ศาลยุติธรรม ผลักดันแก้ป.วิอาญา ม.161/1 ให้สิทธิศาลไม่รับฟ้อง ‘คดีปิดปาก’
ศูนย์ทนายความฯ เปิดสถิติฟ้องปิดปากมี 151 คดี เฉพาะปี 61 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 115 คน จาก 20 คดี ‘สมชาย หอมละออ’ เผยส่วนใหญ่เป็นนักข่าว ผู้นำชุมชน นักต่อสู้สิทธิ์ฯ ด้านสนง.ศาลยุติธรรม ผลักดันแก้ประมวลกม.วิธีพิจารณาความอาญา เพิ่ม มาตรา 161/1 โจทก์ฟ้องคดีไม่สุจริต บิดเบือน กลั่นแกล้งจำเลย ศาลมีสิทธิไม่รับฟ้อง
วันที่ 30 พ.ค. 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดโครงการเสวนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ ‘ฟ้องคดีปิดปาก’ เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยว่า การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทยมีมานานแล้ว และกลุ่มบุคคลที่ถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่เป็นนักข่าว นักการเมือง ผู้นำชุมชน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ในหลายประเทศจึงได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนไว้ ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งตื่นตัว โดยเฉพาะเมื่อผู้นำชุมชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องร้องหลายคดี
“หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ‘สิทธิมนุษยชน’ ถือว่าเสรีภาพ สิทธิในความคิด ความเชื่อ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญมาก ดังนั้น ตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ถึงขั้นเป็นสิทธิเสรีภาพสัมบูรณ์ ไม่สามารถถูกตัดทอน ลิดรอน หรือจำกัดได้ ไม่ว่าในกรณีหรือสถานการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ในภาวะสงคราม” อดีตกรรมการ คปก. กล่าว และว่า แต่ในสิทธิความเชื่อ และความคิดนี้ จะเป็น ‘หมัน’ หากไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าการพูดคุย หรือเชิงสัญลักษณ์ เช่น ชูสามนิ้ว ชูสองนิ้ว รวมถึงการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตาม ตามหลักจำกัดได้ภายใต้เงื่อนไขจำเป็น แต่ต้องจำกัดกฎหมายที่ออกโดยชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
นายสมชาย ยังกล่าวว่า ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้า การฟ้องร้องคดีปิดปาก ข้อหาหมิ่นประมาท จะมีความผิดทางแพ่ง ไม่ใช่อาญา เช่น บริษัทน้ำมัน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนักสิ่งแวดล้อมหลักร้อยล้านหรือพันล้าน ส่วนประเทศไทยหรือประเทศที่มีประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า เหมายกคดีกว้างกว่าหมิ่นประมาท เช่น กรณีนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ชูสามนิ้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ฟ้องปิดปากเช่นกัน นักวิชาการหลายคนจึงเรียกคดีประเภทนี้เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมมาปิดปากหรือรังควานผู้มีความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐ
“จะแก้ไขอย่างไรนั้น คิดว่าเป็นปัญหาที่ท้าทาย ทั้งในลักษณะที่หากไม่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย จะทำอย่างไร เช่น จะตีความกฎหมายอย่างไร ในทางที่จะไม่ให้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดปากคน แล้วจะวินิจฉัยอย่างไรว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีหรือแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีนั้น มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อปิดปากหรือเพื่อทดลองสิทธิอันชอบธรรมของคน ดังนั้น พนักงานสอบสวนก็ดี อัยการก็ดี อาจต้องคิดตำรา เช่น เป็นไปได้หรือไม่ พิจารณาตามพยานหลักฐานแล้วเป็นคดีปิดปาก สั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างบทว่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือศาลไม่ประทับรับฟ้อง แม้แต่คดีที่อัยการไม่ใช้อำนาจในการกลั่นกรองและฟ้องขึ้นมา ศาลจะไต่สวนได้หรือไม่ และในการไต่สวนต้องไต่สวนจริงๆ ถึงแม้ว่า กว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย สามารถหาพยานหลักฐานมาได้ แต่ศาลจะสามารถทำงานเชิงรุกค้นคว้าหาความจริงในคดี ว่าเป็นคดีที่เข้าข่ายปิดปากหรือไม่ โจทย์มาศาลด้วยมือที่สะอาดหรือไม่ ควรจะประทับรับฟ้องหรือไม่ และพิจารณาไปถึงขั้นมีมูลแค่ไหน” อดีตกรรมการ คปก. กล่าว
ด้านน.ส.ภัทรานิษฐ์ เยาดำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย ว่า จากการเก็บรวบรวมสถิติตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันที่ 4 พ.ค. 2561 มีทั้งสิ้น 151 คดี โดยเป็นลูกความที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือ 298 คน และหากคิดจนถึงปัจจุบันคาดว่าได้เพิ่มเป็น 360 คน เพราะหลังจากที่มีการจัดงานกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ส่งผลให้มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก 62 คน
เฉพาะปี 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 115 คน จาก 20 คดี ซึ่งสถิติคดีที่เพิ่มขึ้น คือ คดีเกี่ยวกับฐานยุยงปลุกปั่น 4 คดี การห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง 7 คดี และคดีอื่น ๆ ทั้งนี้ ลักษณะคดีที่ศูนย์ทนายความฯ เก็บข้อมูล มีความพิเศษตรงที่ประชาชนใช้สิทธิถูกจำกัดกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ออกมาใช้สิทธิได้ถูกดำเนินการ เจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างผู้ถูกดำเนินคดี กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มีจำนวน 62 คน พบว่า ในกลุ่มแรก ถูกดำเนินคดี 8-11 ข้อหา ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นปรากฏการณ์คดีแรก เพราะปกติผู้ถูกดำเนินคดีมักเป็นแกนนำหรือคนขึ้นกล่าวปราศรัยเท่านั้น
“SLAPP หรือการฟ้องคดีปิดปาก ไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนในความหมายที่แคบ แต่เป็นความหมายกว้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นกว้างมาก จนเราไม่อาจพูดว่าการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพียงหนึ่งถึงสองมาตราจะช่วยยุติปัญหาได้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กฎหมายไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ๆ และสุดท้าย ยิ่งสะสมจำนวนคดีและจำนวนคนถูกกล่าวหาไปเรื่อย ๆ จะทำให้กระบวนการทั้งหมดอ่อนแอลง” น.ส.ภัทรานิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ นายพรภัทร์ ตันติกุลานันท์ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเพิ่มมาตรา 161/1 เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากแล้ว โดยมีรายละเอียดว่า “ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพันกงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่” .
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 เดิมนั้น ระบุเพียงว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล