ดร.นิพนธ์ เสนอรบ.ตั้งกองทุน River Trust ดูแลเจ้าพระยา แบบเดียวแม่น้ำเทมส์
สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง เล็งยื่นหนังสือถึงสำนักนายกฯ จี้รัฐให้ทบทวนโครงการทางเลียบเจ้าพระยา โดยเฉพาะมีรูปแบบรุกล้ำลำน้ำหวั่นกระทบวิถีชีวิต-ชุมชน
วันที่ 4 มิถุนายน 2561 สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง (Assembly of Green River :AGR) จัดเสวนาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7 อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง ประกอบด้วยนักวิชาการหลายๆ สาขาอาชีพและภาคีสมาชิกที่เป็นองค์กรวิชาชีพ เร็วๆ นี้เตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสำนักนายกฯ เพื่อให้ทบทวนโครงการทางเลียบเจ้าพระยา โดยเฉพาะรูปแบบโครงสร้างที่รุกล้ำลำน้ำเจ้าพระยา ตามที่กทม.ของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง พร้อมกับหวั่นว่า จะกระทบวิถีชีวิตชุมชน
ขณะดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็น 'สมบัติสาธารณะ' ทุกคนมีสิทธิ์ใช้เท่ากัน แนวคิดการใช้ประโยชน์ต้องเปลี่ยน วันนี้รัฐกลับกำลังรุกล้ำสมบัติสาธารณะเสียเอง ถามว่า ใช้อำนาจอะไร
"ก่อนเดินหน้าโครงการ 1.ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทางเลียบเจ้าพระยาคุ้มหรือไม่กับการทุ่มเงินลงไป ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม 2.มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่" ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมารัฐมักคิดโครงการใดโครงการหนึ่งขึ้นมา แล้วทำเลย ทั้งๆที่เราอยู่ในสังคมเปิด มีประชาธิปไตย ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งการอ้างคำว่าพัฒนา ต้องฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย และควรเลือกทางที่สังคมมองเห็น หรือมีฉันทามติร่วมกัน
นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ เราปล่อยให้มีการพัฒนาเฉพาะริมฝั่งได้อย่างไร เจ้าพระยาเฉพาะส่วนของ กทม.มีคลองสาขาซ้าย - ขวา กว่า 200 คลองและเชื่อมกันหมด ปัจจุบันกลับพบว่า ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง อำนาจหน้าที่กระจัดกระจาย
พร้อมกันนี้ ดร.นิพนธ์ ยังเสนอรัฐบาลตั้งกองทุน แบบเดียวกับ Thames River Trust โดยโอนเงินจากโครงการทางเลียบเจ้าพระยามาอยู่ในกองทุนนี้ และมีคณะกรรมการเข้ามาดูแลแม่น้ำเจ้าพระยาแบบเบ็ดเสร็จ
ด้านนายเจตกำจร พรหมโยธี สถาปนิกผังเมือง กล่าวว่า ทางเลียบเจ้าพระยา 90% รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อว่า หากมีการตอกเสาเข็มต้นแรก อาจมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแน่นอน
ส่วนดร.จาริต ติงศภัทิย์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงโครงการทางเลียบเจ้าพระยาอยู่ดีๆก็เกิดขึ้นมา มองว่า ไม่คุ้มกับการที่รัฐต้องทุ่มใช้เงินมากขนาดนี้ จึงอยากให้ทบทวนโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ภายในงาน สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีใจความดังนี้
สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 28/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ) เป็นประธานและปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้เสนอโครงการในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุดประมาณที่ระดับ 2.8 เมตรเหนือ รทก. ความกว้าง 19.5เมตร วงเงินงบประมาณเบื้องต้น 14,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าก่อสร้าง 13,136 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 120 ล้านบาท และ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เห็นชอบกรอบระยะเวลาที่เสนอพร้อมให้กระทรวงมหาดไทย ทำการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายละเอียดการออกแบบและก่อสร้างเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ
จากนั้นกรุงเทพมหานครได้กำหนด TOR ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาและออกแบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา
จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด
ประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของที่ปรึกษาออกแบบเป็นการสร้างสะพาน/ ถนนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร ยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ในแต่ละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ผลการออกแบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งหลักการที่ถูกควรมองเป็นการพัฒนามิติเชิงพื้นที่ โดยมีแม่น้ำคูคลองเป็นแกน มิใช่เป็นการพัฒนาเพียงมิติเชิงเส้นริมแม่น้ำ
ยิ่งกว่านั้นยังมีผลกระทบในหลายๆมิติทั้งด้านภูมิสถาปัตย์ ประเพณีวัฒนธรรมริมน้ำ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งทางน้ำ การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ
สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการหลายๆสาขาอาชีพและภาคีสมาชิกที่เป็นองค์กรวิชาชีพ มิได้คัดค้านแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นแนวคิดที่ดีหากมีการศึกษารอบด้านและออกแบบก่อสร้างที่ถูกต้อง หากแต่สมัชชาฯคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับรูปแบบโครงสร้างที่รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่กทม.กำลังของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และขอให้ทบทวนโครงการเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและยุติการเดินหน้าก่อสร้างสะพาน/ถนนเลียบแม่น้ำของกทม.