- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- การเมืองและระบบยุติธรรม
- ผู้ต้องขังล้นคุก "ศอ.นธ." เผยเพิ่ม 80 คน/วัน คาด 2 ปียอดพุ่ง 3 แสนราย
ผู้ต้องขังล้นคุก "ศอ.นธ." เผยเพิ่ม 80 คน/วัน คาด 2 ปียอดพุ่ง 3 แสนราย
ศอ.นธ. สรุปผลงานรอบ 6 เดือนพบปัญหากระบวนการยุติธรรมอื้อ ฟ้องคดีอาญาเรื่องขี้หมูขี้หมา-ผู้ต้องหาล้นคุก-ขอประกันตัวยาก จ่อสรุปข้อเสนอส่งตรง "ยิ่งลักษณ์" สานต่อ
วันที่ 11 กรกฎาคม ที่โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค กรุงแทพฯ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) จัดประชุมวิชาการ “สรุปผลการดำเนินการของ คอ.นธ. รอบ 6 เดือน” โดย ศ.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. กล่าวเปิดงานว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรม พ.ศ.2554 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ คอ.นธ. ขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยปัญหา ข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง คอ.นธ.ได้ดำเนินการในหลายประเด็น อาทิ ปัญหาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา สภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรื่องดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล และสิทธิพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองทั้งสิ้น
“ศอ.นธ. จึงประสงค์นำเสนอผลการดำเนินการในรอบ 6 เดือนต่อสาธารณชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะสรุปข้อเสนอส่งมอบต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป”
จากนั้น ศ.พิเศษเรวัต ฉ่ำเฉลิม กรรมการ ศอ.นธ. กล่าวนำเสนอผลการดำเนินของ ศอ.นธ. รอบ 6 เดือน โดยภาพรวมว่า จากการศึกษาพบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก แต่ปัญหาหลักคือ 1.เรื่องการเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า ประการแรกต้องสันนิษฐานว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้โดยคำพิพากษา และประการที่สองในระหว่างที่ยังไม่มีการตัดสิน จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ แต่พบว่าเพียงแค่ 2 เรื่องดังกล่าว บ้านเรายังปฏิบัติไม่ครบ เช่นกรณีการขอให้ปล่อยชั่วคราว หรือขอประกันตัว เราได้ยึดตามรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
“หลักกฎหมายมีข้อยกเว้นชัดเจนเรื่องการปล่อยชั่วคราว ถ้ากรณีใดไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก จะเอาตัวไว้คุมขังไม่ได้ หลักการนี้บัญญัติไว้ในหลักกฎหมายสากลทั่วโลก ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจอย่างสุจริต ตอบให้ชัดว่า เพราะเหตุใดถึงปล่อยหรือไม่ปล่อยชั่วคราว”
ศ.พิเศษเรวัต กล่าวว่า 2.การกำหนดให้คดีบางประเภทเป็นคดีที่ยอมความกันได้ ซึ่งปัจจุบันยังพบกฎหมายบางเรื่องที่แม้ผู้เสียหายประสงค์จะไม่ดำเนินการต่อ เช่นกรณีลักทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถยุติได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ดำเนินคดีให้รู้ดำรู้แดง แม้คู่เสียหายประสงค์จะปรองดองก็ตาม ฉะนั้นจึงเห็นว่าน่าจะต้องพิจารณา รีวิวเสียใหม่ว่า คดีเรื่องใดควรเป็นคดีที่ยอมความได้เพิ่มเติม บ้านเราจะได้ดำเนินคดีอาญากันน้อยๆ 3.การดำเนินคดีอาญา ในเรื่องที่เป็นคดีทางแพ่ง เช่น ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และ 4.ปัจจุบันประเทศไทย มีการฟ้องคดีอาญาจำนวนมาก เรื่องขี้หมูขี้หมาก็ฟ้องคดีอาญาทั้งหมด น่าจะต้องพิจารณาเช่นกันว่า คดีบางเรื่องสมควรฟ้องคดีอาญา หรือให้ชะลอการลงโทษไว้ก่อนได้หรือไม่ ในลักษณะเช่นเดียวกับคดียาเสพติด หากผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดจนหายแล้ว อัยการสามารถไม่ส่งฟ้องได้
ด้านนายนัทธี จิตสว่าง กรรมการ ศอ.นธ. และประธานอนุกรรมการวิชาการศึกษาสภาพปัญหาผู้ต้องขังในเรือนจำ ในคณะกรรมการ ศอ.นธ. กล่าวถึงสภาพปัญหาเรือนจำในขณะนี้ว่าเกิดจากมีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ปัจจุบันมีต้องขังประมาณ 240,000 คน ขณะที่ความจุปกติของเรือนจำอยู่ที่ 160,000 คน ซึ่งเกินความจุถึง 80,000 คน อีกทั้งแนวโน้มพบผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2,300 คน หรือประมาณ 80 คนต่อวัน ทั้งนี้คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีผู้ต้องขังเพิ่มถึง 300,000 คน
“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการสกัดกั้น หรือคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปยังเรือนจำ ซึ่งคณะอนุฯ เห็นว่าควรมีมาตรการกรองคนเข้าสู่เรือนจำ เช่น การขยายระยะเวลาคุมประพฤติจาก 2 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 3 ปี และเพื่อให้ความมั่นใจกับสังคมมากยิ่งขึ้นให้นำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้เสริมในการคุ้มปฏิบัติด้วย เร่งรัดให้กระทรวงยุติธรรมกำหนดสถานที่ใช้คุมขัง แทนการคุมขังในเรือนจำหรือโรงพัก ขยายระยะเวลาพักการลงโทษให้มากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศแคนนาดาที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจำคุกไม่เต็มตามคำพิพากษา มีการพักการลงโทษ เพื่อทดลองให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในสังคม ฯลฯ” นายนัทธี กล่าว และว่า ทั้งนี้ เพื่อให้เรือนจำเป็นที่คุมขังผู้ที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆ
ส่วน รศ.กมลินทร์ พินิจภูวดล กรรมการ ศอ.นธ. และประธานอนุฯ หลักนิติธรรมสากล ในคณะกรรมการ ศอ.นธ.กล่าวถึงผลการศึกษาแนวคิด มาตรฐาน หลักเกณฑ์ การดำเนินการเกี่ยวกับหลักนิติธรรมที่ปรากฏในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ สภายุโรป อาเซียนว่า หลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่องค์กรระหว่างประเทศใช้มีลักษณะคล้ายกัน 4 ประการ คือ 1.รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบภายใต้กฎหมาย 2.กฎหมายต้องมีความชัดเจนมีการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ มีความเป็นธรรม เสมอภาค คุ้มครองพิทักษ์สิทธิพื้นฐานของประชาชน 3.การเข้าถึงกระบวนการตรากฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมายของประชาชนต้องมีความเท่าเทียม เป็นธรรม และ 4.กระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพ มีอิสระ มีคุณธรรมจริยธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความพร้อมและเพียงพอ ที่สำคัญ ชุมชนต้องมีส่วนรวมในกระบวนการยุติธรรมด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ชุดต่างนั้นจะมีการนำกลับไปหารือในที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการ คอ.นธ. อีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป