ภาคประชาสังคมจี้รัฐหยุด ‘ล่อซื้อ’ พนักงานบริการ ผิดกฎหมาย-กระทบสิทธิมนุษยชน
10 ปี พนง.บริการ ถูกจับกุม 300 คน/ปี ภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐหยุด ‘ล่อซื้อ’ หลังกระทบสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่ไม่ได้ค้าประเวณี ด้านกรรมการสิทธิ์ฯ แนะแก้รากเหง้า ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาอาชีพ ให้เลี้ยงครอบครัวได้
วันที่ 1 มิ.ย. 2561 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เชียงใหม่ จัดเสวนา เรื่อง จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขค้ามนุษย์ หรือยัง? ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 2551-2561 ว่าตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 คะแนนในการดูแลและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด ปี 2558 อยู่อันดับเทียร์ 3 สอบตก ในขณะที่งบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบันเกือบ 3 พันล้านบาท แต่พนักงานบริการกลับยังถูกล่อซื้อ บุกทลาย และส่งกลับ โดยรัฐไทยไม่มีแนวคิดในการพัฒนาอาชีพนี้เล้ว
“นโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกจับกุมกลับเป็นผู้หญิงแทน ซึ่งได้ถูกตัดขาดจากครอบครัว ถูกสอบปากคำอย่างหนัก ถูกขัง และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ หลายเดือนกว่าจะได้รับการส่งตัวกลับบ้าน” ผู้ประสานงาน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าว และว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงถูกใช้ในการจับกุมผู้หญิงมาตลอด ด้วยขบวนการล่อซื้อ โดยมีเอ็นจีโอต่างชาติร่วมมือกับตำรวจไทย ทั้งที่เป็นกระบวนการไม่ถูกต้อง และละเมิดสิทธิมนุษยชน
น.ส.ทันตา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน” จึงถือว่า เป็นการกระทำที่รุนแรงกับพนักงานบริการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพนักงานบริการ 3 แสนคน ขณะที่ 10 ปีที่ผ่านมา มีการล่อซื้อพนักงานขายบริการและจับผู้เสียหายได้ประมาณ 300 คนทุกปี โดยต้องจับให้ได้ถึง 100 คน เพื่อจะมีผู้เสียหาย 10 คน จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ไปด้วย
ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวยกตัวอย่าง กรณี ‘นาตาลี อาบอบนวด’ จับกุมได้ 121 คน ได้ผู้เสียหาย 15 คน และล่าสุด ‘วิคตอเรีย ซีเคร็ท’ จับกุมได้ 113 คน ได้ผู้เสียหาย 8 คน ส่วนคนที่เหลือถูกจับกุมในข้อหามั่วสุมในสถานบริการค้าประเวณี ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส แต่การจับกุมที่ผ่านมากลับไม่ใช่การให้โอกาสแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) มีข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย ภายหลังเกิดกรณีการล่อซื้อในนาตาลี อาบอบนวด เมื่อปี 2559 โดยขอให้หยุดล่อซื้อและบุกทลายทันที และให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี ให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้าคุ้มครองพนักงานบริการ
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเสริมว่า พนักงานบริการเป็นอาชีพที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นงานประเภทหนึ่ง เพราะงานบริการไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่มีโอกาสพูดคุยกับผู้หญิงหลายคน พบว่า หลายคนมีอาชีพที่ดีในเวลากลางวัน แต่เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เงินเดือนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหาอาชีพเสริม หันไปยึดอาชีพงานบริการ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม มองว่า การล่อซื้อ บุกทลาย ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกอับอายและถูกตีตรา ดังนั้น ตั้งคำถามว่า การล่อซื้อนั้นเพื่อปกป้องหรือให้มีการทำผิด แล้วเข้าไปจับเพื่อหวังรางวัล ทางออกจึงต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า ด้วยการส่งเสริมการศึกษา การมีงานทำ ให้ผู้หญิงดูแลครอบครัวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และเครือข่ายพนักงานบริการทั่วประเทศ มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่ และเอ็นจีโอต่างชาติ โดยเรียกร้อง 1.ให้รัฐเข้มงวดในข้อตกลงที่ได้รับข้อเสนอมาจากองค์กรนานาชาติโดยเฉพาะ CEDAW 2.ให้รัฐและองค์กรเอ็นจีโอนานาชาติที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ หยุดทำการล่อซื้อ และให้ถือว่า การล่อซื้อเป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นการร่วมกระทำความผิด และเป็นการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต นอกจากนั้นความผิดที่เกิดจากไม่ว่าผู้ใด รวมถึงเจ้าหน้าที่ ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย และ 3.รัฐต้องให้ความคุ้มครองคนอาชีพบริการ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ถือว่าผู้ค้าประเวณีเป็นผู้ผิด แต่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จึงต้องได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือ