สาวปม 32 นร.ปริศนาโครงการพิเศษภาษาอังกฤษ'โยธินบูรณะ'-พบชื่อใหม่โผล่วิทย์คณิตด้วย 6 คน?
"...ทุกปีการศึกษาจะมีประกาศรายชื่อนักเรียนโดยแบ่งตามห้องเป็นปกติ ทั้งในเว็บไซต์และติดประกาศภายในโรงเรียน แต่ปีการศึกษา 2561 นี้ เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการประกาศรายชื่อนักเรียนห้องพิเศษโครงการ EP จะเห็นแค่ประกาศของห้องพิเศษโครงการ SMP กับห้องภาคปกติเท่านั้น อีกทั้งผู้อำนวยการ ยังสั่งกำชับไม่ให้คนนอก ผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่อาจารย์ที่ไม่ได้สอนห้องพิเศษโครงการ EP เข้าไปพื้นที่บริเวณชั้น 10 ของอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ห้องเรียนของนักเรียนโครงการ EP ม.1 – ม.6 อีกด้วย..."
ยังคงเป็นปริศนา ที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรณี โรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ประกาศรับนักเรียนชั้น ม.1 โครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ปีการศึกษา 2561 โดยประกาศรับสมัครเมื่อวันที่ 24-28 ก.พ. 2561 และประกาศผลการสอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 จำนวน 120 คน มีผู้สละสิทธิ์ 6 คน ทำให้เหลือผู้มีสิทธิ์เข้าเรียน 114 คน
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนโยธินบูรณะเริ่มเปิดเรียนเตรียมความพร้อมนักเรียนใหม่ กลับมีนักเรียนเข้าเรียนในโครงการนี้ มากถึง 146 คน โดยในจำนวนนี้มีรายชื่อนักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นมาจำนวน 32 คน จากผู้มีสิทธิเรียนจำนวนเดิม 114 คน ขณะที่รายชื่อใหม่ทั้ง 32 คนนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อประกาศผลสอบคัดเลือก 120 คน จึงทำให้ข้อสงสัยว่า รายชื่อนักเรียนจำนวน 32 คน ดังกล่าว เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร (อ่านประกอบ : ปริศนา! ร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษ 120 คน ถึงเวลารายงานตัวชื่อโผล่พรวด146 คน)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้นำรายชื่อนักเรียน จำนวน 114 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนมาเปรียบเทียบกับรายชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนจากการแบ่งห้องเรียนช่วงเตรียมความพร้อมที่ใช้ชื่อว่า “SUMMER PREPARATORY COURSE 2018 Mathayomsuksa 1” ซึ่งเริ่มเรียนไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็น 6 ห้อง จำนวนรวม 146 คน มาตรวจสอบพบว่า รายชื่อนักเรียนจำนวน 114 คน ที่ผ่านการสอบคัดเลือก ตรงกับรายชื่อนักเรียนในจำนวน 146 คน ส่วนที่เหลือ 32 คน เป็นรายชื่อที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ซึ่งรายชื่อทั้ง 32 คนนี้ ไม่ปรากฏเป็นผู้สอบผ่านการคัดเลือก ตามประกาศผลสอบคัดเลือกห้องเรียน EP ที่โรงเรียนได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 แต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งข่าวในโรงเรียนโยธินบูรณะรายหนึ่ง ให้ข้อมูลยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า “โครงการห้องเรียน EP (ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ หรือ English Program) นี้ เป็นโครงการที่มีชื่อเสียงของโรงเรียน ค่าใช้สูงกว่าห้องเรียนปกติ จ่ายแรกเข้าประมาณ 100,000 บาท แต่ละปีรับ 120 คน มีผู้เข้าสอบแข่งขันประมาณ 400 คน เป็นที่ต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานได้เข้าเรียนโครงการนี้ ส่วนรายชื่อนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ จากช่วงที่มีการประกาศชื่อเป็นทางการจำนวน 32 คน เข้ามาได้อย่างไร ยังไม่มีใครในโรงเรียนยืนยันข้อมูลเรื่องนี้ได้” อีกทั้ง ยังยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากการพูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่งในรายชื่อ 32 คน ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ได้รับแจ้งข้อมูลจากนักเรียนรายหนึ่งว่า ผู้ปกครองต้องเสียเงิน 600,000 บาท เพื่อให้ได้เข้าเรียนโครงการนี้ ส่วนจะเป็นเงินค่าอะไรนั้น ไม่มีใครรู้ (อ่านประกอบ : แกะรอยที่มา 32 รายชื่อ นร.ปริศนาภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ -เด็กอ้างผู้ปกครองควักจ่าย 6 แสน?)