เข้าข่ายสนับสนุน หลอกลวง “อัยการ” ชี้ช่องเอาผิดดารารีวิวเครื่องสำอาง-อาหารเสริมผิดกม.
อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักอัยการสูงสุด เปิดกฎหมายยันถ้าจะเอาจริงๆ กวาดเรียบดารา เซเลบ ผู้มีชื่อเสียงรีวิวสินค้าไม่ได้มาตรฐาน แนะเจ้าหน้าที่รัฐดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา236 เรื่องการปลอมปน ยันโทษหนักกว่าใช้พ.ร.บ.อาหาร
วันที่ 30 พฤษภาคม ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการประชุม โต๊ะกลม เรื่อง ความร่วมมือในการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาเพื่อความยั่งยืนในการคุ้มครองผู้บริโภค ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ต้องแก้ไปที่รากเหง้า ไปแก้กันทั้งระบบ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่ง เราจะเห็นการโฆษณาช่วงหลังๆ แตกต่างไปจากยุคก่อนๆ มีประเด็นการฉ้อโกง การหาสมาชิก และเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ที่ผ่านมาแม้หน่วยงานราชการจะออกมาเตือนแล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนหลงเข้าไปอยู่ในวังวนไม่ใช่น้อย ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม ออกมารีวิวสินค้าแค่ 1-2 ครั้ง ผู้บริโภคก็ไปซื้อ หลายรายใช้แค่ 2 วันหรือแทบไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเลย แสดงให้เห็นผู้บริโภคไทยมีภูมิคุ้มกันแค่ไหน”
ภก.ประพนธ์ กล่าวฐานข้อมูลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ บริษัทใดมาขอโฆษณากับอย.ได้มีการเก็บข้อมูลไว้แล้ว และนำฐานข้อมูลนี้ไปตรวจสอบร่วมกับ กสทช. กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของอย. อัตราโทษค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกสทช.มีอำนาจการเปรียบเทียบปรับถึง 5 ล้านบาท รวมถึงมีอำนาจพักใช้ใบอนุญาต ฉะนั้นสื่อค่อนข้างกลัว
ส่วนข้อจำกัดของอย.หลังมีการตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดให้เร็วที่สุดได้ เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ส่วนการสั่งระงับการผลิต หรือเรียกคืนสินค้า อย.พยายามทำขั้นตอนนี้ให้เร็ว รวมถึงการเพิกถอนทะเบียนตำรับ เลขสารบบ อาหาร และการพักใช้อนุญาต
“การโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง มีคำถามทำไมอย.ไม่ฟันธงคดีนี้ เราไม่ได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัว เวลาไปแจ้งความร้องทุกข์เรื่องของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงก็จะได้รับคำถามจากพนักงานสอบสวนว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีการโฆษณาเป็นเท็จอย่างไร อะไรคือโฆษณาเกินจริง”
กสทช.ลั่น 3 วันรู้เรื่อง
ด้านพลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการออกอากาศผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายนั้น ล่าสุดมีการปรับ 3 ช่องทีวีที่ปล่อยให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง หลอกลวงประชาชน เป็นช่องใหญ่ 1.1 ล้านบาท และช่องทีวีดาวเทียม อีก 2 ช่อง เป็นเงิน 7 แสนบาท และ 8 แสนบาท สำหรับค่าปรับ 1 ล้านเป็นขั้นต้น หากพบกระทำผิดอีกไปถึง 5 ล้านบาท
