มสธ.รับ2อาจารย์นิติฯไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษ!ปธ.สาขาฯยันโปร่งใส-ประชุมชี้ขาด5มิ.ย.
มสธ. รับบุคคลเป็นอาจารย์นิติฯ 2 ราย ทั้งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษ โวย กก.คัดเลือกฯสอดไส้วาระ อ้างประกาศให้งดเว้นไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์มาพิจารณา กก.คัดเลือกฯอีก 2 รายที่ไม่ได้เข้าประชุมทำหนังสือถึงอธิการฯค้านแล้ว ด้าน ปธ.สาขานิติฯยัน ไม่มีล็อบบี้ โปร่งใส มีพยานหลักฐานหมด ลูกอาจารย์เคยมาสมัครหลายคนแล้ว คัดตามระเบียบตลอด ลุ้นผลชี้ขาด 5 มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า การคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกให้แต่งตั้งเป็นอาจารย์ 2 ราย อาจมีคุณสมบัติไม่ตรงกับประกาศรับสมัคร เนื่องจากไม่ผ่านหลักเกณฑ์ภาษาอังกฤษ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯกลับใช้ดุลยพินิจงดเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งที่ตามประกาศไม่ได้ระบุอำนาจไว้ ทั้งนี้ผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือก 2 รายทั้งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษดังกล่าวถูกระบุว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาจารย์ภายใน มสธ. รายหนึ่งด้วย ส่งผลให้มีผู้ร้องเรียนไปถึงอธิการบดีให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว
แหล่งข่าวจาก มสธ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 มสธ. ออกประกาศรับสมัครคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ โดยระบุใจความสำคัญว่า ต้องใช้ผลการทดสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร (เช่น TOEFL Paper, TOEFL CBT เป็นต้น) กรณีที่ยังไม่มีคะแนนทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องนำคะแนนไปยื่นให้กองการเจ้าหน้าที่ภายใน 3 เดือน นับจากวันประกาศผลการคัดเลือกจึงจะได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติหน้าที่ หากคะแนนที่ได้รับไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด หรือกรณีเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกแต่ละสาขาวิชา (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้มีผู้สมัครคัดเลือกหลายราย แต่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก และผ่านการสอบสัมภาษณ์ทั้งหมด 8 ราย ต่อมาในการสอบภาคปฏิบัติรอบสอง มีผู้ผ่านการคัดเลือกเหลือ 3 ราย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องยื่นคะแนนภาษาอังกฤษต่อ มสธ. ภายในกำหนด 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 21 มิ.ย. 2561) นับแต่วันประกาศผลการคัดเลือก ตามประกาศ มสธ. ฉบับลงวันที่ 21 มี.ค. 2561 โดยผู้สมัครทั้ง 3 ราย ยื่นคะแนนภาษาอังกฤษให้แก่ มสธ. แต่มี 2 รายคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ สาขาวิชานิติศาสตร์ ได้ประชุมโดยมีองค์ประชุมแค่ 3 รายจากทั้งหมด 5 ราย โดยมีวาระเกี่ยวกับเรื่องการเทียบเงินเดือนของผู้ผ่านการคัดเลือกรายหนึ่ง ที่ได้คะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์แล้ว แต่มีการสอดแทรกเพิ่มวาระจรให้กรรมการพิจารณา เกี่ยวกับคะแนนสอบของผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 2 รายที่ภาษาอังกฤษไม่ผ่าน ซึ่งไม่ได้ระบุอยู่ในระเบียบวาระตั้งแต่ต้น ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือเวลาในการยื่นคะแนนภาษาอังกฤษอยู่ ขณะเดียวกันมีกรรมการบางราย พยายามที่จะให้อาจารย์รายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สมัคร 2 ราย ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษ เข้าร่วมการพิจารณาแทนตนเอง แต่ไม่อาจทนเสียงคัดค้านของกรรมการที่เหลืออีกรายหนึ่งได้ จึงต้องออกจากห้องประชุมไป