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายอดิศักดิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจง โดยให้เหตุผลว่า ผู้อำนวยการฯ ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลในเรื่องการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 ดังกล่าว เพราะทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งต้องเตรียมเรื่องดังกล่าวเข้าเสนอในที่ประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ถ้าพร้อมที่จะให้ข้อมูลจะติดต่อกลับไปที่สำนักข่าวอิศราเอง แต่ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันสำนักข่าวอิศรา ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : แจ้งผ่าน รปภ.พร้อมจะติดต่อกลับเอง! ผอ.ร.ร.โยธินฯ ยังไม่แจงปม32 ชื่อ นร. ปริศนาโผล่)
ส่วนท่าทีของผู้บริหาร สพฐ. ต่อกรณีนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ สพฐ. ได้มอบหมายให้ นางเพ็ญศรี วิลาวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานโยบาย สพฐ. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงเรียนโยธินบูรณะตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว (อ่านประกอบ : เผย เลขาฯ สพฐ. ทราบเรื่องร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษแล้ว - มอบฝ่ายนโยบายลุยตรวจ) แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนอะไรมากนัก
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปที่ สพฐ. อีกครั้ง เพื่อขอทราบความรายละเอียดความคืบหน้าการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในความดูแลของ นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ สพฐ. ขณะนี้อยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูล โดยให้นางเพ็ญศรี รวบรวมส่งต่อให้ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (กพร.) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กลุ่มเสริมสร้างพัฒนาวินัย (พน.) หน่วยงานในสังกัดอีกทีหนึ่ง โดยรายละเอียดนายณรงค์ จะติดต่อกลับสำนักข่าวอิศราเพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่อไป
@ ปีการศึกษา 2561 เป็นครั้งแรก ร.ร.โยธินฯ ไม่ประกาศรายชื่อห้องเรียน EP
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 แหล่งข่าวรายหนึ่งในโรงเรียนโยธินบูรณะ ติดต่อให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า ทุกปีการศึกษาจะมีประกาศรายชื่อนักเรียนโดยแบ่งตามห้องเป็นปกติ ทั้งในเว็บไซต์และติดประกาศภายในโรงเรียน
แต่ปีการศึกษา 2561 นี้ เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการประกาศรายชื่อนักเรียนห้องพิเศษโครงการ EP จะเห็นแค่ประกาศของห้องพิเศษโครงการ SMP กับห้องภาคปกติเท่านั้น
อีกทั้งผู้อำนวยการ ยังสั่งกำชับไม่ให้คนนอก ผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่อาจารย์ที่ไม่ได้สอนห้องพิเศษโครงการ EP เข้าไปพื้นที่บริเวณชั้น 10 ของอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ห้องเรียนของนักเรียนโครงการ EP ม.1 – ม.6 อีกด้วย
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลประกาศรายชื่อนักเรียน การจัดห้องเรียน และตารางเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 บนเว็บไซต์ของทางโรงเรียน http://www2.yothinburana.ac.th และ http://www.epyothin.net พบว่า นักเรียนชั้น ม.1 ถูกจัดห้องเรียนออกเป็น 14 ห้อง ดังนี้
ห้องเรียนโครงการภาษาอังกฤษ (EP) จำนวน 4 ห้อง แต่ไม่พบประกาศรายชื่อจัดห้องเรียน (พบเพียงประกาศตารางเรียน) ทำให้ไม่ทราบว่าจำนวนผู้เข้าเรียนในโครงการ EP มีเท่าไร จะเป็น 146 คน เท่ากับช่วงเรียนเตรียมความพร้อม SUMMER PREPARATORY COURSE 2018 Mathayomsuksa 1 ซึ่งเริ่มเรียนไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมาหรือไม่
นักเรียนโครงการภาคปกติ ประกาศครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 จำนวน 8 ห้องเรียน (ห้องละ 40, 40, 40, 40, 40, 36, 37, และ 38 คน) รวม 311 คน และประกาศครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 จำนวน 8 ห้องเรียน (ห้องละ 39, 40, 40, 40, 39, 38, 37 และ 37 คน) รวม 310 คน (ลดลง 1 คน)