“สมัยก่อนการกำกับสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ การตรวจสอบเรื่องการโฆษณา ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7- 8 เดือน ส่งไปส่งมาระหว่างกสทช. วันนี้มาถึงผม 3 วันรู้เรื่อง เรามีการบูรณาการทำงานร่วมกัน กสทช.สามารถออกคำสั่งระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวได้ชั่วคราว จากนั้นก็เรียกมาให้ปากคำ และมีคำสั่งปรับ” พลโทดร.พีระพงษ์ กล่าว และว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ปัจจุบันไปโผล่ที่ทีวีดาวเทียมแทน และกสทช.กำลังไปไล่กวาดกับวิทยุชุมชน ซึ่งมีรายได้จากการโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทเหล่านี้
รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงรูปแบบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ปัจจุบันไม่ใช่มีอย่างที่เราเห็นอย่างเดียวแล้ว ยังพบลักษณะการหลอกลวง โดยใช้การอ้างอิงงานวิจัย หรือสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เช่น ข้าวยีสต์แดง หรือ Red Yeast Rice ลดโคเลสเตอรอล สปอร์เห็ดหลินจือ ถั่งเช่า มักจะอ้างอิงนักวิจัย
“ถั่งเช่า กิโลเกือบแสนบาท ราคาดีมาก มีสาร Cordycepin มีการอ้างอิงเอกสารงานวิจัยในห้องทดลองนั้นเพิ่งปี 2015 ทั้งที่งานวิจัยในคนยังไม่มี ซึ่งเวลาโฆษณาจะบอกว่าเป็นงานวิจัย จนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่า นี่คือสรรพคุณ มีงานวิจัยรองรับ”
อัยการแนะทำเป็นคดีพิเศษ
ขณะที่นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักอัยการสูงสุด กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการแอบอ้างนำผลวิจัยมาโฆษณานั้น ยืนยันว่า สามารถเอาผิดได้ เพราะเข้าองค์ประกอบการ “หลอกลวง” ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร โดยผู้บังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง ให้ครบองค์ประกอบ
“ดูเจตนาใครโฆษณา การนำเซเลบ หรือพรีเซนเตอร์มาโฆษณาผลิตภัณฑ์อย่างที่เป็นข่าวนั้น ผมเห็นว่า ผิด 1. เป็นผู้โฆษณา 2. โฆษณาหลอกลวง 3.หลอกลวงประชาชน โดยไม่มีอันสมควร การจับแบบนี้ต้องไม่ให้ตั้งตัว มิเช่นนั้นจะมีการแก้ตัวตามสคริป”
นายจิรวุสฐ์ กล่าวถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์หลอกลวงหรือผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐต้องไปดูที่ประมวลกฎหมายอาญาด้วย แม้เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.อาหารฯ แต่มีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไป จะมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา236 เรื่องการปลอมปน โทษหนักมาก
“เซเลบ ไม่ได้ปลอมปน แต่ผู้ผลิตโดนแน่นอน สำหรับดารานั้นเข้าข่ายสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิต ถ้าจะเอาจริงๆ กวาดเรียบ เพราะดาราได้ประโยชน์เป็นแสนเป็นล้านจากโฆษณาตัวนี้จนนำไปสู่ความตายของคน แต่คุณกลับลอยหน้าลอยตาได้เงินได้ผลประโยชน์ไป ใช้ได้ไหมสังคมนี้ เราต้องบังคับใช้กฎหมายให้ที่สุด เรารู้จับแต่พ.ร.บ.อาหารฯ ซึ่งมีขั้นตอน ท่านไปจับโทษเบา ปรับไม่เกิน 5 พันบาท การโฆษณาไม่ขออนุญาต ส่วนโทษสูง ถึงจำคุก ใช้บังคับหรือไม่ หากทำได้ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังผู้ประกอบการแบบนี้จะไม่กล้าทำอีก”
นอกจากนี้ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักอัยการสูงสุด ยังเสนอการใช้กฎหมายเฉพาะ (พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.เครื่องสำอาง) หากไม่เอื้ออำนวยให้ใช้กฎหมายทั่วไป เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 พ.ร.บ.พิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 จะรวดเร็วมาก รวมถึงหากจะแก้ไขปัญหากรณีแบบนี้แบบถอนรากถอนโคน ให้ทำเป็นคดีพิเศษ