ถอดบทเรียน ‘เมจิกสกิน’ แนะสื่อเสนอข่าวเจาะลึก ไม่ใช่แค่ไลฟ์สด รายงานสถานการณ์
เวทีถอดบทเรียน เมจิกสกิน กับการทำหน้าที่ของสื่อ แนะใช้ความชำนาญแต่ละสำนัก นำเสนอข้อมูลเจาะเชิงลึก ไม่ใช่เเค่ไลฟ์สด รายงานสถานการณ์ หวังกลายเป็นวาระร่วม สร้างสังคมเกิดการเรียนรู้
วันที่ 4 มิ.ย. 2561 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนาถอดบทเรียน จากกรณี ‘เมจิกสกิน’ ถึงการบุกตลาดใหม่ดอนเมือง สื่อทำหน้าที่อย่างไร ผู้บริโภคได้อะไร ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักอ้างเหตุผลไม่สามารถนำเสนอข่าวบางประเด็นได้ เพราะไม่มีผู้ชม แต่กรณี ‘เมจิกสกิน’ มองว่า ทำข่าวอย่างไรก็มีผู้ชม เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสปอตไลท์แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะนำเสนอในหลายแง่มุม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นข้อมูลเชิงลึก ถามว่ามีการนำเสนอผลการรวบรวมสถิติผู้ร้องเรียนผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หรือการจัดการปัญหามากน้อยเพียงใด เราจึงอยากเห็นผู้ที่มีความเชื่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เหล่านี้
สื่อมวลชนจึงเป็นตัวเชื่อมในการนำข้อมูลที่กระจัดกระจายของแต่ละหน่วยงานมาเชื่อมโยงกันเป็นจิ๊กซอว์ เพื่อให้คนเห็นภาพชัดเจนขึ้นได้ ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนเลิกใช้ผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน แต่กำลังจะชี้ชวนให้เห็นว่า จะตัดตอนกระบวนการแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้ สังคมต้องเกิดการเรียนรู้ว่า ตนเองจะปลอดภัยจากวงจรของผู้ขาย หรือการตัดสินใจบริโภคได้อย่างไร มิฉะนั้น อนาคตจะเจอกรณีลักษณะนี้อีก และมีการนำเสนอข่าวรูปแบบเดิม ๆ ต่อไป
“สื่อแต่ละแห่งมีความชำนาญแตกต่างกัน จึงอยากเห็นการใช้ความชำนาญเจาะลึกในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน เพื่อให้กลายเป็นวาระร่วมกัน ทีมออนไลน์จะต้องไม่ได้แค่ไลฟ์สดหรือรายงานตามสถานการณ์เท่านั้น แต่ต้องนำข้อมูลมาขยาย และทำให้กลายเป็นชุดความรู้สำหรับผู้ชม”
กรรมการจริยธรรม สภาการฯ ยังกล่าวถึงข้อเสนอ โดยเห็นว่า ควรสร้างระเบียบกติกาในการรีวิวสินค้า ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มี เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จะพบแค่การรายงานข่าวว่า ดาราได้เข้าไปรายงานตัว แต่ไม่เห็นมีการระบุว่าใครจะเป็นคนกลางในการจัดระเบียบ ถ้าจะรีวิวสินค้าได้ ควรทำอย่างไร แตกต่างจากสหรัฐฯ ที่มีคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบให้ปฏิบัติ
ด้านผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวเสริมว่า สื่อทำหน้าที่ได้ดี แต่การทำหน้าที่นั้นจะอยู่ในสกู๊ปหรือบทความ แต่ถ้าเป็นคนเสพเร็ว ๆ เสพง่าย ๆ สื่อจะชินกับการทำงานในการเอาไฟไปจับตัวละครบนเวที ทางออก สื่อจะต้องเปิดประเด็น คลี่ประเด็น และทำให้เห็นทางออกให้ได้ ทั้งนี้ หากไม่คลี่ปัญหาออกมา เชื่อว่า หลังจากเมจิกสกินก็จะมีตัวละครใหม่เกิดขึ้นอีก
ขณะที่ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี กรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ภายในรอบ 5 ปี พบผู้เสียชีวิตจาก LYN จำนวน 11 ราย แต่ที่แย่กว่านั้น เมื่อติดตามระบบรายงานอันตรายจากไซบูทรามีน แพทย์หรือพยาบาลกลับรายงานอาการของผู้ป่วยว่า เป็นโรคหัวใจ หรือจิตประสาท และจ่ายยารักษาตามอาการเท่านั้น โดยไม่ทราบว่า ต้นเหตุเกิดจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้น ต้องสร้างระบบการติดตามแบบบูรณาการกับโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา .