เครือข่าย บ.พันปีฯ อ้างได้เงินกู้ยูเอ็นโผล่สตูล! ก.เกษตรฯ ขอ กอ.รมน.สอบด่วน-หวั่นหลอกลวง
เครือข่ายบ.พันปีฯ โผล่สตูล อ้างได้เงินกู้ยูเอ็น ช่วยปล่อยกู้เกษตรกรทำสัญญาคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งรับซื้อผลผลิต เรียกเก็บค่าสมาชิกหัวละ 200 บาท ก.เกษตรฯ เต้นสั่งหน่วยงานในสังกัดจับตาเฝ้าระวังเข้มงวด หวั่นปัญหาหลอกลวง เร่งประสานขอความร่วมมือ กอ.รมน. จังหวัด เข้าตรวจสอบพื้นที่ ขู่หากพบทำความเดือนร้อนเสียหายจะแจ้งดำเนินการตามกฎหมายผู้เกี่ยวข้อง
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด เพื่อขอให้จัดส่งสำเนาเอกสารการชี้ชวนร่างสัญญาในโครงการพัฒนาการเกษตรแบบมีพันธสัญญา ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามความในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธ์สัญญา พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องหลักเกณฑ์และะวิธีการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา หลังจากปรากฎข้อมูลในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ที่ผ่านมา ว่า บริษัทฯ ได้ทำการชี้ชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวนมาก โดยอ้างว่าได้รับเงินกู้จากงค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และธนาคารโลก มาช่วยเหลือเกษตรกร โดยในหนังสือระบุชัดเจนว่า หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ จะมีความผิดตามมาตรา 38 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธ์สัญญา พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท (อ่านประกอบ : เผยหนังสือก.เกษตรฯ ไล่บี้พันปีกรุ๊ปฯ ส่งหลักฐานคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง อ้างได้เงินทุนยูเอ็น-ธ.โลก)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีนี้กับสำนักข่าวอิศรา ว่า จนถึงเวลานี้บริษัทฯ ยังไม่ได้นำส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมาให้กระทรวงเกษตรฯ รับทราบแต่อย่างใด ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ คงจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่พบว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายจังหวัด ไปสมัครเข้าร่วมโครงการกับบริษัทในเครือข่ายของ บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ที่จดทะเบียบตั้งขึ้นในจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก โดยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ล้วนมีลักษณะเดียวกัน คือ บริษัทจะส่งทีมงานเข้าไปชักชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิก โดยอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจาก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และธนาคารโลก เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบโครงการต่างๆ จะมีการโอนเงินเข้าบัญชีให้เพื่อไปดำเนินการผลิตแล้วจะมีการรับซื้อผลผลิตกลับคืนมา รวมถึงให้เงินทุกกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนเกษตรกรที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยใช้หลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร เสียค่าสมาชิกคนละ 200 บาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีเกษตรกรรายใดได้รับเงินกู้ดังกล่าว และยังไม่มีการให้เกษตรกรหรือประชาชนทำสัญญาเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าให้กับบริษัทแต่อย่างใด
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นอกเหนือจากพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานที่กำลังเกิดปัญหานี้แล้ว ในส่วนพื้นที่ภาคใต้ คือ จังหวัดสตูล ก็มีปัญหาเกิดขึ้นด้วย ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างประสานงานกับทางจังหวัดสตูล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกแห่ง เร่งทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกร และประชาชนให้ระมัดระวังการสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า เอกชนรายนี้ได้รับเงินทุนกู้ยืมจาก องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และการดำเนินการในลักษณะนี้เป็นการเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งประสานงานไปยัง กอ.รมน.จังหวัด ให้ช่วยเข้าตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย หากตรวจสอบพบว่ามีการสร้างความเดือนร้อนและความเสียหาย จะมีการแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับรายชื่อจังหวัดที่กระทรวงเกษตรฯ ได้รับรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเรื่องเงินกู้ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และธนาคารโลก ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ในขณะนี้ ได้แก่ เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และนครราชสีมา ส่วนสตูล นับเป็นจังหวัดล่าสุดที่มีการตรวจสอบพบปัญหาเรื่องนี้