ทำไมแค่คดีเค้กแต่งงานคู่เกย์ ต้องให้ศาลสูงสหรัฐตัดสิน
ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 ณ เมืองเลควู้ด รัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา คู่รักชาวเกย์คู่หนึ่งคือนายชาร์ลี เครค (Charlie Craig) และนายเดวิด มัลลินส์ (David Mullins) ต้องการว่าจ้างร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งในเมืองดังกล่าวชื่อร้านมาสเตอร์พีซ เค้กชอป (Masterpiece Cakeshop) ซึ่งมีนายแจ็ค ซี ฟิลลิปส์ (Jack C. Phillips) เป็นเจ้าของร้าน ให้ทำการออกแบบและทำเค้กตามที่คู่รักต้องการเพื่อใช้ในงานแต่งงานของทั้งคู่ แต่นายฟิลลิปส์ได้ปฏิเสธที่จะรับทำเค้กตามคำขอดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลในทางศาสนา เนื่องจากนายฟิลลิปส์เชื่อว่า การตกแต่งเค้กนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการยกย่องพระเจ้าที่เขานับถือผ่านงานศิลปะ ดังนั้น การตกแต่งเค้กเพื่อใช้ในงานแต่งงานของคู่รักร่วมเพศจึงถือเป็นการลบหลู่พระเจ้าอย่างหนึ่ง
นายแจ็ค ซี ฟิลลิปส์ (Jack C. Phillips)
เนื่องจากกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกของรัฐโคโรลาโด (The Colorado Anti-Discrimination Act) นั้น บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ซึ่งประกอบกิจการอันเสนอขายสินค้าหรือบริการให้แก่สาธารณชนโดยทั่วไป (Public Accommodations) เลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นเนื่องมาจากวิถีทางเพศของบุคคลนั้น นายเครค และนายมัลลินส์ จึงได้แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานสิทธิพลเมืองแห่งรัฐโคโลราโดเพื่อให้เอาผิดแก่นายฟิลลิปส์ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการสอบสวน สำนักงานสิทธิพลเมืองได้สรุปว่ามีมูลความผิดตามข้อกล่าวอ้างจึงได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสิทธิพลเมืองแห่งรัฐโคโรลาโดตามขั้นตอนของกฎหมายจนต่อมาได้กลายเป็นคดีขึ้นสู่ศาล
ตามข้อกล่าวอ้างของคณะกรรมการอ้างว่า นายฟิลลิปส์ไม่อาจเลือกปฏิบัติโดยยกความเชื่อในทางศาสนาของตนขึ้นอ้างในการให้บริการแก่สาธารณะได้ ในขณะที่นายฟิลลิปส์ได้ต่อสู้คดีว่า การทำเค้กเป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการบีบบังคับให้นายฟิลลิปส์ต้องทำเค้กให้แก่คู่รักร่วมเพศซึ่งเขาเองไม่เห็นด้วยนั้น เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางศาสนา อันเป็นสิทธิและเสรีภาพซึ่งได้รับการคุ้มครองและรับรองไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มาตรา 1 (The First Amendment) จากข้อกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายจึงได้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างอำนาจของรัฐในการป้องกันการเลือกปฏิบัติ และ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หมายถึง เสรีภาพของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ในการยึดถือในความเห็นใด ๆ และแสดงออกถึงความเห็นดังกล่าวได้โดยไม่อาจมีผู้ใดก้าวล่วงได้ ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนอันได้รับการยอมรับและมีการบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil & Political Rights หรือ ICCPR) โดยได้มีการรับรองต่อไปว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจอยู่ในรูปแบบใด ๆ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้นายฟิลลิปส์แพ้คดีโดยเห็นว่า การกระทำของนายฟิลลิปส์เป็นการขัดต่อกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของนายฟิลลิปส์ไม่ได้ถูกละเมิดแต่ประการใด และมีคำสั่งให้นายฟิลลิปส์ปรับเปลี่ยนการให้บริการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ศาลสูงสุดสหรัฐ (The Supreme Court of the United States) ได้ลงมติเป็นคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 มีคำพิพากษากลับให้นายฟิลลิปส์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายซึ่งออกโดยรัฐอันจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นปรปักษ์ต่อความเชื่อทางศาสนา โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐไม่อาจจำกัด ปิดกั้นหรือลงโทษการแสดงออกของบุคคลใดเพียงเพราะสังคมส่วนมากไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกับความเห็นที่บุคคลนั้นแสดงออกมา ในขณะที่ในคดีนี้ คณะกรรมการไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าการใช้และการตีความกฎหมายนั้นได้เป็นไปอย่างเป็นกลาง เหมาะสม และมีการคำนึงถึงเสรีภาพทางศาสนาอย่างเพียงพอแล้ว ดังนั้น การที่คณะกรรมการตัดสินว่าการกระทำของนายฟิลลิปส์เป็นความผิดและสั่งให้มีการจำกัดรูปแบบการแสดงออกจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของนายฟิลลิปส์และให้ยกเลิกคำสั่งใด ๆ ที่คณะกรรมการเคยออกไว้แก่นายฟิลลิปส์
ทั้งนี้ นักวิชาการบางส่วนได้แสดงความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลสูงในคดีนี้อิงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะในคดีนี้อยู่มาก เช่น การให้น้ำหนักกับคำวิจารณ์และการให้เหตุผลที่รุนแรงของคณะกรรมการ และการตัดสินของคณะกรรมการในคดีก่อน ๆ ที่มีข้อเท็จจริงคล้ายกันแต่กลับไม่ตัดสินให้เป็นไปในทางเดียวกัน ดังนั้น หากจะเกิดข้อโต้แย้งในศาลสูงเช่นเดียวกันกับคดีนี้ในอนาคต ก็อาจจะต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายเรื่องไป
การแสดงความคิดเห็นเป็นลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เกิดจากการคิด วิเคราะห์ ให้เหตุผล แบ่งปันและโต้เถียงความคิดกัน โดยไม่ว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับประเทศก็ตาม ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมและเป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐควรที่จะให้การรับรองและคุ้มครองโดยก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเชื่อและแสดงออกถึงความเชื่อหรือมุมมองใด ๆ ตามที่ตนยึดถือโดยไม่มีผู้ใดจะสามารถแทรกแซงหรือจำกัดสิทธินั้นได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลสูงฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมสหรัฐอย่างไรต่อไปในระยะยาว แต่นับจากช่วงระยะเวลาที่ศาลสูงได้อ่านคำพิพากษา ก็ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และโต้เถียงกันในสังคมวงกว้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าความเห็นจะมาจากฝั่งที่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษานั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามที่ศาลวางหลักไว้ในคำพิพากษาฉบับนี้และฉบับก่อนๆ อย่างแน่นอน
ที่มา: Masterpiece Cakeshop, Ltd., et al., Petitioners v. Colorado Civil Rights Commission, et al. No. 16–111.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากโพสต์ทูเดย์