นอกจากนี้ยังมีกรรมการรายหนึ่ง ได้เสนอให้รับผู้ผ่านการคัดเลือก 2 รายที่เหลือ ซึ่งยังไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษ โดยอ้างประกาศรับสมัครคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ลงวันที่ 14 พ.ย. 2560 ว่า คณะกรรมการคัดเลือกมีอำนาจในการพิจารณาให้รับผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 ราย เข้าทำงานได้ โดยไม่ต้องมีคะแนนภาษาอังกฤษตามเกณฑ์
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้กรรมการคัดเลือกรายหนึ่งพยายามอ้างข้อความจากประกาศรับสมัครคัดเลือกฯลงวันที่ 14 พ.ย. 2560 ที่ระบุว่า หากคะแนนที่ได้รับไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกแต่ละสาขาวิชา อย่างไรก็ดีในเมื่อมีรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาแล้วตามประกาศรับสมัครคัดเลือกฯลงวันที่ 21 มี.ค. 2561 พบว่า ไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า หากคะแนนภาษาอังกฤษไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะมีอำนาจรับบุคคลดังกล่าวให้บรรจุเข้าทำงานโดยใช้ดุลยพินิจของผู้ใดได้ (ดูเอกสารประกอบ)
“แต่กรรมการรายนี้ ได้พยายามอย่างมากจนได้มติจากที่ประชุม 2 ต่อ 1 เสียง ให้รับผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 2 รายที่เหลือ ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีกรรมการรายหนึ่งคัดค้าน และระบุในบันทึกข้อความในรายงานการประชุมว่า ไม่เห็นด้วย และหลังการประชุมเสร็จสิ้น แม้มติของที่ประชุมยังไม่มีการรับรองอย่างถูกต้อง และยังไม่ได้เสนอให้อธิการบดีทราบตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ประธานสาขาวิชานิติศาสตร์ กลับยอมให้ผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 2 รายที่เหลือ เข้ารายงานตัว และเข้าทำงานเฉกเช่นเดียวกับอาจารย์ทั่วไป ถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีธรรมาภิบาล” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนกรรมการคัดเลือกฯอีก 2 ราย ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมนั้น รายหนึ่งเป็นประธานสาขาวิชารัฐศาสตร์ได้ทำเรื่องทักท้วงไป ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นอาจารย์ในสาขาวิชานิติศาสตร์ ระบุสาเหตุที่ไม่ได้เข้าประชุม เพราะเข้าใจว่า มีแต่เรื่องเทียบค่าประสบการณ์ของผู้สมัครที่ผ่านหลักเกณฑ์ภาษาอังกฤษ โดยไม่มีรู้ว่าจะมีวาระจรคือการขอยกเว้นภาษาอังกฤษของผู้สมัครอีก 2 รายที่เหลือ
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 2 ราย โดยได้รับการยกเว้นจากคณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ต้องผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษนั้น ถูกอาจารย์ภายในวิพากษ์วิจารณ์ว่า รายหนึ่ง จบปริญญาตรี และปริญญาโทจาก มสธ. โดยมีกรณีการสอบทดแทนหลายชุดวิชา และไม่เคยทำงาน ไม่มีประสบการณ์ด้านการสอน ส่วนอีกรายหนึ่งอ้างว่าทำงานวิจัยมาแล้วกว่า 50 เรื่อง ทั้งที่โดยปกติแล้วการทำวิจัยจะต้องมีการเปรียบเทียบกับกฎ
หมายต่างประเทศ กลับสอบภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานไม่ผ่าน นอกจากนี้งานวิจัยที่มีคุณภาพ หากทำด้วยตนเองคงไม่น่าจะทำได้เกินปีละ 2 เรื่อง หากคิดคำนวณกับการทำวิจัย 50 เรื่อง ต้องใช้เวลาประมาณ 25 ปี จึงน่าสงสัยว่า เป็นการทำวิจัยแบบกลุ่มโดยอาศัยการแปะชื่อเข้าเป็นผู้ร่วมทำวิจัยหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ ถูกระบุว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาจารย์รายหนึ่งใน มสธ. ด้วย
