เหยื่อรถยนต์ฟอร์ด 308 ชีวิต เฮ!! ศาลสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ชี้เป็นรายแรกในประเทศไทย
เหยื่อรถยนต์ฟอร์ด 308 ชีวิต เฮ!! ศาลสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ชี้เป็นรายแรกในประเทศไทย หลังยืดเยื้อฟ้องบริษัทฟอร์ดผลิตรถยนต์ไร้มาตรฐานนานนับปี
วันที่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 09.00น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด นำกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 308 คน เข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาล หลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ฐานผลิตรถยนต์ชำรุดบกพร่องออกจำหน่าย โดยศาลสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม จากนี้จะมีการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย และศาลนัดคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 28 ก.ย. 61นี้
นายจิณณะ เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้า โฟกัส และอีโค่สปอร์ต จำนวน 308 ราย รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กรณีบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรถยนต์ชำรุดบกพร่องออกจำหน่าย โดยยื่นฟ้องไปตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี วันที่ 22 พฤษภาคม ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำวินิจฉัย และได้มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว นับเป็นการรับฟ้องคดีแบบกลุ่มผู้บริโภคคดีแรก ๆ ของประเทศไทยที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภค
“วันนี้ศาลมีคำสั่งรับเป็นคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม อาจด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งความเสียหายที่เกิดกับผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ฟอร์ดจำนวนมาก ขณะเดียวกันศาลในหลายประเทศก็มีการตัดสินให้บริษัทฟอร์ดชดใช้เยียวยาผู้เสียหายแล้ว โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย ศาลเพิ่งมีคำสั่งปรับบริษัทฟอร์ดเป็นเงินเกือบ 300 ล้านบาท โทษฐานที่ประกอบธุรกิจโดยขาดจิตสำนึก ส่วนการดำเนินการในขั้นต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ส.ค. และสืบพยานจำเลยวันที่ 30-31 พ.ค. จากนั้นในวันที่ 28 ก.ย. 61 ศาลนัดคำพิพากษาคดี” นายจิณณะ กล่าว
นายจิณณะ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ทำงานแบบฉาบฉวย รวมทั้งมูลนิธิหรือสมาคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ควรทำงานแบบบูรณาการในเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย และคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งไม่รักษาสิทธิของตัวเอง เป็นพวก “ไทยเฉย” เราจึงขาดหลักเกณฑ์ที่จะควบคุมให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึก ผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
“นอกจากนี้ ควรมีการปฏิรูปสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ แต่ไม่เอามาปฏิบัติ ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคไม่เกิดความเกรงกลัวหรือยั้งคิดในผลเสียที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 และปี 60 ระบุชัดเจนว่า ให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานที่ดีทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน องค์กรอิสระนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ด้านนางสาวฌนิฏา สุขขวัญ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากรถยนต์ฟอร์ดในนาม "กลุ่มเหยื่อรถยนต์ กล่าวถึงการต่อสู้ของผู้บริโภคที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า แม้เราจะมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐอย่าง สคบ. แต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง จนเป็นคำถามที่คาใจสมาชิกในกลุ่มมาตลอดว่า สคบ. คุ้มครองใคร ทำให้เราเลิกหวังกับหน่วยงานของรัฐ และหันมาต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยตัวพวกเราเอง จนมาถึงวันนี้
“ที่ผ่านมา มีสมาชิกกลุ่มกว่า 100 รายที่ต้องยุติการร่วมฟ้อง เพราะรู้สึกเหนื่อย ท้อ ต้องส่งทั้งค่างวดรถ และจ่ายค่าซ่อมรถ บางส่วนรับหภาระไม่ไหว มองไม่เห็นหนทาง จึงต้องขายรถทิ้ง ในการต่อสู้ครั้งนี้ เราไม่ได้สู้เพื่อเหยื่อรถยนต์ฟอร์ดเท่านั้น แต่เรามองถึงการสร้างมาตรฐานให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศ ที่ควรจะต่อสู้กับผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบ อย่ากลัวที่จะออกมาเรียกร้อง การที่เราไม่ต่อสู้เลย เท่ากับปล่อยให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส และหลังจากนี้ ทางกลุ่มเตรียมยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันการตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้เกิดขึ้นจริง หลังระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาร่วม 20 ปี แต่ภาครัฐยังไม่มีการขยับดำเนินการให้เกิดเป็นจริง” นางสาวฌนิฏา กล่าว
ด้าน นายเอกชัย แก้วทรัพย์ หนึ่งในโจทก์ร่วมฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและปลาบปลื้มที่ศาลสั่งรับคดีนี้เป็นคดีกลุ่ม เพราะต้องทนทุกข์กับการใช้รถที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานมานานกว่า 6 ปี และผู้เสียหายจากรถยนต์ฟอร์ดมีจำนวนมาก และชัดเจนว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอุปกรณ์รถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบเกียร์เสีย ชุดคลัชต์เสีย ล็อคประตูเสีย ประตูปิดไม่ได้ เบรคแข็งหรือเบรคไม่อยู่ ความร้อนสูง ยืนยันได้จากเอกสารการซ่อมของผู้เสียหายทุกราย ผู้บริโภคจึงได้รวมตัวกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ทั้ง สคบ. กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานอื่น ๆ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค หรือทำงานล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการเยียวยาจนกระทั่งทุกวันนี้
“ผมซื้อรถยนต์มาราคา 7 แสน ต้องทนอยู่กับสภาพรถเกียร์เสียมานาน 6 ปี จะให้ยอมรับการเยียวยาด้วยการซ่อม แต่ปัญหาเรื้อรัง แก้ไม่จบ และการเข้าศูนย์ซ่อมแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน 7 วันถึงหนึ่งเดือน การเยียวยาจึงเหมือนเป็นการซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคถอดใจกันไปเอง จนพวกเราทนไม่ไหว จึงต้องมารวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลให้คุ้มครองสิทธิของพวกเรา เพราะพวกผมต้องการเห็นประเทศไทยมีการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นายเอกชัย กล่าว