ความสำเร็จ ‘เอกชน’ ผนึกกำลัง ต้านทุจริต กับ CAC
“CAC รับรองว่า บริษัทมีระบบควบคุมป้องกัน “ปัญหาการทุจริต” ไม่ใช่รับรองว่า “คนในองค์กรจะไม่ทุจริต” เพราะเราไม่สามารถรับรองได้ว่า บริษัทจะไม่ทุจริต เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคล เมื่อใดก็ตามที่สบโอกาสล้วนแต่มีความเป็นไปได้ที่จะกระทำ แต่เมื่อใดก็ตามที่บริษัทมีระบบกลไกป้องกัน เชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง”
การทุจริตเป็นปัญหาเชิงระบบที่ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้จากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องจับมือช่วยกันแก้ไขปัญหา จึงจะประสบความสำเร็จ
โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption:CAC) จึงเกิดขึ้น ขับเคลื่อนโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors:IOD) ร่วมกับภาคเอกชนอื่น ๆ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 7 ปี และสามารถขยายเครือข่ายบริษัทออกไปเป็นจำนวนมาก
“ที่ผ่านมาโครงการ CAC ขยายเครือข่ายของบริษัทธุรกิจที่มีเจตนาทำธุรกิจสะอาด โดยไม่จ่ายสินบนได้เกือบ 1,000 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่รวมตัวของกลุ่มธุรกิจเฉพาะ เช่น ธุรกิจเดินเรือ ธุรกิจก่อสร้าง แต่ที่รวบรวมจากหลากหลายบริษัทมีน้อยมาก บางทีอาจมีเพียงหลักสิบ”
พิษณุ พรหมจรรยา ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ IOD ระบุนำในเวทีสัมมนา “ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” จัดขึ้นโดย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพฯ
นั่นจึงกลายเป็นความโดดเด่นของไทยในเวทีโลก ซึ่งเขาบอกว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไทยได้รับเชิญไปบรรยายในหลายเวทีทั้งสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศได้ติดต่อเข้ามาให้ช่วยแนะนำ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ภูฏาน จอร์เจีย ตุรกี ซึ่งได้พยายามจัดสรรเวลาที่มีอยู่จำกัดไปช่วยประเทศเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ยังมี Stanford University ให้ความสนใจกับโครงการฯ โดยได้เข้ามาขอสัมภาษณ์ เพื่อนำแนวคิดกลับไปถอดบทเรียนให้นักศึกษาได้เรียนรู้
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูบทบาทของภาคเอกชนในเรื่องกระบวนการสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากปัญหาทุจริต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มพลังการแก้ปัญหาให้เกิดเป็นผลมากขึ้นนั้น (Collective Action) ความสำเร็จจะขับเคลื่อนโดยบริษัทเดียวไม่ได้
แต่ทุกบริษัทต้องออกมาประกาศตัวพร้อมกันว่า “จะไม่จ่ายสินบน” โดยมีนโยบายและกลไกเหมือนกันทั้งหมด ฝ่ายรับจะไม่สามารถ “เรียกรับ” ได้
พิษณุ กล่าวว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนนี้ได้ช่วยลดการจ่ายสินบน แล้วยังทำให้มีพลังให้ภาครัฐปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการและขับเคลื่อนระบบ ระเบียบ กฎหมาย มาตรฐาน และปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ให้การประกอบธุรกิจมีโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหา Collective Action ที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศเจตนารมณ์ในหลายประเทศ พบว่า มักไม่ปฏิบัติจริงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น โครงการ CAC จึงพยายามออกแบบระบบการรับรองว่าบริษัทได้มีนโยบายที่กำหนดเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันไปใช้อย่างจริงจังและเกิดผล แต่การทำอย่างนั้นต้องกลับมาดูเครื่องมือว่ามีอะไรที่ใช้ได้ จึงตัดสินใจศึกษาตัวอย่างจากอังกฤษ
“อังกฤษมีการทำเช็คลิสต์ 241 ข้อ ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบาย วางกลไก ประเมินความเสี่ยง และอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งเราประเมินแล้วพบว่า หากนำมาใช้ทั้งหมด คิดว่า ยากมาก เพราะบริษัทยังไม่มีมาตรฐานที่สูงถึงขนาดนั้น อีกทั้งหลายเรื่องไม่สอดคล้องกับบริบทการทำธุรกิจในประเทศไทย จึงคัดกรองเหลือเพียง 71 ข้อ”
เขากล่าวต่อว่า เมื่อผ่านการพิจารณา CAC จะให้การรับรอง โดยมีอายุ 3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว ดังนั้นทุก ๆ 3 ปี บริษัทต้องกลับมายื่นขอการรับรองใหม่ โดยการทำเช็คลิสต์แบบเดิม เพื่อตรวจสอบ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน CAC มีบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วม 900 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทจดทะเบียน 430 บริษัท และบริษัทจำกัด 470 บริษัท ขณะที่บริษัทที่ได้รับการรับรอง 314 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทจดทะเบียน 197 บริษัท และบริษัทจำกัด 117 บริษัท .
“CAC รับรองว่า บริษัทมีระบบควบคุมป้องกัน “ปัญหาการทุจริต” ไม่ใช่รับรองว่า “คนในองค์กรจะไม่ทุจริต” เพราะเราไม่สามารถรับรองได้ว่า บริษัทจะไม่ทุจริต เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคล เมื่อใดก็ตามที่สบโอกาสล้วนแต่มีความเป็นไปได้ที่จะกระทำ แต่เมื่อใดก็ตามที่บริษัทมีระบบกลไกป้องกัน เชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง” ที่ปรึกษาฯ IOD กล่าวในที่สุด .