ห้องเรียนโครงการพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (SMP) ประกาศครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 จำนวน 2 ห้องเรียน (ห้องละ 38 และ 37 คน) รวม 75 คน และประกาศครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 จำนวน 2 ห้องเรียน (ห้องละ 39 และ 40 คน) รวม 79 คน (เพิ่มขึ้น 4 คน)
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ความน่าสนใจของเรื่องนี้ จะไม่ได้มีเพียงจำนวนนักเรียนห้องเรียนพิเศษโครงการ EP เท่านั้น
เพราะเมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม จากประกาศผลการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ม.1 โครงการวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (SMP) ที่ทางโรงเรียนโยธินบูรณะลงประกาศไปเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 พบว่า มีรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 74 คนเท่านั้น
สิ่งที่น่าสังเกต คือ รายชื่อนักเรียนผู้สอบผ่านการคัดเลือกโครงการ SMP มีทั้งหมด 74 คน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 75 และ 79 คน (นับรวม 6 คน) ในรายชื่อการจัดห้องเรียนในเวลาต่อมาได้อย่างไร
นอกจากนั้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจาก ประกาศผลสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อศึกษาต่อ ม.4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (SMP) ปีการศึกษา 2561 พบว่ามีผู้สอบผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 43 คน และเมื่อตรวจสอบประกาศการจัดห้องเรียน พบว่า ประกาศครั้งที่ 1 วันที่ 8 พ.ค. 2561 ห้องเรียนโครงการ SMP ม.4 ถูกจัดเป็น 2 ห้อง รวม 60 คน (ห้องละ 30 และ 30 คน) และประกาศครั้งที่ 2 วันที่ 15 พ.ค. 2561 ห้องเรียนโครงการ SMP ม.4 ถูกจัดเป็น 2 ห้อง รวม 61 คน (ห้องละ 30 และ 31 คน)
ทำให้ประเด็นการรับนักเรียนโครงการพิเศษ SMP ม.4 จึงน่าสนใจและชวนสงสัยเช่นเดียวกับการรับนักเรียนโครงการพิเศษ ม.1 คือ จำนวนนักเรียน ม.4 โครงการ SMP จากประกาศผู้สอบผ่านการคัดเลือก 43 คน เพิ่มขึ้นเป็น 60 และ 61 คน ในช่วงการจัดห้องเรียนได้อย่างไร?
ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันกรณีการรับเด็กนักเรียนพิเศษภาษาอังกฤษของโรงเรียนโยธินบูณะดังที่ปรากฏเป็นข่าวจะได้รับความสนใจจาก สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการไปแล้ว
แต่สิ่งสำคัญคือ สพฐ. ควรต้องเร่งตรวจสอบการรับนักเรียนใหม่อย่างละเอียดทุกโครงการทั้งพิเศษและปกติ ทั้ง ม.1 และ ม.4 ไม่ใช่เพียงห้องเรียนโครงการ EP ม.1 เท่านั้น และต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดรวมถึงความเคลื่อนไหวการตรวจสอบดังกล่าวให้สาธารณชนได้ทราบด้วย
นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียนโยธินบูรณะเองต้องออกมาชี้แจงถึงข้อสงสัยถึงที่มาของรายชื่อนักเรียน 32 คน ตามที่ได้แจ้งไว้กับทางสำนักข่าวอิศรา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ว่า “พร้อมให้ข้อมูลจะติดต่อกลับไปเอง”
เพราะว่าบัดนี้เวลาก็ผ่านมากว่า 22 วันแล้ว อีกทั้งทางโรงเรียนได้เปิดเรียนไปเมื่อวันที่16 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาแล้ว สำนักข่าวอิศรายังไม่ได้รับการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด จึงทำให้ทั้ง 32 รายชื่อ ดังกล่าว ยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครชี้แจง
และหากปล่อยไว้แบบนี้ น่าจะไม่เป็นผลดีต่อตัวนักเรียนเอง รวมถึงภาพลักษณ์ของโรงเรียนในสายตาของสาธารณชนด้วย
โดยเบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา พร้อมที่จะเป็นสื่อกลาง เปิดพื้นที่ให้ ผู้บริหารโรงเรียน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนอย่างเต็มที่ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพียงเพื่อต้องการทำความจริงให้ปรากฎ ต้องการเห็นระบบการรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อในโครงการสำคัญต่างๆ มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน เท่านั้นเอง
อ่านประกอบ :
ปริศนา! ร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษ 120 คน ถึงเวลารายงานตัวชื่อโผล่พรวด146 คน
แกะรอยที่มา 32 รายชื่อ นร.ปริศนาภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ -เด็กอ้างผู้ปกครองควักจ่าย 6 แสน?
ป.ป.ช.ลุยตรวจ'แป๊ะเจี๊ยะ'ปี61 บริจาคเงินให้เด็กเข้าเรียนถือว่าติดสินบนผิดทั้งผู้ให้ผู้รับ