ป.ป.ช.เผยคดีสินบน 53% ผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวข้อง หวังได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง
เลขาธิการ ก.ล.ต.โชว์แนวปฏิบัติภาคธุรกิจ ขจัดคอร์รัปชัน -50 กองทุน ผนึกกำลัง มูลค่ารวม 9 ล้านล้าน ทำหน้าที่ติดตาม บ.ร่วมลงทุน กำกับกิจการที่ดี สร้างความตระหนักรู้ 'ทุจริต' บั่นทอนประเทศ ด้านผู้แทน ป.ป.ช.เผยคดีสินบน 57% เอกชนยอมจ่ายเพื่อให้ได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มโทษปรับทางการเงินเหมือน ตปท.
นิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ ป.ป.ช.
วันที่ 25 พ.ค. 2561 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชน ในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพฯ
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในธุรกิจเอกชนว่า ปัจจุบันภาครัฐมีความพยายามทำให้ภาคเอกชนเกิดกระบวนการลุกขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับการสร้างระบบควบคุมภายในที่ดีและการมองธุรกิจในระยะยาว โดยเป็นส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ได้รับการผลักดันออกมา แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การทำให้ภาคเอกชนตระหนักว่า คอร์รัปชันเป็นตัวบั่นทอนบริษัทและประเทศ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางให้ผู้ถือหุ้นนำไปใช้ ก่อนเลือกลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนรวมทั้งหมดในระบบ 50 กองทุน มูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านบาท โดยมีบทบาทในการติดตามบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนว่า มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เปิดเผยข้อมูลครบถ้วน และมีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่ เช่น สอบถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นถึงนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันขององค์กร
นอกจากนี้ยังมีโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption:CAC) ประมาณ 200 บริษัท ประกาศตนเองว่าจะเป็นบริษัทปลอดคอร์รัปชัน โดยผ่านกระบวนการรับรองจาก CAC รวมถึงมีกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ที่จะลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดี (CG) จึงเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในระบบได้
ด้านนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. กล่าวว่า กว่าที่ภาคเอกชนจะได้งานโครงการสำคัญ ต้องมีการให้สินบน ซึ่งทั่วโลกประสบปัญหาเหมือนไทย โดยสถิติคดีสินบนข้ามชาติหรือสินบนขนาดใหญ่ พบว่า ร้อยละ 53 ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ใน 4 ของคดีทุจริตระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับการใช้ตัวแทนล๊อบบี้เพื่อให้ได้โครงการ และร้อยละ 57 เกี่ยวข้องกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ส่วนจุดประสงค์ของการให้สินบน มากที่สุดร้อยละ 57 เพื่อให้ได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นการแข่งขันไม่เป็นธรรมมักจะเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ขณะที่การลงโทษทางการเงินในอดีตของไทยยังไม่มีโทษที่หนัก ส่วนใหญ่เป็นโทษปรับเล็กน้อย และมองเป็นคดีอาญา แตกต่างจากต่างประเทศมองเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพราะการคอร์รัปชันสะท้อนถึงการหวังผลทางตัวเงิน
“การลงโทษทางการเงินในอดีตของไทยไม่ได้มองไปถึงผู้ให้ โดยหากผู้ให้ถูกดำเนินคดี โทษคือจำคุก ทั้งนี้ สิ่งที่นิติบุคคลไม่อยากถูกดำเนินคดี คือ โทษปรับทางการเงิน ทำให้นานาชาติมีพัฒนาการทางกฎหมาย ขณะที่ไทยพยายามนำมาปรับใช้ ทำอย่างไรเมื่อพบการให้สินบน โทษปรับทางการเงินจะทำให้บริษัทตระหนักและกระทบกระเทือน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นคงเกิดความตื่นตัวได้” ผอ.สำนักการต่างประเทศ กล่าว