เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
คืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ แก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลัง ครม. เห็นชอบปลายปี 60 ‘อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ’ เผยคณะทำงานศึกษาข้อมูลเสร็จแล้ว เตรียมนำเข้าสู่วิป ถกประเด็นให้ตกผลึกอีกรอบ แล้วจึงเสนอ สนช.พิจารณา ยันไม่ส่งผลกระทบ ซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า แค่จัดระบบให้ดีขึ้น ผลักดันสำเร็จ เชื่อจะเป็นฐานข้อมูลติดตามเส้นทางได้
“ประเทศไทยมีปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าในปี 2560 กว่า 6 หมื่นตัน แบ่งเป็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 7,400 ตัน และนำเข้าจากต่างประเทศ 53,000 ตัน ขณะที่โรงงานรีไซเคิลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมี 132 โรงงาน”
นี่คือข้อมูลล่าสุดของจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่ได้รับการเปิดเผยจากนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อ่านประกอบ :กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี)
จะเห็นได้ว่า ปริมาณการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศในปีที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าครึ่ง ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนการจัดการในประเทศไทยเป็นรูปธรรม จึงควรผลักดันให้มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า “ประเทศไทยยัง 'ไม่มี' กฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ มีเพียงกฎหมายโรงงาน, สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข เท่านั้น แต่ไม่เคยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายที่รองรับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามารีไซเคิลอย่างที่ควรจะเป็น” (อ่านประกอบ :ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ)
สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยพีรนาฎ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก คณะวิทยาศาสตร์ ม.ทักษิณ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เนื่องจากกฎหมายจะผลักดันให้เกิดระบบจัดการที่ดี และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อ 19 ธ.ค. 2560 โดยก่อนที่จะนำเข้าสู่พิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องส่งเรื่องให้คณะทำงานศึกษาข้อมูลเพื่อทำข้อสรุป ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปให้ข้อมูล เพราะว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงจะส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ
“ขั้นตอนของทีมงาน สนช. สรุปประเด็นแล้ว เตรียมจะนำเข้าสู่ชุดวิป เพื่อคุยกันในประเด็นให้ตกผลึกจนเกิดความชัดเจนในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะนำเข้าสู่ สนช.เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งหมดนี้ถือเป็นขั้นตอนปกติของการนำเสนอกฎหมาย เพื่อเมื่อถูกอภิปรายซักถาม จะได้ตอบประเด็นนั้น ๆ ได้”
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ บัญญัติว่าผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าของตนเอง เมื่อกลายเป็นซากแล้ว ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบให้จัดระเบียบการจัดเก็บและนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดอย่างถูกวิธี แน่นอนว่า ย่อมสร้างความกังวลกับคนบางกลุ่ม เพราะผู้ผลิตต้องตั้งจุดรับเก็บรวบรวมซาก ‘ไม่จำกัดยี่ห้อ’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค
“นึกถึงผู้บริโภค เมื่อไปถึงแล้ว ใช้ยี่ห้อหนึ่ง เจอจุดบริษัท บอกว่าไม่รับ จะสร้างความไม่สะดวกแก่ผู้บริโภค จึงมองว่า ผู้ผลิตจะรับเก็บซาก ต้องไม่แยกยี่ห้อ ประเด็นนี้ ผู้ผลิตกังวล เพราะอยากรับเฉพาะยี่ห้อที่ตนเองผลิต” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว และว่า เรามองในแง่ความสะดวกผู้บริโภค เนื่องจากซากไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน เมื่อกลับมาแล้ว ถ้ามีเยอะ ๆ ส่งไปกำจัดหรือรีไซเคิล ไม่น่ายากในการจะแยก เพราะยี่ห้อไหนก็แยกคล้าย ๆ กัน ยิ่งหากผู้ผลิตสามารถคุยและรวมกลุ่มกันทำเหมือนในต่างประเทศได้ จะเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อร้านรับซื้อของเก่า และซาเล้งเก็บของเก่า ซึ่งประเด็นนี้ นางสุณี ยืนยันว่า จะประกอบอาชีพได้เช่นเดิม เพียงแต่กฎหมายฉบับนี้จะช่วยจัดระบบให้ดีขึ้นเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีการจัดการไม่ถูกวิธี ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม วิธีการคือต้องประสานกับผู้ผลิตในลักษณะของเครือข่าย
“ซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าต้องเป็นเครือข่ายกับผู้ผลิต โดยคุณจะรับซื้ออย่างเดียว แต่ต้องจดทะเบียนขออนุญาตให้ถูกต้องแต่ละส่วน และหากจะถอดแยกหรือจะรีไซเคิลด้วย จะต้องขอใบอนุญาตอีกใบหนึ่ง”
พร้อมกับเน้นย้ำว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ถือเป็นความพยายามจัดระเบียบ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อสุดท้ายจะสามารถเก็บข้อมูลและติดตามเส้นทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ระยะแรกการบังคับใช้กฎหมายอาจจะขรุขระไปบ้างก็ตาม
นี่คือความคืบหน้าล่าสุดของ ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เชื่อว่าจะช่วยอุดช่องโหว่ปัญหาการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ .
อ่านประกอบ:เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