของบฯ จัดซื้อ ‘กำไล EM’ เพิ่ม หากประเมินผลทดลองมีประสิทธิภาพ
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
ผู้ต้องขังล้นคุก "ศอ.นธ." เผยเพิ่ม 80 คน/วัน คาด 2 ปียอดพุ่ง 3 แสนราย
เอกสารประกอบการสร้างความเข้าใจ ปห.ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก