กรมการจัดหางานแจง วสท. ไม่ปลดล็อก ‘วิศวกรรมโยธา’ ให้คนต่างด้าวทำ ยกเว้นผ่านข้อตกลงข้ามแดน
วสท.เเถลงไม่เห็นด้วย ก.เเรงงานเตรียมให้คนต่างด้าวทำงาน 'วิศวกรรมโยธา' หวังบรรเทาขาดเเคลน ด้านกรมการจัดหางาน เเจงยังสงวนสิทธิให้คนไทย ยกเว้นได้ขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ปลดล็อกเเค่ 'กรรมกร'
วันที่ 31 พ.ค. 2561 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. พร้อมด้วย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข อุปนายก วสท. และรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อดีตเลขาธิการ วสท. ประชุมและแถลงข่าวไม่เห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานเตรียมประกาศให้คนต่างด้าวประกอบอาชีพวิศวกรรมโยธาได้ โดยอ้างเพื่อบรรเทาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะประกาศเป็นกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้วันที่ 30 มิ.ย. 2561 ณ อาคาร วสท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม หนึ่งในนั้น คือ นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายสันติ นัตสุวรรณ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการจัดหางาน
นายสันติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายยังคงหลักการให้งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำทั้งหมด 39 อาชีพ เช่นเดิม โดยแบ่งเป็นงานที่ห้ามทำโดยเด็ดขาด 28 อาชีพ ดังนี้
-งานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาไทย (16 งาน) ได้แก่ งานแกะสลักไม้, งานทอผ้าด้วยมือ, งานทอเสื่อหรืองานทำเครื่องไม้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง เยื่อไม้, งานทำกระดาษสาด้วยมือ, งานเครื่องทำเขิน, งานเครื่องทำดนตรีไทย, งานทำเครื่องถม, งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก, งานทำเครื่องลงหิน, งานทำตุ๊กตาไทย, งานทำบาตร, งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ, งานทำพระพุทธรูป, งานทำร่มกระดาษหรือผ้า, งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ และงานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ
-งานที่คำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย (11 งาน) ได้แก่ งานขับขี่ยานยนต์ฯ, งานขายของหน้าร้าน, งานขายทอดตลาด งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย, งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมเสริม, งานนายหน้า หรืองานตัวแทน, งานมวนบุหรี่ด้วยมือ, งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว, งานเร่ขายสินค้า, งานเสมียนพนักงานหรือเลขานุการ และงานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดีฯ
-งานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทย และคำนึงถึงโอกาสการประกอบอาชีพของคนไทย (1 งาน)ได้แก่ งานนวดไทย
สำหรับงานในวิชาวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่กังวลนั้น ผอ.กองนิติการ กล่าวต่อว่า จัดอยู่ในหมวดงานห้ามทำ โดยมีเงื่อนไข 11 อาชีพ ดังนี้
-เงื่อนไขแรก ต้องมีผู้จ้าง และคนต่างด้าวนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ได้แก่ งานที่ปัจจุบันคนไทยไม่นิยมทำ และเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความรู้ขั้นสูง (8 งาน) ได้แก่ งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขาฯ, งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น, งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม, งานทำมีด, งานทำรองเท้า, งานทำหมวก, งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย และงานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา
-เงื่อนไขที่สอง งานที่ประเทศไทยมีความผูกพันหรือพันธกรณี ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ (3 งาน) ได้แก่ งานให้บริการวิชาชีพทางบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี แต่ไม่รวมถึงงานตรวจสอบภายใน และผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงฯ นักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)
งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาฯ ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs) รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดนหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
และสุดท้าย งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมฯ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนตามข้อตกลง MRAs)
ส่วนงานที่ไม่ห้ามทำหรือปลดล็อกจริง ๆ คือ ‘กรรมกร’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ด้านนายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ในช่วงเช้าจะมีการนำร่างประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นชอบ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการของคนต่างด้าว เพื่อจะมีมติเห็นชอบ เเล้วจึงให้รัฐมนตรีฯ ลงนาม และประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดหวังว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2561
ขณะที่ ดร.ธเนศ ระบุภายหลังรับฟังการชี้แจงจากผู้แทนกรมการจัดหางาน ยอมรับนักวิศวกรโยธาทั้งหมดกังวลว่า คำว่า วิศวกรรมโยธา ครอบคลุมความหมายทุกอย่างหรือไม่ ซึ่งทุกคนต้องผ่านการร่ำเรียนศึกษามา แล้วอยู่ดี ๆ จะปล่อยให้คนต่างด้าวเข้ามาทำอิสระไม่ได้ ดังนั้น จึงได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้นมา แต่เมื่อรองอธิบดีกรมการจัดหางานชี้แจงว่า งานในกลุ่มนี้มีข้อยกเว้น จึงเกิดความกระจ่างและไม่ต้องทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานอีกต่อไป .
ภาพประกอบ:งานก่อสร้าง-BaanFinder.com