ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ ชงรัฐอุดช่องโหว่ ค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ เร่งผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ แก้ปัญหาบุคลากรจำกัด บังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร ให้เข้มงวด
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงปัญหาการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติจากประเทศพัฒนาขนย้ายมาทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ระยะหลังกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน
โดยหากศึกษาช่องโหว่ของปัญหา จะพบว่า อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย ( Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) ไม่มีกติกาห้ามขนย้าย นำเข้า ส่งออก ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวที่หมดอายุยังนำกลับมาใช้งานหรือแยกชิ้นส่วนได้ เพราะฉะนั้นในหลายประเทศในเอเชียจึงไม่มีข้อห้ามเรื่องนี้
“เวลาพูดถึงนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว จะตกอยู่ภายใต้คำว่า ‘ขยะพลาสติก’ ซึ่งเอามาในนามของ ‘ รีไซเคิล’ ภายใต้อนุสัญญาบาเซล และนิยามของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชัดเจน”
ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ กล่าวต่อว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจระดับโลก เพราะมีวัสดุที่มีค่า เช่น ทองและแร่หายาก จึงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมรีไซเคิล จะดึงแยกส่วนเหล่านี้ออกมา ทั้งนี้ เมื่อทำให้ถูกกฎหมาย จะมีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นที่หมายปองของแก๊งอุตสาหกรรมข้ามชาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และเป็นพวกเดียวกับที่ค้างาช้าง ค้ามนุษย์ และมีส่วนเกี่ยวกับการนำขยะเหล่านี้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เหตุนี้จึงทำให้การติดตาม ตรวจสอบ ดูแลการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งลำบากมาก เพราะได้อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในประเทศที่มีอยู่ อย่างเช่น กรณีที่เกิดขึ้นใน จ.ฉะเชิงเทรา
ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกของกรมศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรรอบคอบพอสมควรแล้ว เขาบอกว่า ก็ยังมีการเล็ดลอดนำเข้ามาได้ ตราบเท่าที่ยังนำเข้ามาในนามของ ‘รีไซเคิล’ และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อนำเข้ามาแล้ว จะกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง มีการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เพียงเล็กน้อย ที่เหลือปล่อยทิ้งเป็นขยะ
เมื่อถามแสดงว่า กฎหมาย กฎระเบียบ ในประเทศไทย เกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์รัดกุมแล้ว นายธารา ระบุว่า จำเป็นต้องทำใหม่ให้ละเอียดมากขึ้น เช่น การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในกฎหมาย มีรายการที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ 63 รายการ ที่ห้ามนำเข้า แต่ข้อเท็จจริง พบว่า บางครั้งมีคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว สภาพดีมาก ถูกนำเข้ามาในนาม รีไซเคิล แต่เมื่อถึงประเทศไทย การรีไซเคิล เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไม่มีกฎหมายไปดูแลอย่างเต็มรูปแบบ
“ไทย 'ไม่มี' กฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงกฎหมายโรงงาน, สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข เท่านั้น แต่ไม่เคยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายที่รองรับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามารีไซเคิลอย่างที่ควรจะเป็น”
ทั้งนี้ ถ้าเราบังคับใช้พ.ร.บ.วัตถุอันตรายให้ดี หรือมีมาตรการที่เข้มงวดภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร ให้ดี ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ นั่นแสดงว่า คนหรือหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ย้ำว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่เป็นเรื่องทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่จำกัด ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะมีการจ่ายสินบนใต้โต๊ะเพื่อเปิดทางให้มีการนำเข้ามาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. .... ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และส่งให้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
โดยสาระสําคัญของร่าง พ.ร.บ. มีดังนี้ 1.กําหนดให้ใช้บังคับกับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในราชการทหาร
2.กําหนดห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งซากผลิตภัณฑ์ในที่สาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอย
3.กําหนดห้ามมิให้ผู้ใดรับคืน จัดเก็บ หรือรวบรวมซากผลิตภัณฑ์เว้นแต่จัดทําโดยศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ ที่ได้จัดตั้งและขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนด ซึ่งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์อาจจัดตั้ง โดยผู้ผลิต ผู้ผลิตร่วมกับผู้ผลิตรายการอื่น หรือให้ผู้จัดจําหน่ายหรือผู้ใดดําเนินการแทน หรือทําความตกลงกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดําเนินการแทน ทั้งนี้ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ผลิต หรือบุคคลอื่นตามที่อธิบดีประกาศ กําหนด
4.กําหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่รับคืน จัดเก็บ และรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันไม่ว่าจะเป็นของผู้ผลิต รายใด รวมถึงซากของผลิตภัณฑ์ที่มีการนําเข้าจากต่างประเทศ หรือที่ไม่มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าใด ๆ หรือที่ ผู้ผลิตเลิกดําเนินกิจการแล้วด้วย และผู้ผลิตต้องจัดทําแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เสนอต่อกรม ควบคุมมลพิษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนด
5.กําหนดให้กรมควบคุมมลพิษ จัดทําและเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และจัดให้มีศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ความรู้และข้อมูลซากผลิตภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการซาก ผลิตภัณฑ์และสถานที่ตั้งของศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์
6.กําหนดให้เจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าไปในศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์หรือเข้าไปในยานพาหนะใดๆ ที่ใช้ขนส่ง ซากผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และมีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือเรียก ผู้ผลิต ผู้จัดตั้งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมา เพื่อประกอบการพิจารณา
7.กําหนดโทษทางอาญาสําหรับความผิดต่างๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ
ภาพประกอบ:http://www.sanamkhao.com