ไทยทิ้งพลาสติก อันดับ 6 โลก ‘ดร.ธรณ์’ ชี้ไม่แก้ปัญหา อีก 30 ปี จะมีมากกว่าปลาในทะเล
‘ดร.ธรณ์’ เผยไทยติดอันดับ 6 ของโลก มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ชี้อีก 30 ปีข้างหน้า ไม่ป้องกัน ปริมาณมีสิทธิมากกว่าปลา ด้านดร.ปริญญา เเนะเเก้ปัญหาเริ่มจากตัวเอง เลิกขอรับช้อนส้อม หลอด ถุง จากร้านสะดวกซื้อ ขณะที่เชอร์รี่ เข็มอัปสร ให้ข้อมูลทะเลเเปซิฟิกเหนือมีเเพขยะขนาดสูงสุด 15 ล้านตร.กม. ใหญ่กว่าไทย 3 เท่า
วันที่ 5 มิ.ย. 2561 กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และภาคีเครือข่าย จัดงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก โดยในเวทีเสวนา ขยะ! คิดก่อนทิ้ง ทิ้งแล้วไปไหน ณ ลานEDEN1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงสถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลไทยกำลังย่ำแย่มาก และปัญหาดังกล่าวสะสมมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันติดอันดับ 6 ของโลก ดังนั้น อยากให้มองว่า ขยะที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองไหลลงทะเล ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยฝ่ายเดียว แต่ขยะได้ลอยออกไปยังที่ต่าง ๆ และส่งผลกระทบต่อนานาประเทศ ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้จะแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ เรียกว่า ไมโครพลาสติก สามารถปนเปื้อนเข้าไปในวงจรอาหารของสัตว์ ซึ่งผลกระทบไม่ได้ฆ่าวาฬอย่างเดียว แต่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาหารด้วย
“คนไอซ์แลนด์ ใช้ถุงพลาสติก 3 ใบ/เดือน คนไทยใช้ 240 ใบ/เดือน ถามว่า แฟร์หรือไม่กับการที่คนไอซ์แลนด์ ต้องมาเดือดร้อนกินเม็ดพลาสติกที่มาจากคนไทย เพราะฉะนั้นบทลงโทษของโลกกับประเทศไม่รักธรรมชาติ จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหากอนาคตไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลาในทะเล” นักวิชาการด้านทะเลฯ กล่าว
ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีคนจำนวนมากทิ้งขยะลงแม่น้ำและไหลออกสู่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลอง หรือแม่น้ำในภาคใต้ จึงสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มที่ตนเองไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก หลอด จากร้านสะดวกซื้อ โดยหันมาใช้ถุงผ้าแทน เพื่อลดปริมาณขยะ แต่หากยังทำเหมือนที่ผ่านมา อนาคตจะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ขณะที่ น.ส.เข็มอัปสร สิริสุขะ ผู้แทนกลุ่ม Little Forest กล่าวเพิ่มเติมว่า ขยะพลาสติกชิ้นแรกที่ถูกผลิตขึ้นมายังอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม กลายเป็นไมโครพลาสติก เล็กขนาดโมเลกุลได้ และจะลอยจากไทยผ่านกระแสน้ำไปยังประเทศต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า พลาสติกขนาดเล็กเทียบกับแพลงก์ตอนมีสัดส่วน1:2 ถือเป็นตัวเลขที่น่ากลัว และรู้หรือไม่ว่า ขยะเหล่านี้จะลอยไปอยู่ที่แปซิฟิกเหนือกลายเป็นแพขยะที่ใหญ่ประมาณ 7 แสน – 15 ล้าน ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ไทยมีพื้นที่ประมาณ 5 แสนตารางกิโลเมตร เท่านั้น
“วาฬที่ตายจากการกินพลาสติกเข้าไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่ใช่ตัวแรก แต่มีอีกหลายตัวที่ตายจากกรณีเดียวกัน ทำให้สะท้อนใจว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ใช้ชีวิตทำลายสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่น ๆ พยายามจะทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งผลกระทบกำลังย้อนกลับมา” ผู้แทนกลุ่ม Little Forest กล่าว .