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 มิ.ย. 2561 รศ.ภาณุมาศ ขัดเงางาม ประธานสาขาวิชานิติศาสตร์ มสธ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯชุดนี้ไม่ได้มีแค่ 5 ราย แต่ได้รวมกรรมการสาขาวิชานิติศาสตร์อีก 7 ราย มีประธานสาขาวิชานิติศาสตร์โดยตำแหน่งอีก 1 รายเข้าไปด้วย ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯจึงมีประมาณ 10 กว่าราย ดังนั้นการที่จะมาพูดล็อบบี้กันจึงเป็นไปไม่ได้
รศ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ส่วนการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นไปตามประกาศคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งอาจารย์ฯ ลงวันที่ 14 พ.ย. 2560 ระบุชัดเจนว่า หากคะแนนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมการคัดเลือกฯสามารถใช้ดุลยพินิจได้ ส่วนการอ้างประกาศคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งอาจารย์ ลงวันที่ 21 มี.ค. 2561 นั้น เท่าที่เข้าใจคือไว้บังคับใช้คนละกรณีกัน
เมื่อถามว่า ตกลงแล้วที่ประชุมวันดังกล่าว ได้นำวาระจรสอดแทรกให้มีการพิจารณาผู้สมัครคัดเลือกฯ 2 รายที่ไม่ผ่านเกณฑ์ใช่หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รศ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ไม่มีวาระจร มีแต่วาระอื่น การประชุมปกติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีวาระอื่นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยวาระอื่นก็มีหลายเรื่องปะปนกัน ไม่ได้เป็นวาระหลักของการประชุม ดังนั้นการพิจารณาดังกล่าวเป็นขั้นตอนปกติ และทุกเรื่องมีพยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมด ทำงานอย่างโปร่งใส
รศ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า ในการพิจารณาผู้สมัครคัดเลือกฯ 2 ราย ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษนั้น ไม่ได้งดเว้นไม่ต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษ เพียงแต่นำมาพิจารณาว่า คะแนนอาจใกล้เคียงกับที่มหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์ไว้ จึงพิจารณาได้ เนื่องจากบางสาขาไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเคร่งขนาดนั้น ถ้าถามว่าสาขาวิชานิติศาสตร์ ต้องใช้ระดับไหน ตอบได้ว่าประมาณหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว จึงส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอัตรากรอบกำลังเพื่อพิจารณาอีกรอบ โดยวันที่ 5 มิ.ย. 2561 จะมีการประชุมดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องรอผลที่ประชุมดังกล่าวด้วย
เมื่อถามว่า มีการระบุว่า ผู้สมัครคัดเลือกฯรายหนึ่งที่ถูกพิจารณาให้เป็นอาจารย์ทั้งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษนั้น เป็นบุตรของอาจารย์รายหนึ่งใน มสธ. จึงอาจใช้เส้นสายของมารดาเพื่อให้ได้เป็นอาจารย์ รศ.ภาณุมาศ กล่าวว่า อาจคิดกันได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ใช่มีแค่กรณีนี้กรณีเดียว ที่ผ่านมาหลายสาขาวิชา เปิดรับ มีบุตรของอาจารย์ภายใน มสธ. เข้าสมัครด้วย บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ เพราะจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เป็นหลัก ยืนยันได้ว่า ไม่มีการใช้เส้นสายแน่นอน
“ขอให้สบายใจได้ ในการคัดเลือกนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯมีถึง 10 กว่าคน ไม่มีการล็อบบี้แน่นอน ส่วนการสอบเป็นอาจารย์ ไม่ใช่แค่มาสอบแล้วกลับบ้าน ต้องมีการทำเวิร์คช็อปถึง 2-3 วัน ต้องกินนอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย มีการตรวจงานทุกอย่าง ดังนั้นถ้าไม่เก่งจริง มาเป็นอาจารย์ไม่ได้” รศ.ภาณุมาศ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการพิจารณาอัตรากรอบกำลัง จะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมด้วย โดยมีกรรมการคัดเลือกฯ 2 ราย ที่ไม่ได้เข้าร่วม และทำหนังสือทักท้วงเรื่องนี้ เข้าร่วมพิจารณาด้วย