อธิบดีกรมราชทัณฑ์เล็งของบฯ จัดซื้อ ‘กำไล EM’ เพิ่ม หากประเมินผลทดลองมีประสิทธิภาพ
ล้นคุก! ผู้ต้องขังไทย 3.5 แสนคน พื้นที่เรือนจำรองรับเพียง 1.2 แสนคน ‘อธิบดีกรมราชทัณฑ์’ เผย 70% ต้องคดียาเสพติด ที่ผ่านมาทดลองใช้ EM คุมประพฤติ ปล่อยตัวชั่วคราว หากประเมินผลดี เตรียมของบฯ รองรับ ขยายเพิ่มการใช้จากหลักพันเป็นหลักหมื่น
วันที่ 2 มิ.ย. 2561 กรมราชทัณฑ์จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ก้าวผิดคิดพลาด ให้โอกาสแก้ตัวใหม่ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จะเห็นได้จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 350,366 คน ในขณะที่พื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานสามารถรองรับได้เพียง 122,047 คน ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดหรือภาวะ ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ (Prison Overcrowding) ทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องกับกรมราชทัณฑ์อย่างมาก ทั้งในส่วนการควบคุมและการแก้ไขปัญหาพัฒนาพฤตินิสัย ทำได้ไม่เต็มที่ และปัญหาการกระทำผิดซ้ำตามมา
กรมราชทัณฑ์จึงได้พยายามแสวงหามาตรการเลี่ยงการจำคุก โดยที่ผ่านมามีมาตรการที่เป็นไปได้ และได้ทดลองใช้แล้ว เช่น การใช้ กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring:EM) ใน 2 มิติ กล่าวคือ
-มิติแรก ศาลยุติธรรมจะใช้ EM เพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว ลดความเดือดร้อนของประชาชนได้มาก จากเดิมต้องเสียดอกเบี้ยรายวันกู้ยืมเงินมาประกัน
-มิติที่สอง การใช้ EM แทนการลงโทษจำคุกในชั้นคุมความประพฤติ ซึ่งศาลตัดสินให้จำคุก รอลงอาญา
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า การใช้ EM เป็นหนึ่งในตัวอย่างของมาตรการหักเหโทษจำคุกหรือเป็นทางเลือกในการลงโทษจำคุก เพราะการที่ผู้ได้รับการลงโทษไม่ได้ถูกส่งตัวไปเรือนจำ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการทำให้คนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้และศึกษา หรือทำงานได้ ตรงกันข้าม หากศาลตัดสินจำคุก จะส่งผลให้เสียอนาคตและเกิดความเสียหายกับประเทศ ทั้งนี้ โทษที่จะหักเหได้ต่อเมื่อไม่ใช่โทษรุนแรง
“ปัจจุบันกรมคุมประพฤติใช้ EM ควบคุมอยู่ในจำนวนหลักพันแล้ว ยังไม่ถึงหมื่น ส่วนการใช้ EM ประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ศาลเพิ่งนำมาใช้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา”
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะนำ EM มาใช้อย่างถาวรหรือไม่ พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ผู้ต้องขังร้อยละ 70 มีโทษจำคุกในคดียาเสพติด ราว 2.1 แสนคน จาก 3.5 แสนคน ซึ่ง EM จะเป็นคำตอบในทางเลือกที่ดี เพราะไม่ใช่การปล่อยเสือเข้าป่า แต่ต้องยอมรับยังมีราคาสูงและเป็นการเช่าซื้อปริมาณในหลักพัน ดังนั้นหากอนาคตมีการประเมินผลใช้งานได้ประสิทธิภาพ จะเสนอรัฐให้ตั้งงบประมาณรองรับ ทั้งนี้ จะครอบคลุมต้องใช้ปริมาณหลักหมื่น ซึ่งวิธีนี้ถือว่าคุ้มค่ามากกว่าการเลี้ยงผู้ต้องขังในคุก และอนาคตราคามีแนวโน้มถูกลงด้วย
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอทั้งหมดที่ได้จากการเสวนาไปเรียบเรียงและยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและในเวทีสากลต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันไทยทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ .